ธปท.ห่วงบาทอ่อนกระทบเงินเฟ้อ ซ้ำเติมปัญหาค่าครองชีพ

เงินบาท

ธปท.เผยเงินบาทอ่อนค่า 2.5% เหตุสงครามรัสเซียรุนแรง-เฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง” ลั่น เกาะติดใกล้ชิด ยอมรับห่วงกระทบเงินเฟ้อ ซ้ำเติมปัญหาต้นทุน-ค่าครองชีพแพง

วันที่ 29 เมษายน 2565 นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มเงินบาทเมื่อเทียบดอลลาร์ในเดือนมีนาคม-เมษายนอ่อนค่าลง และหากนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันพบว่าอ่อนค่าลงราว 2.5% มาจากปัจจัยภายนอกในเรื่องของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีความรุนแรงขึ้น

และนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศหลัก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงกว่าคาด รวมถึงความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีนที่นักลงทุนมีความกังวลในเศรษฐกิจจีน

อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่าที่ระดับ 2.5% ยอมรับว่าอ่อนค่าจริง แต่เป็นการอ่อนค่าในระดับกลางๆ เมื่อเทียบสกุลเงินในภูมิภาค ซึ่งธปท.ยังคงติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าการผันผวนของค่าเงินเป็นไปตามปัจจัยพื้นฐาน และการผันผวนนั้นไม่กระทบต่อกิจกรรมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และไม่ส่งต่อแรงกดดันไปสู่อัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ธปท.มีความกังวลหากเงินบาทอ่อนค่าจนกระทบต่อต้นทุน และส่งต่อไปยังเงินเฟ้อ ซึ่งจะเป็นปัจจัยซ้ำเติมเรื่องของราคาพลังงานและค่าครองชีพที่เป็นปัญหาอยู่ในตอนนี้

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจของค่าเงินบาทนั้น มองว่า ผลต่อเศรษฐกิจไม่เยอะมาก หากดูภาคการส่งออกและนำเข้าปัจจุบันยังคงขยายตัวได้ แต่อาจจะกระทบต่อผู้ส่งออกและนำเข้า โดยผู้ส่งออกจะได้สภาพคล่องในรูปของเงินบาทมากขึ้น แต่จะกระทบจากการนำเข้า ซึ่งอาจจะน้ำมาสู่ปัญหาเงินเฟ้อ โดยธปท.ได้เตรียมเครื่องมือรองรับและติดตามการผันผวนของค่าเงินไม่ให้กระทบการฟื้นตัวและไม่ผ่านไปสู่เงินเฟ้อ ซึ่งปัจจุบันยังไม่เห็นการส่งผ่านดังกล่าว

“ภาพเศรษฐกิจกับเงินบาทอ่อนโดยรวมน่าจะ Net แต่สิ่งที่เรากังวล คือ บาทอ่อนมากจะมากระทบเรื่องต้นทุนและ Pass on ไปสู่เงินเฟ้อ และมาซ้ำเติมปัญหาเรื่องของราคาพลังงานที่สูงและต้นทุนที่มีเยอะอยู่แล้ว ซึ่งเราติดตามใกล้ชิด และผู้ประกอบการควรป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนผ่านการทำ Hedging”

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในเดือนมีนาคมอยู่ที่ 5.73% ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมาจาก 2 ปัจจัย คือ 1.ราคาพลังงาน โดยการเพิ่มของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ และ 2.เงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น ซึ่งหากดูการเพิ่มขึ้นจากมาจากราคาอาหารสำเร็จรูป ส่วนราคาอาหารสดในเดือนนี้ปรับลดลงเล็กน้อยหลังจากเพิ่มขึ้นในเดือนก่อนหน้า โดยภาพรวมเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาจากปัจจุยอุปทาน

อย่างไรก็ดี ปัจจัยเงินเฟ้อยังเป็นประเด็นที่ธปท.จับตาดูใกล้ชิด รวมถึงติดตามการปล่อยลอยตัวของราคาน้ำมันดีเซล จะมีผลต่อราคาและดีมานด์อย่างไร แต่ธปท.ยังประเมินว่าเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 2 และ 3 ยังคงสูงกว่า 5% ก่อนจะปรับลดลงในไตรมาสที่ 4

นายสักกะภพ กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับภาวะเศรษฐกิจเดือนมีนาคมชะลอตัวจากอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยการบริโภคภาคเอกชนปรับลดลงสอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ย่อตัวลงจากเดือนก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนปรับลดลง -0.9% จากเดือนก่อน หากดูหมวดที่ปรับลดลงจะเป็นสินค้าคงทนจากยอดจำหน่ายรถยนต์ และยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับลดลง -0.4% จากเดือนก่อน จากหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ก่อสร้าง สอดคล้องกับความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ปรับลดลง รวมถึงราคาวัสดุอุปกรณ์ที่เร่งสูงขึ้น ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐไม่รวมเงินโอนหดตัวเล็กน้อยจากระยะเดียวกันของปีก่อน ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาล โดยรายจ่ายลงทุนของรัศวิสาหกิจปรับดีขึ้น 75.9% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากมีการเร่งเบิกจ่ายด้านคมนาคม

สำหรับเครื่องชี้วัดที่เป็นบวก ได้แก่ ภาคการส่งออกปรับตัวดีขึ้นตามอุปสงค์ในต่างประเทศของเศรษฐกิจคู่ค้า โดยการส่งออกมีอัตราการเติบโต 18.9% และหักไม่รวมทองคำอยู่ที่ 8.9% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากดูเดือนมีนาคมขยายตัว 1.4% เทียบเดือนก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตร ยานยนต์ และโลหะที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การนำเข้าได้เร่งตัวขึ้นเช่นเดียวกัน

โดยภาคการผลิตอุตสาหกรรมแผ่วลงเล็กน้อยจากอยู่ที่ -0.9% จากเดือนก่อนหน้า โดยหมวดที่ชะลอ ได้แก่ หมวดชิ้นส่วน แผงวงจร ซึ่งมาจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบเป็นสำคัญ

และหากดูกิจกรรมภาคการบริการปรับลดลงจากภาคการค้า แต่จะเห็นว่าภาคโรงแรมและร้านอาหารทยอยปรับดีขึ้น จากมาตรการผ่อนคลายการควบคุมการระบาดของโควิด-19 สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับดีขึ้นทุกสัญชาติ ยกเว้นรัสเซีย และยุโรปกลางจากปัญหาสงคราม โดยเดือนนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 2.10 แสนคน ซึ่งส่งผลให้กลุ่มอาชีพอิสระปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดแรงงานตามประกันสังคมปรับดีขึ้นบ้าง แต่ยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ทำให้โดยรวมตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง

ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนมีนาคมกลับมาเกินดุลเป็นบวกอยู่ที่ 1.2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลมาจากดุลการค้าเกินดุลมากขึ้นอยู่ที่ 5.2 พันล้านดอลลาร์ มาจากการเร่งส่งออกทองคำ ขณะที่ดุลบริการและเงินโอนขาดดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อนอยู่ที่ -3.9 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนมีนาคมเป็นบวกอยู่ที่ 0.9 พันล้านดอลลาร์

“เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจเดือนมี.ค.เกือบทุกตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4/64 ปรับดีขึ้น แต่มีเรื่องการบริโภคเอกชนที่แผ่วลงบ้างจากอุปสงค์ในประเทศ แต่อุปสงค์จากต่างประเทศยังคงดีอยู่ ทำให้เป็นบวกต่อภาคการส่งออก โดยภาพรวมไตรมาส 1 ยังอยู่ในเรื่องของการฟื้นตัว ขณะที่แนวโน้มในเดือนเม.ย.กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับดีขึ้นตามมาตรการผ่อนคลายโควิด แต่มีเรื่องของเงินเฟ้อที่ยังคงต้องติดตาม และค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการระบาดโควิดในจีนที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย