นักลงทุนกังวล ‘สงคราม-เงินเฟ้อ’ ฉุด AUM กองทุนต่างประเทศร่วง

เงินเฟ้อ

ความกังวลอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัว ซ้ำเติมด้วยภาวะสงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” ที่ยืดเยื้อ เป็นแรงกดดันฉุดการลงทุนให้ผันผวนและทำให้ผลตอบแทนหลายกองทุนทั่วโลกติดลบ ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (AUM) กองทุนต่างประเทศ (FIF) ลดลง

โดยข้อมูลจาก มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) มี AUM อยู่ที่ 1.1 ล้านล้านบาท ลดลง 8.4% จากสิ้นปี 2564

จากทุกประเภทกองทุนมีมูลค่าทรัพย์สินหดตัวลง เกิดจากผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุนตราสารทุน (หุ้น) ที่เป็นกลุ่มหลักส่วนใหญ่ติดลบ ทั้ง Global Equity, China Equity, Global Technology รวมทั้งมีเม็ดเงินไหลออกสุทธิ โดยเฉพาะกลุ่มตราสารหนี้ต่างประเทศ

ทั้งนี้ กองทุนที่มีผลตอบแทนสะสมตั้งแต่ต้นปี (YTD) ติดลบมากที่สุดในบรรดากอง Global Equity ได้แก่ กองทุน KFINNO-A ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงศรีที่ -33.81% ส่วนกอง China Equity ติดลบมากสุดคือกองทุน TCHTECH-A

จาก บลจ.ทิสโก้ที่ -25.65% และกอง Global Technology ติดลบมากสุดคือกองทุน WE-CYBER จาก บลจ.วีที่ -30.54% ขณะที่กองตราสารหนี้ต่างประเทศที่มีเงินไหลออก ผลตอบแทนติดลบมากสุดคือกองทุน AIA-DFI จาก บลจ.เอไอเอที่ -9.59% (ดูตาราง)

“ชวินดา หาญรัตนกูล” กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) กล่าวว่า ปัจจัยลบที่กระทบตลาด มีอยู่ 2 เรื่องหลัก คือ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และสงครามรัสเซียกับยูเครน

เพราะฉะนั้น AUM ที่หดตัวลงเกิดจากผลตอบแทนกองทุนหุ้นต่างประเทศที่ติดลบและปรับฐานลง รวมถึงกองทุนตราสารหนี้ซึ่งเป็นอีกกองทุนที่ติดลบและส่งผลให้ภาพใหญ่ของกองทุนมีมูลค่าลดลง

ทั้งนี้ แม้จะยังมีบางกองทุนที่ผลตอบแทนเป็นบวกอยู่ แต่ก็ไม่สามารถจะทดแทนได้ เนื่องจากกองทุนไม่ได้มีขนาดใหญ่พอที่จะทดแทนภาพรวม AUM ที่หายไปของตลาดส่วนใหญ่ได้

อย่างเช่น กองทุนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์, พลังงาน และทองคำ อย่างไรก็ตามยังคงเห็นเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนในกองทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่นักลงทุนก็จะลดสัดส่วนลงทุนในกองที่เคยปรับตัวดีขึ้นมามากแล้ว และมีความสำคัญกับประเด็นเงินเฟ้อ

“ในภาวะที่มีสงครามรัสเซียกับยูเครนซึ่งอาจจะยืดเยื้อ และดอกเบี้ยที่มีโอกาสปรับตัวขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ ฉะนั้นกองทุนจะยังคงมีความผันผวนเป็นช่วง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการดึงสภาพคล่องออกจากระบบ (QT) ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น

โดยการใช้นโบายการเงินแบบตึงตัวอาจจะกระทบต่อตลาดในประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วมากกว่าตลาดในฝั่งตลาดเกิดใหม่ อย่างตลาดหุ้นเอเชีย จึงยังเป็นตัวเลือกที่น่าลงทุน ซึ่งนักลงทุนอาจจะต้องประเมินว่า จะลงทุนเมื่อตลาดปรับฐานหรือค่อย ๆ ทยอยลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเอง” นางชวินดากล่าว

ฟาก “พีรพงศ์ จิระเสวีจินดา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง (BBLAM) กล่าวว่า AUM กองทุนที่หดตัวลงสะท้อนถึงราคาหุ้นต่างประเทศที่ปรับตัวลง โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี, กลุ่มนวัตกรรมที่ราคามีการปรับฐานลงมา

เนื่องจากช่วงต้นปีมีความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งตลาดรับรู้ไปแล้ว และมาซ้ำเติมด้วยภาวะสงครามรัสเซียที่บุกยูเครน ทำให้ช่วงเดือน มี.ค.ตลาดหุ้นทั่วโลกมีการปรับตัวลง โดยเฉพาะดัชนี NASDAQ ที่ปรับลงมาถึง 20% ในขณะนั้น

“AUM กองทุนที่หดตัวลงไม่ได้สะท้อนว่าเงินลงทุนไหลออกจากการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ยังคงเห็นเม็ดเงินลงทุนทยอยเข้าในหลายกองทุน เพียงแต่บรรยากาศ (sentimant) การลงทุนของนักลงทุน อาจชะลอลง เนื่องจากนักลงทุนใช้ความระมัดระวังมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อประเมินสถานการณ์

ส่วนช่วงไตรมาส 2 เชื่อว่ายังเป็นโอกาสที่นักลงทุนจะทยอยซื้อได้ เนื่องจากมองว่าตลาดรับรู้ความเสี่ยงไปมากพอแล้ว และ AUM คงจะไม่หดตัวลงเพิ่มจากนี้ หากไม่ได้มีปัจจัยที่เข้ามาเซอร์ไพรส์ ตลาดน่าจะค่อย ๆ ปรับตัวขึ้น เพราะเศรษฐกิจโดยรวมยังเติบโตขึ้นจากการทยอยเปิดประเทศ ถึงแม้อาจจะเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้แต่ไม่ถึงขั้นถดถอย”

ทั้งนี้ สำหรับกองทุนต่างประเทศที่น่าสนใจ “พีรพงศ์” มองว่า ยังเป็นกองหุ้นจีน เนื่องจากราคาไม่แพง รวมถึงกองหุ้นเทคโนโลยีในสหรัฐที่ปรับตัวลงมามากแล้ว แต่ต้องเลือกลงทุนในหุ้นเทคโนโลยี “บิ๊กแคป” ที่กำไรเติบโตดีด้วย