โควิดกระทบกำไร THRE แย้มแผนส่งบริษัทลูก EMCS เข้าตลาดหุ้น

ไทยรับประกันภัยต่อ ปี’64 ขาดทุน 356 ล้านบาท ไตรมาส 4 ขาดทุนลดลง เหตุตั้งสำรองรับมือระบาดโควิดจนหมดอายุกรมธรรม์เจอจ่ายจบ เม.ย.65 กว่า 90% แย้มแผนนำบริษัทลูกเข้าตลาดหุ้น

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 นายโอฬาร วงศ์สุรพิเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE ผู้ให้บริการด้านการรับประกันภัยต่อ (Professional Reinsurer) ครอบคลุมทั้งการรับประกันภัยทรัพย์สิน อุบัติเหตุ วิศวกรรม ภัยทางทะเลและการขนส่งสินค้า เปิดเผยว่า ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ต่อบริษัทลดลงอย่างชัดเจนในไตรมาส 4/2564 ส่งผลให้ผลประกอบการในไตรมาส 4/2564 มีผลขาดทุนสุทธิลดลงเหลือ 143 ล้านบาท จากขาดทุนสุทธิในไตรมาส 3/2564 จำนวน 331 ล้านบาท

ทั้งนี้ งวดไตรมาส 4/2564 ผลขาดทุนเกิดจากการตั้งสำรองเพิ่มเติมเพื่อให้รองรับผลกระทบจากการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ที่คาดว่าจะระบาดในช่วงต้นปี 2565 ไปจนหมดอายุกรมธรรม์ประกันภัยโควิด ประเภท เจอ-จ่าย-จบ ในช่วงเดือน เม.ย.65 (ดูตาราง)

ทั้งนี้ ผลกระทบในส่วนของยอดหนี้คงค้างที่บริษัทมีกับบริษัทประกันภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตในไตรมาส 4/2564 และบริษัทประกันภัยคู่ค้าที่อยู่ระหว่างการขอคืนใบอนุญาตในช่วงต้นปี 2565 นั้น บริษัทไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีสาระสำคัญ โดยมีเพียงบริษัทย่อย 1 บริษัท ที่มียอดหนี้คงค้าง และบริษัทย่อยดังกล่าวก็ได้ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญทั้งจำนวนไว้ในงบการเงินรวมนี้แล้ว

THRE ปี’64 ขาดทุนสุทธิ 356 ล้าน

สำหรับผลการดำเนินงานทั้งปี 2564 บริษัทขาดทุนสุทธิรวม 356 ล้านบาท ลดลง 260% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

1.ผลการรับประกันภัยต่อ มีเบี้ยประกันภัยต่อรับ 4,407 ล้านบาท และเบี้ยประกันต่อรับสุทธิ 4,033 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2% โดยยังคงเติบโตต่อเนื่อง จากการขยายตัวในกลุ่มประกันภัยรถยนต์และประกันภัยทรัพย์สินที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น

ส่วนผลการรับประกันภัยต่อขาดทุน 601 ล้านบาท กรณีไม่รวมผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งโดยส่วนใหญ่มาจากค่าสินไหมทดแทนของเบี้ยประกันภัยประเภท เจอ-จ่าย-จบ บริษัทจะมีกำไรจากการรับประกันภัย 279 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีผลกำไร 54 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 417% เนื่องจากผลของมาตรการ lockdown และข้อจำกัดการเดินทาง ที่ทำให้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนของการรับประกันภัยประเภทรถยนต์ลดลง และผลการรับประกันภัยทรัพย์สินที่ปรับตัวดีขึ้น

2. รายได้จากการลงทุน มีรายได้จากการลงทุนสุทธิจำนวน 103 ล้านบาท ลดลง 22% เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้รายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลได้รับลดลง

3. รายได้จากการให้บริการ รายได้จากการให้บริการสุทธิ 53 ล้านบาท ลดลง 16% จากปีก่อน โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างบริษัทย่อย รวมไปถึงผลกระทบของมาตรการ lockdown และข้อจำกัดการเดินทางในสถานการณ์ COVID-19 และการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจากบริษัทประกันภัยที่อยู่ระหว่างขอคืนใบอนุญาตจำนวน 1 ล้านบาท

เข็นบริษัทลูกเข้าตลาดหุ้นไตรมาส 3-4

นายโอฬารกล่าวอีกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) เมื่อวันที่ 22 ก.พ.65 ให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 22 เม.ย.65 เพื่อพิจารณาอนุมัติแผนการออกและเสนอขายหุ้นสามัญที่ออกใหม่ของบริษัท อีเอ็มซีเอส ไทย จำกัด (EMCS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) และการนำหุ้นของ EMCS เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ

ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมความพร้อมคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 3-4 ของปีนี้ โดยบริษัทจะได้ประโยชน์ด้านเงินทุน, การลงทุนในระบบ IT, การขยายธุรกิจไปให้บริการในต่างประเทศ จากจุดแข็งของ EMCS  ด้านเทคโนโลยี และ DATA จากจํานวนลูกค้าที่บริษัททําเคลมปีละไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านเคลม, ด้านเครือข่าย โดยมีอู่ที่ให้บริการกว่า 4,000 อู่ มีโรงพยาบาลเครือข่ายกว่า 400 แห่ง และฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ทําให้การขยายธุรกิจเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

โดยจะดำเนินการให้มีการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ EMCS รวมทั้งการเสนอขายหุ้นสามัญเติมใน EMCS ที่บริษัทถืออยู่บางส่วนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ตามแผนการ Spin-Off โดยสรุปรายละเอียดที่สำคัญดังนี้

1.การออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) เป็นสัดส่วนไม่เกินกว่า 20% ของทุนชำระแล้วทั้งหมดของ EMCS ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก

2.การเสนอขายหุ้นสามัญเดิมใน EMCS ที่บริษัทถืออยู่ต่อประชาชน เป็นสัดส่วนไม่เกินกว่า 15% ของทุนชำระแล้วทั้งหมดของ EMCS ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก

ในราคาเสนอขายและในครั้งเดียวกันกับการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนใน EMCS ให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก ทั้งนี้จะไม่มีการจัดสรรหุ้นไว้เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้น (Pre-emptive Offering) โดยภายหลังจากดำเนินการตามแผนการ Spin-off แล้ว EMCS ยังคงเป็นบริษัทย่อยของบริษัท โดยบริษัทจะถือหุ้นใน EMCS ในสัดส่วน 65% ภายหลังการออกและเสนอขายหันสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก และบริษัทยังคงมีอำนาจควบคุมใน EMCS