ว่างงานพุ่ง 8.7 แสนคน สูงสุดในรอบวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

คนไทยว่างงาน
FILE PHOTO : Vivek Prakash / AFP

สภาพัฒน์ เผยไตรมาส 3 ของปี 2564 โควิดทำคนไทยว่างงานพุ่ง 8.7 แสนคน สูงสุดในรอบวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ชี้ผู้ว่างงานสูงสุด 3.63% เป็นผู้มีการศึกษาระดับอุดมศึกษา รองลงมาคือ ปวส. 3.16% ส่วนใหญ่จบบริหาร-การตลาด คาดแนวโน้มไตรมาส 4 ดีขึ้น พร้อมเกาะติด 5 ปัจจัยเสี่ยง

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การว่างงานในไตรมาส 3 ของปี 2564 เพิ่มขึ้นสูงสุดตั้งแต่มีการระบาดของโควิด โดยมีผู้ว่างงาน 8.7 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 2.25%

ทั้งนี้ ยังสูงสุดในรอบหลังจากที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ แต่ยังถือว่าน้อยกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 ซึ่งอัตราว่างงานอยู่ที่ 5% โดยพบว่าผู้ที่มีการว่างงานสูงสุด 3.63% เป็นผู้ที่มีศึกษาระดับอุดมศึกษา รองลงมาเป็น ปวส. 3.16%

ภาวะสังคมไตรมาส 3/2564

ทั้งนี้ ผู้ว่างงานส่วนใหญ่จบในสาขาทั่วไป (บริหารธุรกิจ การตลาด) จึงมีแนวโน้มประสบปัญหาการว่างงานยาวนานขึ้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้อย่างจำกัดและคนกลุ่มนี้ที่มีทักษะไม่ต่างกันจึงหางานได้ยากขึ้น ขณะที่แรงงานที่มีอายุ 15-19 ปี มีอัตราการว่างงานสูงสุด 9.74% รองลงมาเป็นอายุ 20-24 ปี ที่ 8.35% สะท้อนว่า โควิดที่ส่งผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการที่เคยชะลอการเลิกจ้างบางส่วนไม่สามารถรับภาระต่อได้และจำเป็นต้องเลิกจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น

ส่วนเด็กจบใหม่ยังไม่มีตำแหน่งรองรับ เนื่องจากผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบและรอดูสถานการณ์ จึงชะลอการขยายตำแหน่งงาน การว่างงานของแรงงานในระบบ มีสัดส่วนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานต่อผู้ประกันตนอยู่ที่ 2.47% ลดลงจากช่วงไตรมาสก่อนหน้าและปีก่อน เนื่องจากช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและผู้ประกันตนในพื้นที่ควบคุมสูงสุด

ประกอบกับสถานประกอบการมีการหยุดกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัยแทนการเลิกจ้าง ซึ่งมีจำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย 2.1 แสนคน ในเดือนกันยายน 2564 เพิ่มขึ้นจาก 0.9 แสนคน ณ สิ้นไตรมาสก่อน

“ตัวเลขการว่างงาน 2.25% เกิดจากไตรมาส 3 มีการควบคุมการแพร่ระบาดเข้มงวดจากสถานการณ์วิด ธุรกิจไม่มีการเปิดตัว จึงส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี แนวโมในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ การว่างงานน่าจะลดลง เนื่องจากมีการเปิดประเทศแล้วกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาเดินหน้าต่อไป หากไม่มีปัญหาการระบาดโควิดอีกรอบ หรือมีการระบาดที่มีวงจำกัด และมีการจัดการได้รวดเร็ว”

อัตราการว่างงาน

ทั้งนี้ ยังมีประเด็นที่จะต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่ 1. การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยว และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 2. ผลกระทบของอุทกภัยต่อแรงงานภาคเกษตรและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร

3. ภาระค่าครองชีพที่อาจปรับเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 4. การจัดการปัญหาการสูญเสียทักษะจากการว่างงานเป็นเวลานานและการยกระดับทักษะให้กับแรงงาน และ5. การส่งเสริมให้แรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระที่ลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ของสำนักงานประกันสังคม เพื่อรับการช่วยเหลือเยียวยาให้เป็นผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง