แบงก์ปรับเกมปล่อยสินเชื่อบ้าน เลิกฟิกซ์ดอกเบี้ยเกิน 3 ปี ลดภาระต้นทุนขาขึ้น

บ้านมือสอง

แบงก์ปรับเกมสินเชื่อบ้านตั้งรับดอกเบี้ยขาขึ้น ประสานเสียงเลิกล็อก ดอกเบี้ยคงที่มากกว่า 3 ปี หั่นเหลือไม่เกิน 1-2 ปี ลดภาระต้นทุน

“กรุงศรี” เผยสินเชื่อบ้านไตรมาสแรกพุ่งจากความกังวลบ้านปรับราคาขึ้นเดือน เม.ย.นี้ พร้อมจับตาหวั่นกระทบตลาดที่กำลังฟื้นชะงักชั่วคราว “ซีไอเอ็มบี ไทย” ชี้หมดยุคดอกเบี้ยต่ำสุดแล้ว ฟาก “กสิกรไทย” กลับมาโฟกัสปล่อยสินเชื่อบ้าน มุ่งเจาะกลุ่มรายได้ 5 หมื่นบาท/เดือนขึ้นไป

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเมินคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปีจนถึงสิ้นปีนี้ และจะปรับขึ้นในปี 2566

ดังนั้น แนวโน้มการล็อกดอกเบี้ยคงที่ไว้นานอาจจะไม่เหมาะสมเพราะเป็นต้นทุน จึงจะเห็นธนาคารปรับรูปแบบอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับตลาด โดยจะเห็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแรกน้อยลง

โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาสแรกที่ผ่านมา คาดว่าขยายตัวไม่น้อยกว่า 5-10% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลมาจากสัญญาณการปรับขึ้นราคาบ้านในเดือน เม.ย. จากต้นทุนก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นทำให้มียอดการโอนล่วงหน้า หนุนยอดสินเชื่อ

ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2 จากภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ราคาบ้านที่ปรับขึ้นอาจเป็นปัจจัยทำให้ตลาดชะงักชั่วคราวได้ ส่วนไตรมาส 3-4 อาจจะต้องดูปัจจัยสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนจะลากยาวหรือไม่

“ภาพรวมสินเชื่อบ้านในปีนี้น่าจะเป็นปีที่ดีมานด์กลับมา เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาปัญหาอยู่ที่ดีมานด์ไม่มี คนไม่มีรายได้ ซึ่งเราคาดว่าปีนี้สินเชื่อน่าเติบโตไม่น้อยกว่า 5%

โดยมียอดสินเชื่อใหม่อยู่ที่ 6.4-6.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ 6.21 แสนล้านบาท แต่ปัจจัยที่ต้องตามต่อ คือ ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าด้วย” นายณัฐพลกล่าว

เน้นแคมเปญมากกว่าแข่งลดดอกเบี้ย

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่า ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาส 1/2565 ขยายตัวได้ดี โดยคาดว่าทั้งปีสินเชื่อทั้งระบบน่าจะสามารถเติบโตได้ราว 5-6% ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ขยายตัวในระดับ 3-4%

อย่างไรก็ดี แม้ว่าบรรยากาศและกำลังซื้ออยู่ในช่วงฟื้นตัว แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง โดยทิศทางอัตราดอกเบี้ยอาจจะเริ่มเห็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ซึ่งจะมีผลต่อดอกเบี้ยขาขึ้น

“ทิศทางสินเชื่อบ้านอาจเห็นสถาบันการเงินให้สินเชื่อดอกเบี้ยคงที่เป็นเวลาที่สั้นลง เช่น จากเดิมคงที่ 3 ปี อาจจะเหลือแค่ 1-2 ปี หรือพิจารณาตามรายลูกค้า เพราะแนวโน้มดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นจะเป็นภาระต้นทุนให้ธนาคารเพิ่มขึ้น

เนื่องจากธนาคารต้องระดมทุนผ่านเงินฝากที่ดอกเบี้ยจะปรับตามดอกเบี้ยนโยบาย อาทิ เดิมคิดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.6% อาจจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2.85% โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อยชั้นดี (MRR) เฉลี่ยอยู่ที่ 6-7%”

ดังนั้น การแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย คาดว่าจะเห็นการเล่นแคมเปญอย่างอื่นมากกว่าการแข่งขันด้านอัตราดอกเบี้ย เพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยถือว่าอยู่ในจุดต่ำสุดแล้ว เช่น ให้ลูกค้าอยู่ฟรี 12 เดือน ฟรีค่าโอน-จดจำนอง หรือให้บัตรสมนาคุณ เป็นต้น

นายเอกสิทธิ์กล่าวว่า สำหรับสินเชื่อบ้านของธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ในไตรมาส 1 ยอดสินเชื่อใหม่เติบโตกว่าเป้าหมาย 15% อยู่ที่ 5,800 ล้านบาท จากเป้าที่อยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งตั้งเป้าว่าสินเชื่อคงค้างในสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 9.5 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 9.1 หมื่นล้านบาท

“แม้ว่า ธปท.จะพยายามอั้นดอกเบี้ยไว้ไม่ได้ปรับขึ้นตามดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แต่เชื่อว่าอย่างเร็วอาจเห็นปรับขึ้นภายในไตมาส 4 ปีนี้ หรืออย่างช้าภายในไตรมาส 1 ปีหน้า

โดยดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านระดับต่ำน่าจะสิ้นสุดลงและทยอยปรับขึ้นหลังจากแข่งขันรุนแรง จนเรียกว่าดอกเบี้ยอยู่ในจุดต่ำสุด โดยดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านใหม่เฉลี่ย 2.6-2.8% สินเชื่อรีไฟแนนซ์ 2.39%

แต่โดยเฉลี่ยทุกเซ็กเมนต์จะอยู่ที่ราว 3% ขณะที่ดอกเบี้ยคงที่ในตลาดจะเห็นสั้นลง จากเดิม 3 ปี อาจจะเหลือไม่เกิน 1-2 ปี ขึ้นกับลูกค้าแต่ละราย” นายเอกสิทธิ์กล่าว

ดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแรก ค่อย ๆ หายไปเหลือคงที่ 2 มากขึ้น

นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า หลังจากนี้ อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านคงที่ 3 ปีแรกอาจจะไม่ค่อยเห็นในระบบแล้ว โดยจะเริ่มเห็นดอกเบี้ยคงที่ 2 ปีมากขึ้น

เพื่อกำหนดไม่ให้ดอกเบี้ยแกว่งมากเกินไป ซึ่งสำหรับธนาคารกสิกรไทยจะมีอัตราดอกเบี้ยงคงที่ 3-6 เดือน และหลังจากนั้นจะเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว อิงกับอัตราดอกเบี้ย MRR หรือดอกเบี้ยรายใหญ่ชั้นดี (MLR)

ทั้งนี้ ในเดือน เม.ย.นี้ธนาคารจะกลับมาปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น หลังจากชะลอปล่อยสินเชื่อไปในช่วงปลายปีที่แล้วและไตรมาส 1 ที่ผ่านมา โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายลูกค้าระดับกลางและบนที่มีรายได้ตั้งแต่ 5 หมื่นบาทต่อเดือน

ทั้งนี้ คาดว่าทั้งระบบสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะกลับมาขยายตัวได้ในระดับ 3-5% จากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมายอดสินเชื่อเติบโตติดลบ

“สินเชื่อบ้านน่าจะกลับมาเติบโตได้ ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนราคาวัสดุก่อสร้างที่เร่งตัวสูงขึ้น 5-10% จะทำให้คนเร่งตัดสินใจซื้อก่อนที่ราคาขึ้น แต่ดอกเบี้ยฟิกซ์ 3 ปีแรกอาจจะไม่ค่อยมีให้เห็นในตลาด” นายชัยยศกล่าว