สรรพากรบี้ภาษีหุ้น-คริปโท เปิดแผนอุดช่องโหว่ “ธุรกิจโลกใหม่”

สรรพากร-คริปโท

อธิบดีกรมสรรพากรเดินหน้าปฏิรูปภาษี-อุดฐานะการคลังหลัง 2 ปี โควิดรัฐสูญรายได้ร่วม 6 แสนล้าน เดินหน้าเก็บ “ภาษีหุ้น-คริปโท” ดีเดย์ มี.ค. 65 นักลงทุนต้องสำแดงกำไรคริปโท งัดกฎหมายเรียก “ตลาดซื้อขาย” เปิดข้อมูลลูกค้า พร้อมลุยขยายฐานภาษีเจาะกลุ่ม “ยูทูบเบอร์-แม่ค้าออนไลน์-รับเหมา” ปรับเกณฑ์ค่าลดหย่อนภาษีจำกัดสิทธิ “คนรวย” ลดความเหลื่อมล้ำ

2 ปีโควิดสูญรายได้ 6 แสนล้าน

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ประชาชนและภาคธุรกิจเดือดร้อน สรรพากรจึงพยายามออกนโยบายภาษีทุกอย่างเพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งการลดภาษี การเลื่อนชำระภาษี เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนมีเงินอยู่ในมือมากขึ้น และเร่งคืนภาษี ตลอดจนมีมาตรการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ ออกมาหลายมาตรการ ส่งผลให้รายได้จัดเก็บภาษีหายไปปีละ 2-3 แสนล้านบาท หรือรวม ๆ ช่วง 2 ปีรายได้หายไป 5-6 แสนล้านบาท

ขณะที่ในปีงบประมาณ 2565 (ต.ค. 2564-ก.ย. 2565) กรมสรรพากรได้รับเป้าหมายการจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 1.876 ล้านล้านบาทตามเอกสารงบประมาณ ซึ่งในช่วง 2 เดือนแรก (ต.ค.-พ.ย. 2564) ยังสามารถเก็บรายได้เกินเป้าอยู่ราว 2 หมื่นล้านบาท หรือเกินเป้า 8.5% ซึ่งมาจากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้น

115 บริษัทจ่ายภาษีอีเซอร์วิส

รวมถึงการจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เก็บจากการใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) จากต่างประเทศ ซึ่งกฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ก.ย. 2564 และเริ่มมีการจัดเก็บภาษี 23 ต.ค. ซึ่ง 2 เดือนที่ผ่านมาก็มีรายได้เข้ามา 1,619 ล้านบาท โดยคาดว่าในปีงบประมาณ 2565 จะเก็บได้ 7,000-8,000 ล้านบาท จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 5,000 ล้านบาท

“ตอนนี้ก็มีบริษัทต่างประเทศที่ให้บริการในประเทศไทยเข้ามาจดทะเบียน VAT ในไทยแล้ว 115 ราย ซึ่งหากดูจากแนวโน้มการจัดเก็บที่เกินเป้าในช่วงที่ผ่านมา ปีนี้อาจจะเก็บได้ถึง 1 หมื่นล้านบาท” นายเอกนิติกล่าว

เก็บภาษีเงินได้ยักษ์เทคฯปี’66

นายเอกนิติกล่าวว่า นอกจากที่จัดเก็บภาษีอีเซอร์วิสแล้ว อีกส่วนก็กำลังดำเนินการเรื่องการจัดเก็บเงินได้นิติบุคคลของบริษัทผู้ให้บริการดิจิทัลข้ามชาติ ตรงนี้เป็นการปฏิรูปภาษีโลกซึ่งไทยก็เป็น 1 ใน 140 ประเทศที่เห็นชอบในหลักการทั้งกลุ่มผู้นำ G20 และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) โดยมีการตั้งเป้าหมายให้ใช้ภาษีนี้ได้ในปี 2566 ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 กรณี

กรณีบริษัทเทคฯข้ามชาติที่มีรายได้เกิน 2 หมื่นล้านยูโร แม้ไม่มีสถานประกอบการถาวรที่ประเทศนั้น แต่จะต้องปันกำไรมาให้ประเทศที่มีผู้ใช้บริการด้วย เบื้องต้นกำหนดว่าบริษัทยักษ์ที่มีรายได้เกิน 2 หมื่นล้านยูโร หากมีกำไรเกิน 10% ส่วนเกินของ 10% จะต้องปันมาให้ประเทศต่าง ๆ ที่มีผู้ใช้บริการซึ่งอยู่ระหว่างตกลงว่าจะแบ่งกันอย่างไร

อีกกรณีคือ กำหนดให้เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ 15% เพราะที่ผ่านมาประเทศต่าง ๆ มีการแข่งลดอัตราภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุน กรณีนี้จึงต้องการป้องกันปัญหาแข่งกันลดอัตราภาษี จึงกำหนดขึ้นต่ำ 15% เช่น หากบริษัทไทยไปลงทุนต่างประเทศที่คิดอัตราภาษีต่ำ เฉลี่ยแล้วเสียภาษีนิติบุคคลแค่ 10% ประเทศที่บริษัทแม่ตั้งอยู่จะมีสิทธิเรียกเก็บภาษีท็อปอัพให้ได้ 15% ทำให้การใช้ภาษีมาดึงดูดการลงทุนจะยากขึ้น

สรรพากรรับมือ “โลกเสมือน”

“การเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากบริษัทข้ามชาติ เกณฑ์ภาษีของเดิมระบุว่า จะเก็บได้ต้องมีสถานประกอบการถาวรในประเทศนั้น ๆ แต่ขณะนี้ก้าวสู่โลกดิจิทัลการระบุที่อยู่สถานประกอบการยากขึ้น ทาง OECD จึงระบุการเก็บภาษีออกมา 2 รูปแบบดังกล่าว”

นายเอกนิติกล่าวว่า เนื่องจากสรรพากรมีบทบาทเก็บภาษีสัดส่วนถึง 80% ของรายได้รัฐทั้งหมด จากผลกระทบรายได้ที่หายไปจึงต้องพยายามหาฐานภาษีใหม่ ๆ เหมือนอย่างภาษีอีเซอร์วิส ขณะเดียวกัน ก็ถือว่าเป็นความท้าทายที่กรมสรรพากรทั่วโลกเจอปัญหาเดียวกัน คือ ธุรกิจเปลี่ยนรูปแบบไปมากจากเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งก็จะต้องปรับแก้กฎหมายให้ทันตามธุรกรรมที่เปลี่ยนไป ขณะเดียวกัน ก็ทำให้มีช่องโหว่ทางภาษีเยอะขึ้น

และความร่วมมือระหว่างประเทศจะมีบทบาทสำคัญกับสรรพากรโลกในอนาคต เพราะโลกอนาคตจะไม่มีพรมแดนกั้นและยังมีโลกเสมือน ความร่วมมือระหว่างประเทศจึงจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ซึ่งขณะนี้ไทยก็เป็นสมาชิกภาคีความตกลงแบบพหุภาคี Multilateral Convention on Mutual Administrative Assistance in Tax Matters (MAC) ซึ่งเป็นการร่วมมือภาคีระหว่างประเทศ และกฎหมายก็ผ่านไปเรียบร้อยแล้ว

มี.ค. 65 ยื่นแบบภาษีคริปโท

รวมถึงการจัดเก็บภาษี “สินทรัพย์ดิจิทัล” (digital asset) นายเอกนิติกล่าวอีกว่า กรณีสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างคริปโทเคอร์เรนซีนั้นมีพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งมีความชัดเจนว่า digital asset หากมีกำไรหรือมีผลตอบแทนจากส่วนนี้จะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของกำไร (capital gain) และบุคคลที่มีเงินได้จากการซื้อขายคริปโทจะต้องยื่นแบบแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

“ถ้ามีกำไรจากการเทรดบิตคอยน์ก็เป็นหน้าที่ของผู้เสียภาษีที่จะต้องมายื่นแบบตามมาตรา 40 (4) ซึ่งในการยื่นแบบภาษีเงินได้ในเดือน มี.ค. 2565 สรรพากรจะมีช่องให้ติ๊กสำหรับผู้ที่มีกำไรจากการซื้อขายคริปโทเพื่อให้ผู้เสียภาษีสำแดงเงินได้ ซึ่งหากใครมีรายได้แล้วหลบเลี่ยงไม่ยอมยื่นเรามีระบบ data analytics ตรวจสอบได้”

นายเอกนิติกล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้สนใจลงทุนซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีมาก แม้จะตามเก็บภาษียากแต่ก็เป็นเรื่องที่สรรพากรต้องตามให้ทัน ซึ่งกรมสรรพากรมีอำนาจในการออกหมายเรียกพยานได้ เช่น หากสรรพากรมีข้อมูลที่เชื่อว่าบุคคลดังกล่าวมีกำไรจากการซื้อขายคริปโทก็มีอำนาจบริษัทที่ทำหน้าที่เป็นตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมาให้ข้อมูลได้

เร่งแผนซื้อขายหัก ณ ที่จ่าย

นอกจากนี้ ปัจจุบันกรมอยู่ระหว่างการดำเนินการเรื่องที่จะให้ตลาดเทรดคริปโททำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% โดยจะเป็นการเก็บภาษีกำไรจากการขาย

“หลาย ๆ ประเทศก็เริ่มให้แพลตฟอร์มเป็นรายงานข้อมูลการซื้อขาย และเป็นผู้เก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย ส่วนของไทยก็กำลังให้ทำเป็นการรายงานทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว อยู่ขั้นตอนกฤษฎีกา ตรงนี้จะออกมาเป็นกฎหมายพื้นฐานก่อน จากนั้นกรมก็จะสามารถมาออกกฎหมายกำหนดต่อได้ว่า ให้รายงานการซื้อขาย”

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายระบุว่าจะทำให้คนหันไปใช้ตลาดซื้อขายต่างประเทศอย่าง Binance แทน อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า ในกรณีนี้ก็จะเป็นเรื่องที่ต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศซึ่งปัจจุบันก็มีการหารือกันอยู่แล้ว อย่างสหรัฐอเมริกาก็มีการออกกฎหมายบังคับให้ตลาดรายงานข้อมูลซื้อขายการเทรดคริปโท

เก็บภาษีหุ้นสร้างความเป็นธรรม

นอกจากนี้ นายเอกนิติกล่าวว่า ตอนนี้กำลังศึกษาเรื่องการเก็บภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้น (financial transaction tax) อัตรา 0.1% จากมูลค่าการขาย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเก็บปีหน้า (ปี 2565) น่าจะทำให้มีรายได้กว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งเหตุผลที่จะจัดเก็บเป็นเรื่องความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่เรื่องหารายได้อย่างเดียว

ภาษีหุ้นทั่วโลกมีเก็บ 2 รูปแบบ คือ transaction tax และ capital gain tax (ภาษีกำไรจากการขายหุ้น) หลายประเทศเก็บทั้ง 2 รูปแบบ สำหรับไทยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนศึกษาเพื่อจัดเก็บ transaction tax ซึ่งเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งมีการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534 เนื่องจากต้องการโปรโมตตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ในธุรกิจอื่นทั้งอสังหาริมทรัพย์ ธนาคาร และประกัน ก็ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ดังนั้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับภาคธุรกิจอื่น ๆ ก็ต้องมีการจัดเก็บเพราะยกเว้นมา 30 ปีแล้ว

ลุยต่อภาษี Capital Gain

“ภาษีขายหุ้น 0.1% หรือขายหุ้น 1 ล้านบาท จ่ายภาษี 1,000 บาท กฎหมายรองรับให้เราต้องเก็บ เพียงแต่ที่ผ่านมายกเว้นไว้ ส่วนกรณีภาษี capital gain tax ตอนนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายแต่กรมก็ศึกษาไว้อยู่” นายเอกนิติกล่าวและว่า

การเก็บภาษีคริปโทและภาษีหุ้นนั้นควรจะดำเนินไปด้วยกัน แต่ในส่วนของหุ้นนั้นยังไม่มีกฎหมาย capital gain รองรับ ก็ต้องมีการออกกฎหมายก่อน แต่กรณีคริปโทมีกฎหมายรองรับแล้ว แต่ยังเป็นรูปแบบให้ผู้ซื้อขายเป็นคนยื่นแบบ

โดยจากข้อมูลที่ศึกษาพบว่าหลายประเทศมีการเก็บภาษีหุ้นทั้ง 2 รูปแบบ ยกตัวอย่าง อินโดนีเซีย เก็บภาษีขายหุ้น 0.1%, เวียดนาม เก็บภาษีขายหุ้น 0.1% และเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น 20%, มาเลเซีย เก็บเป็นอากรแสตมป์ทั้งการซื้อและขายหุ้น 0.1%, ฟิลิปปินส์ เก็บภาษีขายหุ้น 0.6% และเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น 15%, ฮ่องกง เก็บภาษีจากการขายและซื้อหุ้น 0.13%, ญี่ปุ่น เก็บกำไรจากการขายหุ้น 20.315%, เกาหลีใต้ ภาษีขายหุ้น 0.23% และเก็บกำไรจากการขายหุ้นกรณีครองน้อยกว่า 1 ปี เก็บภาษี 33% ถือเกิน 1 ปี เก็บภาษี 22% (กำไรไม่เกิน 300 ล้านวอน) ไต้หวัน เก็บภาษีขายหุ้น 0.3% เป็นต้น

บี้ภาษี “ยูทูบเบอร์” ชื่อดัง

ด้านการขยายภาษี อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า กรมยังคงดำเนินการต่อเนื่องโดยใช้ data analytics ซึ่งขณะนี้พยายามประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มอาชีพอิสระที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจรอบครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ให้ถูกต้อง เพราะกรมไม่อยากไปคิดค่าปรับเงินเพิ่ม โดยช่วงนี้ทางกรมอยู่ในช่วงที่เริ่มส่งหนังสือเตือนรอบใหม่ก่อนที่จะครบกำหนดยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ที่เพิ่งขยายเวลาให้จากเดิมต้องยื่นภายในเดือน ก.ย.ออกไปเป็นภายในเดือน ธ.ค. 2564

โดยสิ่งที่กรมจะทำ คือ ใช้ data analytics เจาะลงไปแต่ละกลุ่มอาชีพที่มีรายได้ เช่น ยูทูบเบอร์ ค้าขายออนไลน์ รับเหมาก่อสร้าง ฯลฯ และส่งจดหมายแจ้งเตือนว่าถึงเวลาที่จะยื่นแบบแล้ว เพราะเราก็ต้องการให้ผู้เสียภาษีเป็นพันธมิตรกับเรามากกว่า หากไม่รู้ว่าจะคำนวณอย่างไรก็ให้มาหาสรรพากร มีทูตภาษีช่วยแนะนำ

“ปีที่ผ่านมาก็ทดสอบส่งจดหมายแจ้งเตือนไป 1 แสนราย ก็มีผู้เสียภาษีเข้ามา 55% เม็ดเงินประมาณ 2,000-4,000 ล้านบาท แต่ส่วนที่ไม่เข้ามาทางกรมก็จะจัดการเต็มที่ เพราะเรามีข้อมูลการทำธุรกรรมต่าง ๆ อยู่แล้ว และถ้าไม่ยื่นภาษีก็จะโดนเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน”

ปฏิรูปค่าลดหย่อน-ลดเหลื่อมล้ำ

นายเอกนิติกล่าวว่า นอกจากนี้ ในการปฏิรูปภาษีของกรมสรรพากรจะเน้นเรื่องความเป็นธรรม ยังจะมีการปรับปรุงเรื่องสิทธิประโยชน์ค่าลดหย่อนภาษีต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าผู้ที่ใช้ค่าลดหย่อนส่วนใหญ่ คือ “คนรวย” เนื่องจากผลการศึกษาพบว่าคนที่ใช้ประโยชน์จากค่าลดหย่อน 90% เป็นคนที่มีรายได้เกิน 1 ล้านบาทต่อปี

ดังนั้น กรมจะพยายามออกแบบใหม่ให้คนชั้นกลางและคนชั้นล่างได้ประโยชน์มากกว่า ซึ่งจะต้องลดสิทธิประโยชน์ของคนรวยลง อย่างที่ผ่านมากองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ที่ออกมาถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ออกแบบมาให้คนชั้นกลางได้ประโยชน์ ซึ่งขยับเพดานจาก 15% ของรายได้เป็น 30%

“ค่าลดหย่อนที่จะปรับมีทั้งที่อยู่ในประมวลรัษฎากร และที่อยู่นอกประมวลรัษฎากร เช่น ลดหย่อนเพื่อบริจาค ลดหย่อนเพื่อการลงทุน หรือสิทธิประโยชน์ในโครงการรัฐอย่างช้อปดีมีคืน ช็อปช่วยชาติ เป็นต้น ซึ่งเราก็จะพยายามปรับในส่วนที่อยู่นอกประมวลรัษฎากรก่อน” อธิบดีกรมสรรพากรกล่าว

อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวเพิ่มเติมว่า แผนปฏิรูปภาษีในภาพรวมจะมีทั้งกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร โดยต้องรอทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รวบรวม ซึ่งจะเป็นแผนระยะ 5 ปี โดยธนาคารพัฒนาเอเชียได้เสนอให้ สศค.ทำโมเดลเป็นแพ็กเกจเพื่อจะได้เห็นว่าจะทำอะไร เมื่อไหร่