“อาคเนย์” ชงผู้ถือหุ้นเลิกกิจการ โอนพอร์ตให้ “อินทรประกันภัย”

บอร์ด “อาคเนย์ประกันภัย” เตรียมชงผู้ถือหุ้นวันพุธที่ 26 ม.ค.65 นี้ เลิกกิจการ โอนพอร์ตทั้งหมดให้ “อินทรประกันภัย” หาก “ไทยประกันภัย” ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประกันภัยต่อ คาดต้องเพิ่มทุนอีก 20,000 ล้านบาท รักษากรมธรรม์โควิด

วันที่ 21 มกราคม 2565 แหล่งข่าววงในธุรกิจประกันวินาศภัย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ส่งหนังสือเรียนผู้ถือหุ้นบริษัทฯ ว่า ด้วยคณะกรรมการบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 14 ม.ค.65 ได้มีมติกำหนดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2565 ในวันพุธที่ 26 ม.ค.65 เวลา 14.00 น. ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ระบบ Microsoft Teams เพียงอย่างเดียว เพื่อพิจารณาเรื่องตามระเบียบวาระการประชุม พร้อมด้วยความเห็นของคณะกรรมการ ดังต่อไปนี้

บอร์ด “อาคเนย์” เตรียมชงผู้ถือหุ้น 26 ม.ค.65 เลิกกิจการ

วาระที่ 1 พิจารณาอนุมัติเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ตามที่บริษัทได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ตามเลขที่ใบอนุญาตประกันวินาศภัย ป.2/2551 ลงวันที่ 12 ธ.ค.2551 โดยบริษัทได้ถือปฏิบัติตามสัญญาประกันภัยและเงื่อนไขต่างๆ ที่มีต่อผู้เอาประกันภัยอย่างเคร่งครัดตามหลักธรรมาภิบาล

โดย ณ วันที่ 31 ธ.ค.64 บริษัทมีจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยในความดูแลทั้งสิ้น 7,843,568 ฉบับ แบ่งเป็นกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 จำนวน 1,135,808 ฉบับ และกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่นๆ จำนวน 6,707,760 ฉนับ มีจำนวนผู้เอาประกันภัยทั้งสิ้น 10,466,624 ราย แบ่งเป็นผู้เอาประกันภัยตามกรมธรม์ประกันภัยโควิด-19 จำนวน 1,851,921 ราย และผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่นๆ จำนวน 8,614,703 ราย

ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงจากวันเริ่มคุ้มครองเป็นอย่างมาก โดยผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ทวีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2563 เป็นอย่างมาก อีกทั้งได้ปรากฎข้อเท็จจริงว่าเชื้อโควิดมีการกลายพันธุ์ไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งทำให้เชื้อไวรัสดังกล่าวมีความสามารถในการแพร่ระบาดสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

บริษัทได้พยายามทำหน้าที่ในฐานะผู้รับประกันภัยอย่างดีที่สุด โดยใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาอย่างเต็มความสามารถเป็นจำนวนโดยประมาณทั้งสิ้นถึง 8,245 ล้านบาท แต่ผลจากการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมากได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินของบริษัทเป็นอย่างยิ่ง

ต้องเพิ่มทุนอีก 2 หมื่นล้าน รักษากรมธรรม์ประกันโควิด

ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ ทั้งนี้หากบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาประกันภัยต่อที่มีอยู่กับบริษัทฯ บริษัทประเมินในเบื้องต้นว่าอาจต้องจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมอีกประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อให้มีจำนวนเงินที่เพียงพอต่อการรักษากรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 อยู่ต่อไป

ทั้งนี้การรักษากรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 จะส่งผลให้บริษัทไม่เพียงจะไม่สามารถดูแลลูกค้าตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ได้เท่านั้น แต่ยังไม่สามารถดูแลลูกค้าตามกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่นซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าส่วนมากของบริษัทฯ ตลอดจนไม่สามารถดูแลบุคลากร ซึ่งรวมไปถึงตัวแทนและนายหน้าประกันภัยมากกว่า 9,000 ราย ตลอดจนพนักงานลูกจ้างที่ประจำอยู่ในสาขาต่างๆ ทั่วประเทศมากกว่า 75 สาขา ได้อีกต่อไปด้วย

เลิกกิจการ อาศัยกฎหมายมาตรา 57 ตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย

อย่างไรก็ตาม การเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย จะเป็นไปตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ซึ่งกำหนดให้บริษัทประกันวินาศภัยที่ประสงค์จะเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ยื่นคำขออนุญาตต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(บอร์ด คปภ.) โดยบริษัทจะดำเนินการตามแผนการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ก็ต่อเมื่อบริษัทได้รับอนุญาตจาก คปภ.ให้เลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยแล้ว

โดยความเห็นคณะกรรมการเห็นสมควรเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้น พิจารณาอนุมัติการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ทั้งนี้เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรมประกันภัย หรือผู้มีส่วนได้เสีย อันจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อลูกค้าผู้เอาประกันภัยทุกรายของบริษัทฯ และพนักงานตลอดจนบุคลากรที่เกี่ยวข้องต่างๆ ซึ่งจะเป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบสูงสุดหากบริษัทยังคงประกอบกิจการอยู่ต่อไปท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จึงลงมติในวาระนี้จะต้องได้รับการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

โอนกิจการอาคเนย์ ให้ “อินทรประกันภัย”

วาระที่ 2 พิจารณาอนุมัติการโอนกิจการของบริษัท อาคเนย์ประกันภัย ให้แก่ บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) สืบเนื่องจากวาระการพิจารณาอนุมัติการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยข้างต้น บริษัทได้ติดต่อกับ บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) ไว้เกี่ยวกับการรับโอนกิจการ

โดยรับโอนกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น นอกเหนือจากกรมธรม์ประกันภัยโควิด-19 ภายหลังจากที่บริษัทได้ดำเนินการยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 และจัดการทรัพย์สินและหนี้สินบางส่วนของบริษัทแล้ว ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันการให้บริการอย่างต่อเนื่องแก่ลูกค้าผู้เอาประกันภัยทุกรายของบริษัท

เยียวยาผู้เอาประกันอย่างเป็นธรรม

การโอนกิจการโดยรับโอนกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น นอกเหนือจากกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ให้แก่ บริษัท อินทรประกันภัย เป็นมาตรการที่จำเป็นซึ่งจะช่วยให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น นอกเหนือจากกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ซึ่งบริษัทยังคงมีกรมธรรม์ดังกล่าวที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่จำนวน 6,707,760 ฉบับ


ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวและผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดจนพนักงานและลูกจ้างของบริษัทได้รับการดูแลและเยียวยาอย่างเป็นธรรมสูงสุดในสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้หากไม่ได้ดำเนินการตามแนวทางนี้อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้