คปภ.เปิดทางประกันผ่อนเคลมโควิด จ่ายดอกเบี้ยลูกค้า 3% แลกพยุงฐานะบริษัท

ประกันโควิด

คปภ.เปิดทางบริษัทขายประกันโควิดเจอจ่ายจบ เจรจาลูกค้าขอ “ผ่อนชำระ” จ่ายค่าสินไหมทดแทนได้ หวังช่วยบรรเทาผลกระทบ “เคลมพุ่ง-พยุงสภาพคล่อง” ให้บริษัทประกัน เผยเงื่อนไขผ่อนชำระได้ไม่เกิน 8 งวด จ่ายดอกเบี้ยขั้นต่ำ 3% ต่อปี ย้ำลูกค้าต้องยินยอม รวมถึงต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อน 31 ส.ค. 2565 นี้

วันที่ 30 มีนาคม 2565 รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ล่าสุด สำนักงาน คปภ.ได้ออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาการผ่อนชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ.2565

โดยเปิดทางให้บริษัทที่ขายกรมธรรม์แบบเจอจ่ายจบ สามารถขอผ่อนผันชำระค่าสินไหมโควิด-19 โดยการทำความตกลงตามความสมัครใจระหว่างบริษัทกับผู้เอาประกันภัย แต่ไม่รวมถึงเงินค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยรายได้ ค่าชดเชยรายวัน หรือค่าชดเชยอื่น ๆ

ทั้งนี้ เพื่อรองรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้บริษัทได้รับผลกระทบจนได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ทั้งปริมาณการเรียกร้องค่าสินไหมจากบริษัทประกันภัยยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาปัญหาในการชดใช้ค่าสินไหมจำนวนที่สูงขึ้น อันอาจส่งผลต่อฐานะการเงินและสภาพคล่องของบริษัท

โดยบริษัทที่ประสงค์จะขอผ่อนผันชำระค่าสินไหมโควิด-19 จะต้องทำความตกลงกับผู้เอาประกันภัย ดังนี้

1.การขอผ่อนชำระสินไหม ต้องทำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ส.ค. 2565 และ 2.การผ่อนชำระต้องไม่เกิน 8 งวด และมีระยะเวลารวมกันไม่เกิน 8 เดือน

ทั้งนี้ ในการผ่อนผันชำระงวดแรก จะต้องมีจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 30% ของจำนวนค่าสินไหมโควิด-19 ที่บริษัทต้องชำระ และ 3.บริษัทต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราไม่ต่ำกว่า 3% ต่อปี ของจำนวนเงินค่าสินไหมที่ขอผ่อนชำระ

ซึ่งหากได้ตกลงกับผู้เอาประกันภัยแล้วให้ถือว่าไม่เป็นการกำหนดวันรับเงินเกินกว่า 15 วันนับแต่วันที่คู่กรณีได้ตกลงกัน แต่หากไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงการผ่อนผันชำระค่าสินไหม COVID-19 หรือจงใจฝ่าฝืนข้อตกลงแห่งสัญญาประกันภัย ให้ถือเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2549 และฝ่าฝืนประกาศ คปภ. เรื่องเงื่อนไขการชดใช้เงิน หรือค่าสินไหมตามสัญญาประกันภัย พ.ศ. 2559

โดยบริษัทต้องจัดทำรายงานความคืบหน้าการผ่อนผันชำระค่าสินไหม และประมาณการเงินสดและสินทรัพย์สภาพคล่องของบริษัทแต่ละเดือน เพื่อให้ คปภ.เข้าตรวจดูได้ และให้จัดทำสำเนารายงานให้แก่ คปภ.ภายใน 15 วันนับแต่วันสิ้นเดือน

นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกฎหมายและคดี คปภ. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประกาศดังกล่าว ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ คปภ.แล้ว ขณะนี้เป็นขั้นตอนการลงนามของประธานกรรมการ คปภ. เพื่อให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งระหว่างนี้บริษัทที่ขายกรมธรรม์แบบเจอจ่ายจบ หากประสงค์จะขอผ่อนผันชำระค่าสินไหมโควิด-19 สามารถเจรจากับลูกค้าเป็นรายบุคคลได้ทันที แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานการยินยอมจากลูกค้า

“แต่ละบริษัทต้องดีลกับลูกค้าว่าจะยินยอมรับข้อเสนอหรือไม่ ซึ่งถ้าบริษัทไหนยอมจ่ายดอกเบี้ยจูงใจมากกว่า 3% ต่อปี หรือลดระยะเวลาผ่อนชำระต่ำกว่า 8 งวด ลูกค้าอาจจะยอมรับข้อเสนอก็ได้” นายอดิศรกล่าว

นอกจากนี้ ล่าสุด คปภ.ยังได้เตรียมออกประกาศ เรื่อง มาตรการสำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมโควิด-19 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2565 เพื่อ 1.ให้บริษัทประกันสามารถนำสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี (deferred tax asset) มาประเมินเป็นสินทรัพย์ของบริษัทได้ตามวิธีการรับรู้และวัดค่าตามที่กำหนดในมาตรฐานบัญชีรับรองทั่วไป และ 2.ยกเว้นไม่ต้องนับรายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีเป็นรายการหักจากเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ

ทั้งนี้ ร่างประกาศนี้ได้รับความเห็นชอบจากบอร์ด คปภ.ไปแล้ว เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอประธานกรรมการบอร์ด คปภ.ลงนาม เพื่อจะให้ใช้บังคับสำหรับรายงานการดำรงเงินกองทุนเดือน มี.ค. 2565 เป็นต้นไป

โดยปัจจุบันยังมีบริษัทประกันรายใหญ่ๆ ที่ขายกรมธรรม์โควิดแบบเจอจ่ายจบ ที่กรมธรรม์ยังมีผลความคุ้มครองอยู่จนถึงกลางปีนี้ อาทิ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย, บมจ.กรุงเทพประกันภัย, บมจ.วิริยะประกันภัย, บมจ.อาคเนย์ประกันภัย และ บมจ.ไทยประกันภัย ซึ่งในจำนวนนี้ บมจ.อาคเนย์ประกันภัย และ บมจ.ไทยประกันภัย อยู่ระหว่างขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยจาก คปภ. หลังจากก่อนหน้านี้ มีบริษัทประกันภัยที่ประกันโควิดเจอจ่ายจบ ต้องปิดตัวไปแล้ว 2 บริษัท ได้แก่ บมจ.เอเชียประกันภัย และ บมจ.เดอะ วัน ประกันภัย

สำหรับภาพรวมกรมธรรม์โควิดสิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค.65 มียอดจ่ายเคลมทั้งระบบ 43,300 ล้านบาท มีเบี้ยประกันภัยรับ 11,000 ล้านบาท จำนวนผู้เอาประกันภัยรวม 41 ล้านราย โดยสิ้นเดือน ก.พ.65 เหลือกรมธรรม์โควิดแบบเจอจ่ายจบที่ยังมีผลคุ้มครองอยู่อีก 6.7 ล้านฉบับ