แบงก์รัฐโหมปล่อยกู้ อุ้มสภาพคล่อง ‘ฐานราก-SME’

แบงก์รัฐ

แบงก์รัฐโชว์ผลงานปล่อยสินเชื่อไตรมาสแรก เติมสภาพคล่องกลุ่ม “ฐานราก-เอสเอ็มอี” ลุยแก้หนี้ยั่งยืน “ออมสิน” ปล่อยกู้สร้างงานสร้างอาชีพแล้ว 3 หมื่นราย “EXIM Bank” อวดยอดสินเชื่อคงค้างสูงเป็นประวัติการณ์ ฝ่าปัจจัยลบสงคราม “รัสเซีย-ยูเครน”

ขณะที่ “SME D Bank” ขยับเป้าสินเชื่อทั้งปีสูงขึ้นเป็น 6 หมื่นล้านบาท ฟาก “ธอส.” ปล่อยกู้บ้านคนมีรายได้ “น้อย-ปานกลาง” พุ่ง 33.21%

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า สถานการณ์ปล่อยสินเชื่อของธนาคารในไตรมาสแรกของปี 2565 ยังเป็นไปตามเป้าหมาย โดยเน้นให้สินเชื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับประชาชน และสนับสนุนการสร้างงานสร้างอาชีพ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เน้นในช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย. 2565 จะเป็นการมุ่งแก้ไขหนี้ตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องการแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืน

“ออมสินได้อนุมัติสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ หรือให้เงินทุนไปแล้ว 1,447 ล้านบาท รวมประมาณ 30,000 ราย โดยเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ธุรกิจขนาดเล็ก ร้านค้าปลีกค้าส่ง โชห่วย ผู้ขับรถแท็กซี่/รถตู้สาธารณะ ค้าขายสินค้าออนไลน์ รวมถึงร้านค้าธุรกิจแฟรนไชส์ และมีการให้ทักษะหรือฝึกอบรมอาชีพกว่า 15,000 รายแล้ว”

เอ็กซิมแบงก์โชว์ยอดสินเชื่อสะสม SME กว่า 3.5 หมื่นล้าน

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) กล่าวว่า ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2565 ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้าง 150,621 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.06% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นยอดสินเชื่อคงค้างไตรมาส 1 ที่สูงเป็นประวัติการณ์

แม้สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ปะทุขึ้น โดยเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกประกอบกับการทำงานร่วมกันของภาครัฐและภาคเอกชนในการช่วยให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัวและค้าขายระหว่างประเทศได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 4,307 ล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL ratio) อยู่ที่ 2.86% และมีกำไรสุทธิประมาณ 400 ล้านบาท

“ในจำนวน 150,621 ล้านบาทดังกล่าวเป็นยอดสินเชื่อคงค้างของเอสเอ็มอีกว่า 35,306 ล้านบาท สูงขึ้น 15.40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน ซึ่งจำนวนลูกค้าเอสเอ็มอี คิดเป็นสัดส่วน 82.86% ของลูกค้าธนาคารทั้งหมด

ขณะที่ปริมาณธุรกิจด้านรับประกันการส่งออกและการลงทุน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทย อยู่ที่ 53,164 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน”

SME D Bank ปล่อยกู้ไตรมาสแรกเกือบแตะเป้าหมาย

น.ส.นารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า ยอดปล่อยสินเชื่อของธนาคารเป็นไปตามแผน โดยไตรมาสแรกปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 15,000 ล้านบาท แต่ข้อมูล ณ เดือน ก.พ. สามารถปล่อยสินเชื่อได้แล้วกว่า 14,900 ล้านบาท

ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท. รวมกว่า 5,423 ล้านบาท ถือว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก หากเทียบจากทั้งปี 2564 ปล่อยไปได้ 5,000 ล้านบาท และยังมีสินเชื่อรีสตาร์ตภูเก็ต ที่เพิ่งเริ่มดำเนินการ โดยเน้นอัดฉีดธุรกิจท่องเที่ยวภาคใต้

“เป้าการปล่อยสินเชื่อของแบงก์ในปีนี้ อยู่ที่ 53,000 ล้านบาท แต่เราจะทำให้ได้ 60,000 ล้านบาท ซึ่งทิศทางก็ถือว่าเป็นไปตามที่เราคาด เพราะในช่วงไตรมาสแรกทำได้เกือบ 15,000 ล้านบาทแล้ว และคาดว่าในช่วงไตรมาสหลัง ๆ การปล่อยสินเชื่อก็น่าจะดีขึ้นกว่านี้

เพราะคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เปิดให้เราขยับขนาดวงเงินให้สามารถปล่อยสินเชื่อได้สูงสุดถึง 50 ล้านบาท จากเดิมถูกจำกัดไว้ที่ 15 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนที่เราเข้าไปช่วยผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ตามนโยบายของรัฐบาลด้วย”

น.ส.นารถนารีกล่าวด้วยว่า ด้านสถานการณ์ NPL ยังอยู่ระดับที่ดี หากไม่รวมหนี้เก่าก่อนที่จะเข้าแผนฟื้นฟู โดยขณะนี้มี NPL อยู่ที่ 14% มูลค่า 14,350 ล้านบาท แต่เป็นหนี้เก่ากว่า 9,000 ล้านบาท ส่วนหนี้ใหม่อยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท

ซึ่งหากเทียบกับสัดส่วนหนี้แล้ว NPL ก็มีประมาณ 6-7% ของพอร์ต ก็อยู่ในระดับทั่วไปที่ธนาคารควบคุมอยู่ หากสามารถแก้ปัญหาหนี้เก่าได้ โดยขณะนี้ธนาคารก็ดำเนินตามมาตรการแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืนของ ธปท. ซึ่งมีการเข้าไปดูแลลูกหนี้ ทั้งการแฮร์คัตหนี้ ปรับโครงสร้างการชำระหนี้ เป็นต้น

ธอส.หนุนคนมีบ้าน ลั่นตรึงอัตราดอกเบี้ยเดิมถึงสิ้นปี

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ผลการดำเนินงาน ธอส.ในไตรมาส 1 ของปี 2565 สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 62,408 ล้านบาท 50,024 บัญชี เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 33.21%

เป็นสินเชื่อปล่อยใหม่วงเงินกู้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง คิดเป็นสัดส่วน 74.47% ของจำนวนลูกค้าใหม่ทั้งหมด ซึ่งคาดว่าในปีนี้ ธอส.จะสามารถปล่อยได้มากกว่า 2.7 แสนล้านบาท

ส่วน NPL อยู่ที่ 57,510 ล้านบาท คิดเป็น 3.86% ของสินเชื่อรวม ลดลงจากสิ้นปี 2564 ที่ NPL อยู่ที่ 4% โดยมีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพื่อเตรียมพร้อมรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตที่ 115,659 ล้านบาท เป็นสัดส่วนต่อ NPL 201.17% และยังมีกำไรสุทธิ 3,492 ล้านบาท

“ทิศทางในการดำเนินการระยะต่อไป แม้ทิศทางดอกเบี้ยอยู่ในภาวะขาขึ้น แต่ ธอส.มีแนวทางที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยบ้านไว้จนถึงสิ้นปี ตามนโยบายของรัฐ เพื่อสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยและบรรเทาภาระการผ่อนชำระหนี้ด้วย” นายฉัตรชัยกล่าว