ธปท.คาดเศรษฐกิจ Q1 โตแต่ไม่หวือหวา จับตา โอมิครอน-สงครามรัสเซีย ใกล้ชิด

ชญาวดี ชัยอนันต์
ชญาวดี ชัยอนันต์

ธปท.ประเมินเศรษฐกิจไตรมาส 1 ฟื้นตัว แต่ไม่หวือหวา จับตาระบาดโอมิครอน-สงคราม “รัสเซียและยูเครน” กระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ-ดันเงินเฟ้อพุ่ง ฉุดการใช้จ่ายในประเทศ คาดไตรมาส 2 เศรษฐกิจยังฟื้นตัวต่อเนื่อง เผยเศรษฐกิจเดือน ก.พ. การส่งออก-การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้น ชี้เงินบาทแข็งค่า แม้ผันผวนยังเกาะกลุ่มเพื่อนบ้าน

วันที่ 31 มีนาคม 2565 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1/65 ภาพรวมจากเครื่องชี้วัดยังคงเห็นการฟื้นตัวต่อเนื่อง ไม่อาจจะไม่หวือหวา หรือเห็นการเด้งขึ้นของเศรษฐกิจมาก เมื่อเทียบไตรมาส 4/64 ที่มีการฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เป็นสิ่งที่ ธปท.คาดการณ์ไว้แล้ว โดยตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 จะมีการคาดการณ์ในการประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting)

ทั้งนี้ หากดูสัญญาณในเดือนมีนาคม พบว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รับแรงกดดันจากการระบาดของโอมิครอน และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูง โดยดูจากเครื่องชี้วัดเร็วตั้งแต่วันที่ 1-24 มีนาคม ข้อมูลจาก Google Mobility ดัชนีชี้วัดหลายตัวปรับลดลง เช่น การเดินทางที่ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน รวมถึงจากการหารือภาคธุรกิจ จะเห็นว่าธุรกิจโดยภาพรวมทรงตัวจากเดือนก่อน โดยบางส่วนยังได้รับแรงกดดันจากการระบาดของโอมิครอน และต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น

“และหากมองต่อไปข้างหน้าในไตรมาสที่ 2 ยังเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่อง หากดูจากการระบาดของโควิด-19 ตามที่ ศบค.คาดการณ์ว่าการจะพีกในช่วงหลังสงกรานต์ และหลังจากนั้นตัวเลขการระบาดจะทยอยปรับลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามใกล้ชิด ทั้งในส่วนของการระบาดของโควิด-19 ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน เพราะส่งผลต่อราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนสินค้าและบริการ โดยจะต้องติดตามการส่งผ่าน แม้ว่าปัจจุบันยังไม่เห็นการกระจายเป็นวงกว้างก็ตาม แต่ยังเป็นประเด็นที่ ธปท.ติดตามใกล้ชิด”

นางสาวชญาวดีกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจและการเงินเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ยังคงมีทิศทางการฟื้นตัว แต่จากการระบาดของโอมิครอนส่งผลกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนได้รับผลกระทบ ทำให้การเติบโตจึงไม่หวือหวา โดยเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจที่ปรับตัวลดลง จะเป็นการบริโภคภาคเอกชนปรับลดลงเล็กน้อยที่ -0.6% จากเดือนก่อน แม้ว่ามีมาตรการภาครัฐเข้ามาช่วยพยุง

เช่น มาตรการคนละครึ่ง เฟส 4 หรือบัตรสวัสดิการ เป็นต้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นที่ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากการระบาดที่รุนแรงขึ้น โดยการบริโภคหมวดสินค้าคงทนปรับลดลง จะเห็นจากยอดขายกลุ่มรถยนต์ที่ปรักหัวลง ซึ่งบางส่วนมาจากการชะลอการตัดสินใจซื้อเพื่อรอนโยบายรัฐเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาพลังงานและอาหารสด โดยสะท้อนผ่านตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนก.พ.ที่อยู่ 5.28% เร่งเพิ่มขึ้นพอสมควร ซึ่งเป็นผลมาจาก 3 ปัจจัย คือ 1.ราคาน้ำมันดิบที่เร่งตัวสูงขึ้น และเทียบกับฐานปีก่อนที่มีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ 2.เงินเฟ้อพื้นฐานที่เร่งขึ้นตามราคาอาหารสำเร็จรูปและราคาน้ำมันปาล์ม และ 3.อาหารสดเร่งขึ้นตามราคาสุกร และจากฐานราคาผักที่ต่ำในปีก่อนทำให้ปีนี้การเติบโตของราคาสูง

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับลดลง -0.9% จากเดือนก่อน ตามการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยจะเห็นการนำเข้าเครื่องมือของภาคเอกชนลดลง สอดคล้องกับความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในภาคการผลิตที่ปรับลดลงจากความกังวลเรื่องของการชะงักงั้นของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption)

ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐไม่รวมเงินโอนขยายตัว 3.4% จากช่วงเดียวของปีก่อน จากการเบิกจ่ายทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยมีการเบิกจ่ายทางด้านการศึกษา และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางถนน และการเบิกจ่ายรัฐวิสาหกิจอาจล่าช้า เนื่องจากมีปัญหาทางด้านตลาดแรงงาน

อย่างไรก็ดี ดัชนีชี้วัดที่ปรับดีขึ้น จะเป็นภาคการส่งออกที่ขยายตัว 0.9% จากเดือนก่อนหดตัว -2.3% ส่วนหนึ่งมาจากอุปสงค์คู่ค้าดีขึ้น โดยหมวดที่ขยายตัวได้ดี คือ เหล็กที่เร่งตัวขึ้นตามการเร่งขายของผู้ประกอบการ หมวดที่เคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันที่ส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนดีขึ้น และหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ สอดคล้องกับภาคการผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น 0.3%

โดยเฉพาะหมวดปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้น้ำมันขนส่งสินค้า ส่งผลต่อไปยังภาคการบริการด้านการขนส่ง และเกี่ยวเนื่องโรงแรมและร้านอาหารปรับดีขึ้น อย่างไรก็ดี ภาพรวมตลาดแรงงานโดยรวมยังคงเปราะบาง

ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยในเดือน ก.พ. มีจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 1.53 แสนคน ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ 1.43 แสนคน โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นทุกสัญชาติ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการกลับมาเปิดลงทะเบียน Test & Go ของภาครัฐตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา

“เศรษฐกิจในเดือน ก.พ.ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว ภาคการส่งออกและการบริการปรับดีขึ้น โดยการใช้จ่ายในประเทศปรับลดลงเล็กน้อยจากความกังวลของการระบาดโอมิครอน โดยเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานและอาหารสด โดยเรายังคงต้องติดตามสงครามรัสเซียและยูเครน จะไปในทางไหน และผลของมาตรการแซงก์ชั่นที่มีอยู่”

นางสาวชญาวดีกล่าวว่า สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยลงอยู่ที่ 0.7 พันล้านดอลลาร์ จากเดือนก่อนอยู่ที่ 2.2 พันล้านดอลลาร์ ตามดุลการค้าที่เกินดุลมากขึ้น ซึ่งสามารถช่วยชดเชยดุลรายได้ บริการ และเงินโอนยังขาดดุลต่อเนื่องจากบริษัทต่างชาติจ่ายเงินปันผลกลับประเทศ

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนในเดือน ก.พ.จะเห็นว่าเฉลี่ยทั้งเดือนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ ปรับแข็งค่าขึ้น หลังมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านระบบ Test & Go อีกครั้งในเดือน ก.พ. รวมถึงปัจจัยทองคำที่มีการเทขายในช่วงที่ราคาปรับขึ้น ทำให้เงินบาทแข็งค่า อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายเดือน ก.พ.เริ่มเห็นเงินบาทอ่อนค่ามาจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน

และหากดูล่าสุด ณ วันที่ 24 มี.ค. แนวโน้มเงินบาทอ่อนค่าเทียบกับดอลลาร์ ซึ่งมาจาก 2 ประเด็น คือ ความกังวลในเรื่องของสงครามรัสเซียและยูเครน ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงปรับลดลง รวมถึงเงินบาท และแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับลดลง ส่งผลให้เกิดความกังวลของนักลงทุน

“ปัจจัยเงินบาทที่มีความผันผวน โดยมีปัจจัยมาจากในประเทศและต่างประเทศ โดยในประเทศจะเป็นเรื่องของพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ค่อนข้างดี ส่วนต่างประเทศมีเรื่องของความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน และจะเห็นว่าบางช่วงมีปัจจัยเรื่องของราคาทองเข้ามา อย่างไรก็ดี หากเทียบความผันผวนของค่าเงินบาทถือว่าไทยยังคงเกาะกลุ่มกับประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่าจะอยู่ในดินแดนสูงอยู่ก็ตาม”