Stagflation คืออะไร ? ประเทศไทยมีโอกาสเกิดขึ้นหรือไม่ ?

stagflation คืออะไร

ท่ามกลางวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ในแวดวงการเงินเริ่มมีการพูดถึงคำว่า Stagflation ซึ่งสำหรับคนทั่วไปอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับคำนี้ 

“ประชาชาติธุรกิจ” เปิดความหมายคำศัพท์ทางการเงิน โดยรวบรวมข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญและสถาบันการเงิน ดังนี้

Stagflation มาจาก 2 คำ

นิยามคำว่า Stagflation มาจาก 2 คำ ได้แก่

  1. Stagnation คือ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หรือไม่ขยายตัว
  2. Inflation คือ ระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น

โดยปกติ “Stagflation” จะเกิดขึ้นในภาวะเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพง เช่น การเจอภัยธรรมชาติพืชผลมีราคาแพงขึ้น และมีความเสียหายต่อภาคการผลิต

สถานการณ์ประเทศไทย

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากดูประเทศไทย ในภาวะปัจจุบันมีความใกล้เคียง หรือ คล้ายคลึงกับคำว่า “Stagflation” แม้ว่าไม่ได้เกิดจากความเสียหายภาคการผลิต แต่เกิดจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งไม่ได้เป็นการขาดแคลนพลังงานจนกระทบภาคการผลิต

แต่มีความกังวลว่าราคาพลังงานจะปรับตัวสูงขึ้นหรือแพงขึ้นเป็นเวลานาน จนกระทบ ภาคการผลิต ทำให้ภาคการผลิตแบกรับต้นทุนไม่ไหว และหยุดการผลิต และเมื่อคนผลิตน้อย รายได้คนน้อยลง และราคาสินค้าแพง ส่งผลให้คนประหยัด และหยุดการใช้จ่ายหรือใช้จ่ายน้อยลง ซึ่งกระทบต่อภาคการบริโภคที่จะมีผลต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ และปัญหาจะวนอยู่อย่างนี้แก้ไขยาก

“ไตรมาสที่ 1-3 อัตราเงินเฟ้อน่าจะเกิน 3% แต่เราคงไม่ถึงขนาดสหรัฐ ที่ไประดับ 6-8% เพราะเศรษฐกิจเราเพิ่งจะฟื้นตัว แต่แม้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 3% ถือว่าค่อนข้างเยอะ แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าไตรมาส 4 เงินเฟ้อจะลดลงต่ำกว่า 3% แต่เราไม่รู้ว่าความขัดแย้งไม่รู้จะจบเมื่อไร และหากราคาน้ำมันสูงกว่า 100-120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลไปเรื่อย ๆ ทำให้ภาคการผลิตต้องมาทบทวนแผนกันใหม่”

ไทยเข้าสู่ Stagflation หรือยัง ?

ดร.พชรพจน์ กล่าวว่า หากถามว่าไทยจะเข้าสู่ “Stagflation” 100% หรือยัง มองว่า ยังไม่เห็น แต่เป็นจุดความเสี่ยงเริ่มต้น เนื่องจากราคาพลังงานหรือราคาน้ำมันที่เกินระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล กินเวลาไม่ถึง 1 เดือน จึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามว่าสถานการณ์จะลากยาวและกินเวลานานขนาดไหน ซึ่ง Krungthai COMPASS ได้มีการทำสมมติฐานออกเป็น 3 กรณี ได้แก่

1.กรณีที่สถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนและกลุ่มยุโรปคลี่คลายภายในเดือนมี.ค.นี้ โดยภายในเดือนเม.ย.ราคาน้ำมันปรับลดลงต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะไม่มีปัญหา “Stagflation” เพราะประเด็นเงินเฟ้อที่สูงในไตรมาสที่ 1 และค่อยๆ ปรับลดลง

2.กรณีสถานการณ์ลากยาวนานเกิน 3 เดือน หรือไปถึงไตรมาสที่ 2 จะเห็นอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 3-4 เดือน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาคการผลิตจากราคาพลังงาน ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น โดยจะเริ่มมีผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ได้บ้าง แต่ยังคงเห็นอัตราการเติบโตอยู่ในกรอบ 3% ยังไม่ได้หลุดต่ำกว่า 3%

3.กรณีลากยาวไปในไตรมาสที่ 2-3 หรือกินเวลาราว 6 เดือน และราคาพลังงานสูงเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลต่อเนื่อง ส่งผลเอฟเฟ็กต์ต่อภาคการผลิตทั่วโลก ซึ่งไม่เฉพาะเพียงประเทศไทยเท่านั้น จะส่งผลกระทบต่อจีดีพีไทยขยายตัวต่ำลงเหลือไม่ถึง 3% ซึ่งไทยจะเข้าข่ายใกล้เคียง “Stagflation” มากขึ้น เพราะเกิดภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้น และบางกิจกรรมต้องหยุดการผลิต เพราะผลิตแล้วไม่คุ้มกับต้นทุนที่เกิดขึ้น

“เรายังไม่เจอ Stagflation แบบ 100% เพราะราคาน้ำมันเพิ่งขึ้นไปเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลไม่ถึงเดือน แต่ก็เป็นจุดความเสี่ยงเริ่มต้น เพราะภาคการผลิตถูกระทบช่วงต้น และรัฐบาลมีการรับมือผ่านกองทุนน้ำมัน หรือหากขาดแคลนพลังงานเชื่อว่ารัฐบาลทุกประเทศจะมีพลังงานสำรองที่บริหารจัดการได้”

“แต่หากสถานการณ์ไม่เบาลงในไตรมาส 2 และลากยาวเกิน 3 เดือน ราคาน้ำมันขึ้นและสต็อกสินค้าหมด จะเข้าสู่ Stagflation แต่ผลกระทบไทยคงไม่หนักเท่ายุโรป แต่จะเป็นผลต่อการบริโภคและการใช้จ่ายลดลง โดยในปีนี้เราให้กรอบประมาณการเงินเฟ้ออยู่ที่ 2-3% และจีดีพีอยู่ที่ 2.5-4.5%”

ผู้ว่าแบงก์ชาติยัน ไทยยังไม่ติดกับดัก stagflation

ด้าน ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน “Meet the Press” เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมาว่า ไทยไม่ได้เผชิญภาวะเช่นนั้น เนื่องจากการเกิด stagflation เศรษฐกิจจะต้องไม่ขยายตัว และอัตราเงินเฟ้อสูง แต่ของไทยไม่เข้าข่ายในลักษณะนั้น

โดยจะเห็นว่า อัตราเงินเฟ้อแม้จะขยับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในกรอบประมาณการและยังไม่ได้หลุดกรอบ 1-3% และตอนนี้ก็ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้จะหลุดกรอบ ในกรณีที่เศรษฐกิจไม่โต จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัว โดยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวในระดับ 3.4% ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่ได้เลวร้ายอะไร

“หากถามว่าเราอยู่ในภาวะ stagflation ตอนนี้หรือไม่ ตอบเลยว่า No และถามว่าในอนาคตจะเกิดขึ้นไม่ ก็คงไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น เพราะประมาณการเงินเฟ้อปีนี้ยังอยู่ที่ 1.7% และปีหน้าลดลงมาอยู่ที่ 1.4% และการเติบโตจีดีพียังโตได้ 4.7% ซึ่งไม่ได้สื่อว่าเราติดกับดัก stagflation”