ก.ล.ต.แจ้งเกณฑ์คุม utility token พร้อมใช้ เตรียมเปิดเฮียริ่ง เม.ย. นี้

บิตคอยน์รอวันพังพาบ

ก.ล.ต.เปิดแนวทางผู้ออกเสนอขาย “utility token พร้อมใช้” ที่ประสงค์เข้าจดทะเบียน – ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องยื่นขออนุญาตพร้อมเปิดเผยข้อมูลต่อ ก.ล.ต.ก่อน

วันที่ 21 มีนาคม 2565 นางสาวจอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ก.ล.ต.มีมติเห็นชอบแนวทางการกำกับดูแลโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ในลักษณะพร้อมใช้ (utility token พร้อมใช้)

โดยผู้ออกหลักทรัพย์หรือ issuer ที่มีความประสงค์ที่จะนำ “utility token พร้อมใช้” เข้าไปจดทะเบียน (list) และซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยอาจมีวัตถุประสงค์เพื่อการระดมทุน หรือการซื้อขาย/การลงทุนมากกว่าการใช้สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากโทเคนดิจิทัล จะต้องยื่นขออนุญาตพร้อมกับยื่นเอกสารเพื่อเปิดเผยข้อมูลต่อสำนักงาน ก.ล.ต.

โดยที่เมื่อผู้ออกหลักทรัพย์ เข้ามายื่นขออนุญาตกับทาง ก.ล.ต.จะต้องมีการกำกับดูแลต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ซึ่งรายละเอียดของข้อมูลที่ผู้ออกหลักทรัพย์จะต้องเปิดเผยจะมีลักษณะคล้ายกับไฟลิ่ง (Filing) ซึ่งข้อมูลในเอกสารจะต้องถูกต้องครบถ้วน หากตรวจพบว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง ก.ล.ต.จะมีบทลงโทษตามกฎหมาย

ทั้งนี้สำหรับการเข้ามาขออนุญาตออกหลักทรัพย์ ก.ล.ต.จะแบ่งลักษณะคำขออนุญาตออกเป็น 2 แบบ ได้แก่

1.Fast track คือไม่ต้องรอตามรอบปกติ หรือเรียกว่าอาจจะได้รับพิจารณาเร็วกว่าปกติ ซึ่งก็จะช่วยลดต้นทุนในการออกหลักทรัพย์ให้ถูกลง โดยเหรียญที่เข้าเกณฑ์ Fast track จะต้องเป็นเหรียญที่ไม่มีความซับซ้อน เข้าใจง่าย มีสินค้ารองรับอย่างชัดเจน มีมูลค่าการออกที่เหมาะสมและเป็นเหรียญที่นำมาใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภค

2.Normal track คือการยื่นขอแบบรอเวลาตามปกติ ซึ่งก็จะใช้ต้นทุนในการออกหลักทรัพย์ที่แพงกว่า Fast track โดยเหรียญที่เข้าเกณฑ์ Normal track จะมีลักษณะที่ตรงข้ามกับ Fast track หรือเรียกว่ามีความซับซ้อนมากกว่าก็จะใช้เวลาในการพิจารณาตรวจสอบนานขึ้น

“การที่สำนักงาน ก.ล.ต.ต้องออกแนวทางกำกับดูและการออกเหรียญ utility token พร้อมใช้ เพื่อที่ ก.ล.ต.จะได้เข้ามีอำนาจในการตรวจสอบและดูแล เมื่อเกิดความผิดพลาดของข้อมูลและความไม่ไปร่งใสของผู้ออกหลักทรัพย์ที่อาจจะเป็นการเอาเปรียบผู้ซื้อขายได้ในภายหลัง


ก.ล.ต.จึงใช้การเปิดเผยข้อมูลซึ่งเป็นวิธีที่ตอบโจทย์มากที่สุด โดยทาง ก.ล.ต.จะไม่มีข้อจำกัดในการเข้ามายื่นขออนุญาตและไม่มีจุดประสงค์เพื่อที่จะปิดกั้นนวัตกรรม ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวจะถูกนำไปพิจารณาและพูดคุยกับอีกหลายฝ่ายก่อนจะเปิดฟังความคิดเห็น (Hearing) ในช่วงเดือนเมษายน 2565 นี้” นางสาวจอมขวัญกล่าว