แห่ปรับเป้าเศรษฐกิจปีเสือ พิษ “โอมิครอน” ฉุดจีดีพีโตลดลง

ส่งออก

 

การกลายพันธุ์ของโควิด-19 จากสายพันธุ์เดลต้า ที่สร้างความบอบช้ำให้แก่เศรษฐกิจหลายประเทศ รวมถึงไทยในปีที่ผ่านมา มาสู่สายพันธุ์ “โอมิครอน” ที่เริ่มมีข่าวการระบาดในช่วงปลายปี 2564 ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจเกิดความอึมครึมไปขณะหนึ่ง เนื่องจากยังไม่สามารถประเมินผลกระทบได้ชัดเจน โดยเฉพาะในแง่ความรุนแรงของโรคที่จะนำไปสู่การจำกัดกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจตามมา

อย่างไรก็ดี หลังผ่านเทศกาลปีใหม่มา ภาพต่าง ๆ ก็เริ่มชัดขึ้น ทำให้หลายสำนักเริ่มปรับคาดการณ์การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2565 กันใหม่

โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 3.4% จากเดิม 3.9% ซึ่งอยู่บนสมมุติฐานว่า โอมิครอนกระทบเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เป็นสำคัญ โดย ธปท.ได้ปรับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ จากเดิมคาดที่ 6 ล้านคน ลดลงมาอยู่ที่ 5.6 ล้านคน

ขณะที่ วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า เศรษฐกิจในช่วงแรกของปี เผชิญความท้าทายจากการระบาดของโอมิครอน กระทบต่อความต่อเนื่องของการฟื้นตัว โดยคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อไว้ 3 กรณี คือ 1) กรณีฐาน จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะเพิ่มขึ้นสูงสุดเกือบ 1.1 หมื่นคนในช่วงกลางเดือน ก.พ. ก่อนลดลงอย่างช้า ๆ จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันสูงสุดที่ประมาณ 50 คนในช่วงปลายเดือน ก.พ.

กรณีนี้ประเมินจะกระทบจีดีพี 0.6% 2) กรณีเลวร้าย จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 1.6 หมื่นคนปลายเดือน ก.พ. และมีผู้เสียชีวิตรายวันสูงสุดทีประมาณ 100 คน กรณีประเมินกระทบจีดีพี 1.4% และ 3) กรณีเลวร้ายสุด วัคซีนเข็มกระตุ้นไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดประมาณ 3.2 หมื่นรายในช่วงกลางเดือน ก.พ. และมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงถึง 300 รายต่อวัน กรณีนี้จะกระทบจีดีพี 3.0%

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์นี้ยังไม่รวมปัจจัยเพิ่มเติมอื่น ๆ เช่น ผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งอาจทำให้จีดีพีโดยรวมอาจลดลงจากคาดการณ์เดิมไม่มาก

ซึ่งวิจัยกรุงศรีคาดว่า จะขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.7% ต่อปี จากปี 2564 ที่เติบโตเพียง 1.2% และมีแนวโน้มที่มูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะสามารถกลับมาอยู่ในระดับก่อนเกิดการระบาดได้ในช่วงครึ่งหลังของปี

ฟาก ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ยังคงประมาณการจีดีพีปีนี้ที่ระดับเดิมที่ 3.8% โดยมองว่าโอมิครอน จะส่งผลให้การใช้จ่ายในประเทศลดลงบ้าง แต่การติดเชื้อที่มีความรุนแรงไม่มาก จึงคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะลดลงไม่มากนัก และไม่น่าจะมีการล็อกดาวน์เข้มข้นอย่างปีที่ผ่านมา โดยประเมินว่าผลกระทบน่าจะอยู่ในช่วง 1-2 เดือน หรืออย่างช้าไม่เกิน 3 เดือน ขณะที่การส่งออกยังมีแนวโน้มเติบโตดี ส่วนการท่องเที่ยวแม้จะได้รับผลกระทบก็ยังเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า การแพร่ระบาดของโอมิครอน อาจส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 1 ปีนี้ มีแนวโน้มชะลอลงจากที่คาดไว้เดิม แต่จะเริ่มคลี่คลายและเศรษฐกิจโลกจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป หลังมีการระดมฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (booster) ในจำนวนที่มากเพียงพอ และเริ่มแจกจ่ายวัคซีนสูตรใหม่ที่จะควบคุมการระบาดได้

โดย EIC คาดเศรษฐกิจโลกปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงราว 0.3-0.4% เทียบกับก่อนเกิดการระบาดของโอมิครอน ทำให้ในปีนี้ เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวราว 4.1%

ประมาณการ

ส่วนเศรษฐกิจไทย คาดว่าโอมิครอนจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 1 ของปีนี้ โดยคาดว่าจะกระทบผ่านภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก และการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดย EIC ปรับลดประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ลงเหลือ 5.9 ล้านคน จาก 7.7 ล้านคน และปรับลดการขยายตัวมูลค่าการส่งออกลงเหลือ 3.4% จาก 4.7% ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวเพียง 3.2% จากที่เคยคาดไว้ที่ 3.4%

อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ยังมีอยู่สูง โดยปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ 1) ระดับการระบาดและความรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน และ 2) การดำเนินมาตรการของรัฐเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด สำหรับผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อไทยจะมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอทำให้ผู้ผลิตยังไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภคได้มากนัก

ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2565 เป็นสองกรณี โดยทั้งสองกรณีมีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าในปี 2564 โดยกรณีดีจะอยู่ที่ 3.7% (จำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 4 ล้านคน) ขณะที่กรณีแย่จะอยู่ที่ 2.8% (นักท่องเที่ยวอยู่ที่ 2 ล้านคน) อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จนอาจกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน รวมถึงค่าเงินที่อาจมีความผันผวนจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือการเริ่มคุมเข้มนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางหลัก ๆ ของโลก

นอกจากนี้ ล่าสุด คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ภาคเอกชนมองว่าอาจไม่รุนแรงมากนัก ซึ่งการท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบในระยะสั้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 เป็นหลัก โดยคาดว่านักเดินทางต่างชาติ จะกลับมาเพิ่มขึ้นในปลายไตรมาส 1 โดยตลอดทั้งปี ประเมินจำนวนนักเดินทางเข้าประเทศ ประมาณ 5-6 ล้านคน

โดย กกร.คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 3.0-4.5% ต่อปี ขณะที่ประมาณการการส่งออกในปี 2565 ว่าจะขยายตัวในกรอบ 3.0-5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะยังอยู่ในกรอบ 1.2-2.0% แต่จำเป็นต้องมีมาตรการระยะสั้น เพื่อบรรเทาปัญหาสินค้าอาหารราคาแพง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคมากเกินไป

ดูแล้วส่วนใหญ่ประเมินผลกระทบ “โอมิครอน” ออกมาไม่รุนแรง และไม่กระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจไทยโตช้าลงไปอีก โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี