TIDLOR กำไรพุ่งกว่า 30% ชงผู้ถือหุ้นเคาะจ่ายปันผลเป็น “หุ้นสามัญ-เงินสด”

เงินติดล้อ

“เงินติดล้อ” หรือ TIDLOR ชงผู้ถือหุ้นเคาะจ่ายปันผลเป็น “หุ้นสามัญ” กว่า 170 ล้านหุ้น รวมถึงจ่ายเป็น “เงินสด” อีกหุ้นละ 0.274 บาท หลังทำกำไรปี’64 โตกว่า 30%

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ค่ำวานนี้ว่า คณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติกำหนดวันประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2565 ในวันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน 2565 เวลา 13.30 น. ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (-AGM) โดยอนุมัติให้กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2565 (Rccord Date) ในวันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม 2565

ทั้งนี้ ในการประชุมผู้ถือหุ้นดังกล่าว จะมีการเสนอให้จัดสรรทุนสำรองตามกฎหมายกำหนดในอัตราไม่น้อยกว่า 5% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินของบริษัท จำนวน 158,445,308 บาท และ จ่ายเงินปันผลเป็นหุ้นสามัญของบริษัท จำนวนไม่เกิน 178,383,428 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 3.70 บาทให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท ในอัตรา 13 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นปันผล รวมมูลค่าทั้งสิ้น ไม่เกินประมาณ 660 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผล 0.285 บาทต่อหุ้น

ทั้งนี้ ในกรณีมีที่ผู้ถือหุ้นรายใดมีเศษของหุ้นเดิม หลังการจัดสรรหุ้นปันผลแล้วให้จ่ายเป็นเงินสดแทนการจ่ายเป็นหุ้นปันผลในอัตราหุ้นละ 0.285 บาท

นอกจากนี้ ยังอนุมัติจ่ายปันผลเป็นเงินสดในอัตราหุ้นละ 0.274 บาท รวมเป็นจำนวนเงินไม่เกินประมาณ 635 ล้านบาท ตามนโยบายจ่ายเงินปันผลของบริษัทไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิตามงบการเงินของบริษัท หลังจากการหักภาษีและจัดสรรทุนสำรอง

โดยให้กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล (Rccord Date) ใบวันที่ 29 เมษายน 2565 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลของบริษัทขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565

ขณะเดียวกัน บริษัทได้รายงานผลการดำเนินงานปี 2564 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯด้วยว่า บริษัทมีจำนวนสาขา ครอบคลุม 74 จังหวัด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 รวมทั้งสิ้น 1,286 สาขา มีสาขาเพิ่มขึ้นรวม 210 สาขาจากสิ้นปีก่อน สอดคล้องกับกลยุทธ์การเพิ่มจำนวนสาขาทั้งสิ้น 500 สาขาภายในปี 2566

โดยปีที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรสุทธิรวม สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 จำนวน 3,168.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.2 จากจำนวน 2,416.1 ล้านบาทจากงวดเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยรับจากสินเชื่อรวม และรายได้ค่าธรรมเนียมและ บริการซึ่งสัดส่วนหลักมาจากการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิต และประกันวินาศภัย

ขณะที่อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เท่ากับร้อยละ 1.2 ลดลงร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับร้อยละ 1.7 ช่วงเดียวกันปีก่อน แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ระลอกที่ 3 เพิ่มสูงขึ้น แต่บริษัทสามารถบริหารจัดการคุณภาพลูกหนี้ได้เป็นอย่างดี

ด้านอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น เท่ากับ 2.0 เท่า ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ที่เท่ากับ 3.5 เท่า และปรับตัวลดลงต่อเนื่องภายหลังการเพิ่มทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา และจากการบริหารจัดการเงินกู้ยืมที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น