เงินเฟ้อพุ่ง! กูรูชี้ปีหน้า “ถือเงินสด” เท่ากับ “เสียโอกาส”

เงินสด-ธนบัตร

กูรูชี้ปีหน้า “ถือเงินสด” เท่ากับ “เสียโอกาส” นักเศรษฐศาสตร์ “ซีไอเอ็มบี ไทย” ชี้เงินเฟ้อเร่งตัวกระทบเงินในกระเป๋า แนะลงทุนกองทุนรวม-หุ้น กระจายความเสี่ยงไปต่างประเทศ “จีน-ญี่ปุ่น-เวียดนาม” ฟื้นตัวน่าสนใจ พร้อมประเมินราคาอสังหาฯปรับขึ้น-ทองคำไปต่อได้

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ในปีหน้า (2565) การถือครองเงินสดไว้มาก ๆ จะเป็นการเสียโอกาส เพราะปีหน้าไม่เหมือนช่วงวิกฤตที่เงินเฟ้อติดลบ ราคาทรัพย์สินลดลงทำให้คนถือเงินสดกันมาก เพื่อรอซื้อของถูก

แต่ปีหน้าแม้ว่าไทยอาจจะไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ย แต่เงินเฟ้อเร่งแรงขึ้น หลายประเทศเริ่มขึ้นดอกเบี้ยกันแล้ว ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) เริ่มขยับขึ้น และต้นทุนหลาย ๆ ส่วนเริ่มมา

“คนที่ถือเงินสดจะพลาดโอกาส ดังนั้นอาจจะเลือกลงทุนในกองทุนรวม หุ้น โดยกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปหลายประเทศได้ ซึ่งที่เราดูวันนี้มี 3 ประเทศ ที่เงินเฟ้อยังไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจมีปัญหา ไม่ได้เร่งแรง คือ จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม”

สำหรับจีนมองว่า จะสามารถควบคุมเงินเฟ้อ ควบคุมค่าครองชีพได้ โดยธนาคารกลางจีนมีการดูแลส่วนนี้อย่างจริงจัง ดังนั้น มองว่าเศรษฐกิจจีนยังโตได้ขณะที่ญี่ปุ่นที่เจอภาวะเงินฝืดมานาน เงินเฟ้อที่เร่งขึ้น จะช่วยกระตุ้นให้คนจับจ่าย

ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นก็ไม่ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ย และช่วงนี้กำลังเตรียมมาตรการทางการคลัง หลังได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ส่วนเวียดนามก็ยังน่าสนใจ โดยหลังโควิด-19 ไปแล้วเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จะไหลเข้า และเศรษฐกิจเวียดนามพร้อมที่จะเติบโตได้อีกมาก

ดร.อมรเทพกล่าวอีกว่า จากทิศทางแนวโน้มเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นในปีหน้า สินทรัพย์หลายประเภทจะน่าลงทุนขึ้นด้วย อย่างอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าราคาจะปรับตัวขึ้นไปตามต้นทุนที่พุ่งขึ้น ทั้งราคาเหล็ก ค่าก่อสร้างต่าง ๆ รวมถึงค่าแรงที่มีโอกาสขยับขึ้นด้วย

“ผมว่าธุรกิจนี้จะเริ่มกลับมาน่าสนใจมากขึ้น มองไปข้างหน้า ถ้ามีสัญญาณเชิงบวก เงินเฟ้อมา จะเป็นโอกาสทองของอสังหาฯ เพียงแต่ว่าไม่ได้ทุกส่วน ผมมองว่าแนวราบยังไปได้ ระดับ 5 ล้านบาทขึ้นยังไปได้ ส่วนคอนโดมิเนียม ถ้าราคา 3 ล้านบาทขึ้นไปและอยู่กลางใจเมือง กลุ่มพวกนี้ยังมีดีมานด์ ส่วนดีมานด์จากต่างชาติอาจต้องรอช่วงครึ่งปีหลัง”

อีกสินทรัพย์ที่น่าสนใจก็คือ ทองคำ ที่ราคายังไปต่อได้ โดยหากวันนี้ไม่มีเรื่องคริปโทเคอร์เรนซี แล้วมีการทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ไม่หยุด ราคาทองคำคงพุ่งไป 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์แล้ว ซึ่งการที่คนแห่เข้าไปลงทุนคริปโทฯกันมาก สะท้อนว่า คนไม่เชื่อมั่นในเงินสด ไม่เชื่อมั่นในเงินดอลลาร์ จึงหันไปถือครองสินทรัพย์อื่น

“ถ้าเป็นเมื่อก่อน คนก็จะเข้าไปลงทุนทองคำกันมาก ตอนนี้เป็นคริปโทฯ แต่ผมยังอยากแนะนำว่าถือทองคำดีกว่า รอบนี้ราคายังไม่ได้ขึ้นแรงเหมือนรอบที่แล้วที่ขึ้นไป 1,900 ดอลลาร์ แต่รอบนี้ยังอยู่แถว 1,800 ดอลลาร์ ซึ่งในปีหน้าก็ยังมีความน่าสนใจที่สามารถเข้าไปลงทุนได้อยู่” ดร.อมรเทพกล่าว

ด้านนายนาวิน อินทรสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ปีหน้ามีมุมมองต่อการถือเงินสด (cash) เป็นเชิงลบ (negative) เนื่องมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในปีหน้าที่คาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งทำให้การถือเงินสดไว้ในมือมีความน่าสนใจลดน้อยลง

“ปีนี้ที่การถือเงินสดไม่ได้เป็นศูนย์ แต่มีการติดลบลงไป ซึ่งมาจากเงินเฟ้อ ยกตัวอย่าง เงินเฟ้อในสหรัฐที่พุ่งขึ้นสูง 6% แปลว่าถ้าถือเงินสดไว้ก็จะติดลบ 6% รวมถึงการที่คาดว่าเงินเฟ้อน่าจะอยู่ไปจนถึงปีหน้า ดังนั้นอะไรที่จะช่วยชดเชยเงินเฟ้อ 6% ได้ ก็หนีไม่พ้นนำเงินไปลงทุนในตลาดทุน (equity)จะน่าสนใจที่สุด เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ” นายนาวินกล่าว

นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือกองทุนบัวหลวง กล่าวว่า ในปีหน้าเงินเฟ้อมีโอกาสเร่งตัวขึ้น และดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะปรับขึ้น การถือเงินสดไว้ในมือจะทำให้กำลังซื้อลดลง และหากเงินเฟ้อไม่ได้เป็นแค่ภาวะชั่วคราวและยังอยู่ในระดับสูง การถือเงินสดไว้ก็จะขาดทุน

“หากย้อนกลับไปในช่วงที่ผ่านมา ตอนที่โควิดระบาดหนัก คนวิตกกังวลจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ทำให้คนไม่กล้าที่จะใช้เงินไปลงทุนอะไรมาก แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มที่จะฟื้นตัว ก็ทำให้มุมมองการถือเงินสดนั้นเปลี่ยนไป ซึ่งหากถ้าไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องถือครองเงินสดไว้ นอกเหนือจากการใช้จ่ายประจำวันหรือค่าใช้จ่ายรายเดือน การนำเงินไปลงทุนจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในช่วงนี้” นายพีรพงศ์กล่าว และว่า


แนะนำให้ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น หรือนำเงินไปจัดสรรลงทุนในกองทุนต่างประเทศมากขึ้นในหุ้น เพื่อให้เงินได้ทำงาน ดีกว่าที่จะถือไว้เฉย ๆ