UOB แจงแผนควบรวมพอร์ตรายย่อย ซิตี้แบงก์ ยันไม่ปลดพนักงาน 5 พันคน

UOB
Photo by ROSLAN RAHMAN / AFP

กลุ่มธนาคารยูโอบี ประกาศเข้าซื้อกิจการพอร์ตสินเชื่อรายย่อยซิตี้กรุ๊ป 4 ประเทศ มูลค่าราว 1.22 แสนล้านบาท ชี้เป็นราคาที่เหมาะสม หนุน ROE-เงินกองทุนฯ เพิ่มเป็น 13% ในปี 2566 พร้อมยกระดับเป็น 1 ใน 3 ธนาคารในภูมิภาค กางแผนควบรวมกิจการแล้วเสร็จปี 2567 นำร่องไทย-มาเลเซียก่อนช่วงครึ่งแรกปี 2565 นี้ ยันไม่ปลดพนักงานที่มีอยู่ 5 พันคน มองเป็นสินทรัพย์-บุคลากรมีคุณภาพ

วันที่ 14 มกราคม 2564 นายวี อี เชียง รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารยูโอบี กล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการพอร์ตรายย่อยของซิตี้กรุ๊ป ใน 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยการพิจารณาข้อเสนอการเสนอซื้อกิจการนี้ จะคำนวณจากค่าพรีเมี่ยมรวม 915 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือกว่า 2.26 หมื่นล้านบาท บวกกับมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของธุรกิจลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ป 4,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 9.86 หมื่นล้านบาท ทำให้เกิดมูลค่าในซื้อกิจการครั้งนี้ 5,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือกว่า 1.22 แสนล้านบาท

ปัจจุบันยูโอบีมีฐานลูกค้า 2.4 ล้านราย ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2564 และมีรายได้ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 โดยเมื่อเข้าซื้อกิจการรายย่อยของซิตี้กรุ๊ปแล้ว จะทำให้ฐานลูกค้ายูโอบีเพิ่มเป็น 5.2 ล้านราย ซึ่งมองว่าการซื้อกิจการครั้งนี้มีราคาที่เหมาะสม เป็นโอกาสและอยู่ในจังหวะที่เหมาะ สอดคล้องกับแผนระยะ 5 ปีของธนาคารที่ต้องการวางโครงสร้างพื้นฐานไปสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม และเสริมสร้างให้เกิดช่องทาง Omni Channel และพอร์ตสินเชื่อมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และยังส่งผลให้ธนาคารยูโอบีก้าวขึ้น เป็นธนาคารใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของภูมิภาคนี้

ขณะที่ผลประกอบการหลังจากการควบรวมจะปรับดีขึ้น โดยธนาคารมั่นใจว่าฐานลูกค้ารายย่อยที่เพิ่มขึ้น จะช่วยในเรื่องการเพิ่มในแง่ของอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ปรับดีขึ้นเช่นกัน โดยภายในปี 2566 จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 13% จากไตรมาสที่ 3/2564 อยู่ที่ 10% รวมถึงอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) จะปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 13% โดยธนาคารยังคงรักษาอัตราเงินปันผลได้

“เราตอบไม่ได้ว่าดีลนี้มีคู่แข่งมากน้อยกี่ราย แต่เราเชื่อว่าเป็นดีลที่มีการแข่งขันกันสูง ซึ่งเรามองว่าราคาที่เราได้มาเป็นราคาที่เหมาะสม และมาช่วยเสริมพอร์ตของเรา เพราะในตลาด 4 ประเทศนี้ จะทำให้เรานำหน้าตลาดไปอีก 5 ปี การซื้อครั้งนี้ ก็เพื่อให้เรามีขนาดที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งเพิ่มความสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย โดยกลุ่มลูกค้าของเราเป็นกลุ่มมีกำลังซื้อ หากเราขายข้ามผลิตภัณฑ์ หรือ cross sale จะเกิดประโยชน์ และเรามั่นใจการใช้วิธีนี้น่าจะตอบโจทย์การสร้างศักยภาพในการสร้างกำไรในกลุ่มลูกค้ารายย่อย”

นายวี กล่าวว่า หลังจากนี้ ภายในครึ่งแรกของปี 2565 ธนาคารจะเข้าไปดำเนินการควบรวมกิจการในส่วนของประเทศไทยและมาเลเซียก่อน จากนั้นในช่วงครึ่งหลังของปี จะดำเนินการในส่วนของอินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยเน้นดูแลผลประโยชน์ของลูกค้าให้ได้รับบริการไม่สะดุดและเป็นไปตามกฎระเบียบของผู้กำกับดูแลในแต่ละประเทศเป็นหลัก

“ตลาดประเทศไทย เป็นตลาดที่มีศักยภาพและเป็นตลาดที่ทำให้ยูโอบีตัดสินใจเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ เพราะเป็นพอร์ตที่มีพรีเมี่ยมสูงสุดใน 4 ประเทศ เนื่องจากพอร์ตลูกค้ามีคุณภาพและมีวินัย ขณะที่ตลาดของมาเลเซียและเวียดนามค่อนข้างเล็ก แต่เป็นโอกาสสำคัญในการขยายธุรกิจ โดยเฉพาะตลาดเวียดนามที่จะเป็นตลาดสำคัญในอนาคต โดยธนาคารยังคงเน้นธุรกิจตลาดบัตรเครดิต รวมถึงประสานผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ธนาคารเข้าด้วยกัน”

นายวี กล่าวด้วยว่า ในด้านบุคลากรนั้น ปัจจุบันธนาคารได้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อทำหน้าที่ในระหว่างการเปลี่ยนถ่าย เพื่อดูแลทั้งพนักงานของซิตี้แบงก์และยูโอบี ซึ่งลูกค้าของซิตี้แบงก์จะมั่นใจได้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่ของซิตี้ดูแลอย่างต่อเนื่องจนจบสิ้นกระบวนการ


โดยในส่วนของพนักงานที่มีกว่า 5,000 คน ธนาคารไม่มีแผนจะปลดพนักงานออกแต่อย่างใด เนื่องจากมองเป็นสินทรัพย์ และเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ คาดว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้นในช่วงไตรมาส 2/2566 ถึงไตรมาส 1/2567