จับสัญญาณธุรกิจเร่งออกหุ้นกู้ ล็อกต้นทุนหนียีลด์พุ่งยกแผง

หุ้นกู้-ธนบัตร

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยชี้สัญญาณธุรกิจรายใหญ่เตรียมออกหุ้นกู้อีกเพียบ เผย 9 เดือนหลังครบดีลอีกกว่า 5 แสนล้านบาท ขณะที่ผ่านมา 1 ไตรมาสต้นทุนออกหุ้นกู้ขยับเพิ่มทุกเรตติ้ง แถมดอกเบี้ยครึ่งปีหลังจ่อปรับขึ้น เชื่อหลายบริษัทตัดสินใจรีบออกหุ้นกู้ล็อกต้นทุนในไตรมาส 2 หนุนทั้งปียอดออกทะลุ 1 ล้านล้านบาท ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และแนวโน้มการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

อาจส่งผลทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ไทยปรับขึ้นด้วย และยังคาดว่าการออกตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือ หุ้นกู้ในปี 2565 จะยังมีมูลค่าเกิน 1 ล้านล้านบาท ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

โดยปัจจุบันตลาดยังสดใส และมีความต้องการ (ดีมานด์) จากนักลงทุนค่อนข้างดี

ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นหลายบริษัทขนาดใหญ่ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เตรียมเสนอขายหุ้นกู้กันมาก อาทิ CPF, KTB, PTT, TIDLOR, IRPC, BTS, TRUE เป็นต้น

โดยช่วงไตรมาส 2-3 จะเป็นช่วงฤดูกาลของการออกหุ้นกู้ หลังมีการประชุมผู้ถือหุ้น

“การระดมทุนผ่านหุ้นกู้เป็นทางเลือกหลักของภาคเอกชน และปีนี้พิเศษเป็นจังหวะดอกเบี้ยในครึ่งปีหลังมีโอกาสปรับขึ้น จึงจะเห็นสัญญาณผู้ออกหุ้นกู้ตัดสินใจล็อกต้นทุนดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งน่าจะเป็นจังหวะที่ยังเหมาะสม”

สำหรับช่วง 9 เดือนที่เหลือของปีนี้ (เม.ย.-ธ.ค. 2565) จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดรวมมูลค่า 566,571 ล้านบาท แยกเป็น ไตรมาส 2 จำนวน 221,061 ล้านบาท ไตรมาส 3 จำนวน 160,874 ล้านบาท และไตรมาส 4 อีก 168,964 ล้านบาท

โดยสัดส่วนเกือบ 50% อยู่ใน 3 ธุรกิจหลัก คือ 1.อสังหาริมทรัพย์ราว 20% 2.สถาบันการเงิน 17% และ 3.พลังงาน 10%

ขณะที่ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา มีมูลค่าการออกหุ้นกู้ไปแล้ว 268,746 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 45% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ถือว่าค่อนข้างสูงและสามารถกลับไปใกล้เคียงช่วงปี 2562

ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ระดับลงทุน (investment grade) มูลค่า 245,527 ล้านบาท ที่เหลือเป็นหุ้นกู้ต่ำกว่าระดับลงทุน (high yield) มูลค่า 23,219 ล้านบาท แต่การออกหุ้นกู้กลุ่มหลังนี้มีแนวโน้มลดลง สะท้อนได้จากผลกระทบโควิด-19 ทำให้หลายบริษัทต้องปรับโครงสร้างหนี้และยืดหนี้ออกไป

ต้นทุนผู้ออกหุ้นกู้ขยับขึ้นทุกเรตติ้ง

นางสาวอริยากล่าวว่า ในมุมต้นทุนผู้ออกหุ้นกู้ ณ สิ้นไตรมาส 1/2565 พบว่าเริ่มปรับตัวสูงขึ้นทุกเรตติ้งจากสิ้นปีก่อน

โดยเรตติ้ง “BBB” เพิ่มขึ้นที่ 4.57% จาก 4.53%, “BBB+” อยู่ที่ 4.35% จาก 4.21%, “A” อยู่ที่ 2.78% จาก 2.62%, “AA” อยู่ที่ 2.48% จาก 2.10% และ “AAA” อยู่ที่ 2.13% จาก 1.85% ส่วนต้นทุนผู้ออกหุ้นกู้กลุ่มไฮยีลด์เฉลี่ยที่ 5-8%

ส่วนทิศทางเงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ในตลาดบอนด์ ตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 5 เม.ย. 2565 ต่างชาติยังซื้อสุทธิบอนด์ไทยอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ทิศทางฟันด์โฟลว์ในระยะข้างหน้า อาจไม่เห็นเงินเข้าไหลมากเหมือนปีก่อน แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปด้วย

นางสาวอริยากล่าวอีกว่า สำหรับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปีนี้ คาดว่าจะยังคงดอกเบี้ยไปจนถึงสิ้นปี เนื่องจาก กนง.ต้องทำให้ดอกเบี้ยอยู่ในระดับไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางด้านเศรษฐกิจ แต่ทั้งนี้ อยู่ภายใต้สมมุติฐานที่ไม่มีสถานการณ์รุนแรง

เช่น ราคาน้ำมันกระชากขึ้นไปแรง เงินเฟ้อคุมไม่อยู่ หรือเฟดขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.50% ทุกรอบ ซึ่งจะกดดันฟันด์โฟลว์ไหลออก

ฉะนั้นในช่วงปลายปี อาจทำให้ กนง.ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยก็ได้ แต่คงยังไม่เกิดจนกว่าจะถึงช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้

สำหรับภาพรวมมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทยปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ 3-4% จากสิ้นปี 2564 ที่อยู่ที่ 14.98 ล้านล้านบาท โดยสิ้นไตรมาส 1/2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว 1.3% มาอยู่ที่ 15.18 ล้านล้านบาท ซึ่งพันธบัตรรัฐบาลมีอัตราการโตเร็วสุด จากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่มีการกู้เงินตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด รวมถึงการกู้ชดเชยขาดดุลงบประมาณ

ส่วนหุ้นกู้เอกชน ณ สิ้นไตรมาส 1/2565 มีมูลค่าคงค้าง 4.21 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.7% ในจำนวนนี้เกินกว่า 90% เป็นหุ้นกู้ระยะยาว (อายุมากกว่า 1 ปี) ถือครองโดยนักลงทุนบุคคลมากสุด หรือเกินกว่า 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 34.5%


รองลงมาคือ บริษัทประกันภัยสัดส่วน 18.6% กองทุนเพื่อการออมระยะยาวประมาณ 13% กองทุนรวมประมาณ 11% สหกรณ์ประมาณ 10.8% และสถาบันการเงินอีก 6%