SCBAM จ่ายปันผล 5 กองทุนไทย-เทศรวมกว่า 480 ล้าน 17 และ 22 ก.พ.นี้

การลงทุน-กองทุน

บลจ.ไทยพาณิชย์ (SCBAM) ประกาศจ่ายปันผลกองทุนทั้งกองทุนหุ้นไทย-กองทุนไทยเทศรวม 5 กองทุน มูลค่ากว่า 480 ล้านบาท วันที่ 17 ก.พ. และ 22 ก.พ. นี้ 

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 นายอาชวิณ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการตลาด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้เตรียมจ่ายเงินปันผลกองทุนหุ้นทั้งไทยและต่างประเทศรวม 5 กองทุน มูลค่ารวมกว่า 480 ล้านบาท ประกอบด้วย กองทุนหุ้นไทย 3 กองทุน สำหรับงวดผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ส.ค. 2564 – 31 ม.ค. 2565 โดยกำหนดจ่ายในวันที่ 17 ก.พ. 2565 นี้ ได้แก่

1) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ซีเล็คท์ อิควิตี้ ฟันด์ – SCBSE กำหนดจ่าย 0.40 บาทต่อหน่วย จ่ายระหว่างกาลแล้วเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2564 จำนวน 0.15 บาทต่อหน่วย คงเหลือจ่ายงวดนี้ 0.25 บาทต่อหน่วย (ครั้งที่ 22) รวมจ่ายปันผลแล้ว 8.61 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งเมื่อ 28 มิ.ย. 2554) กองทุนมีกลยุทธ์การลงทุนแบบ Active Approach ด้วยการคัดเลือกลงทุนในบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่น่าสนใจมากที่สุด และสอดคล้องกับแนวโน้มการลงทุนในขณะนั้น ซึ่งจะใส่น้ำหนักการลงทุนมากน้อยตามความน่าสนใจของหุ้นนั้น ๆ โดยลงทุนในหุ้นไม่เกิน 30 ตัว นอกจากนี้ กองทุนนี้จัดเป็นกองทุน 5 ดาว ประเภท Thailand Fund Equity Large-Cap ของมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ม.ค. 2565)

2) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ SET ENERGY SECTOR INDEX–SCBENERGY กำหนดจ่าย 1.00 บาทต่อหน่วย (ครั้งที่ 11) รวมจ่ายปันผลแล้ว 4.57 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งเมื่อ 28 มิ.ย. 2554) กองทุนมีนโยบายสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีหมวดพลังงานและสาธารณูปโภคของตลาดหุ้นไทยมากที่สุด 3) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ SET BANKING SECTOR INDEX-SCBBANKING กำหนดจ่าย 2.00 บาทต่อหน่วย (ครั้งที่ 9) รวมจ่ายปันผลแล้ว 5.95 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งเมื่อ 28 มิ.ย. 2554) กองทุนมีนโยบายสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีหมวดธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของตลาดหุ้นไทยมากที่สุด

อาชวิณ อัศวโภคิน
อาชวิณ อัศวโภคิน

“ในปี 2565 นี้ ตลาดหุ้นไทยมีทิศทางไปในเชิงบวกโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง ถึงแม้ว่าตลาดหุ้นทั่วโลกอาจจะเผชิญแรงขายจากความกังวลเรื่องการชะลอ QE Tapering และการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติได้เทขายหุ้นไทยแล้วเป็นจำนวน 3.1 แสนล้านบาท จึงทำให้ผลกระทบจากเรื่อง QE Tapering อยู่ในระดับที่ต่ำมาก นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงมีโอกาสฟื้นตัวจากนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่คาดว่าจะมีอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2565 ซึ่งจะผลักดันให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ การลงทุนในหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว เช่น หุ้นกลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคาร กลุ่มขนส่ง กลุ่มพาณิชย์ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ ก็จะเป็นหุ้นกลุ่มที่สามารถเพิ่มน้ำหนักการลงทุนเพิ่มเติมได้” นายอาชวิณกล่าว

กองทุนหุ้นต่างประเทศ 2 กองทุน สำหรับงวดผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ก.พ. 2564-31 ม.ค. 2565 โดยกำหนดจ่ายในวันที่ 22 ก.พ. 2565 นี้ ได้แก่ 1) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยุโรป-SCBEUEQ กำหนดจ่าย 0.8301 บาทต่อหน่วย จ่ายระหว่างกาลแล้วเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2564 จำนวน 0.2122 บาทต่อหน่วย เหลือจ่ายงวดนี้ 0.6179 บาทต่อหน่วย (ครั้งที่ 12) รวมจ่ายปันผลแล้ว 2.6196 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งเมื่อ 26 ก.พ. 2557) กองทุนมีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ iShares STOXX Europe 600 (DE) โดยลงทุนในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี STOXX Europe 600 เพื่อให้ผลการดำเนินงานของกองทุนใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี STOXX Europe 600 และ 2) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลบอล อิควิตี้ – SCBGEQ กำหนดจ่าย 0.7023 บาทต่อหน่วย จ่ายระหว่างกาลแล้วเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2564 จำนวน 0.3573 บาทต่อหน่วย เหลือจ่ายงวดนี้ 0.3450 บาทต่อหน่วย (ครั้งที่ 15) รวมจ่ายปันผลแล้ว 3.7068 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งเมื่อ 14 ก.พ. 2556) กองทุนเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ กองทุน Veritas Global Focus (กองทุนหลัก) ที่มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นทั่วโลก


นายอาชวิณกล่าวเพิ่มเติมถึงภาพการลงทุนต่อตลาดหุ้นทั่วโลกว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2022 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 4.9% และใน 3 ปีข้างหน้าอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 3.97% ต่อปี โดยปัจจัยหลักที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง ยังคงมาจากความคืบหน้าของการฉีดวัคซีน รวมถึงขนาดและระยะเวลาของมาตรการภาครัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการทยอยกลับมาเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม ทั้งตลาดหุ้นทั่วโลกและตลาดหุ้นไทย ยังคงมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาในระยะข้างหน้า ได้แก่ การแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่, อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องที่ส่งผลให้การดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดมากกว่าที่คาด, กฎหมายการแข่งขันทางการค้า (Antitrust laws) และการเจรจาทางการค้าในสหรัฐ-จีน