หุ้นกู้ ทางเลือกลงทุนยุคดอกเบี้ยขาขึ้น

ธุรกิจ-เงิน-หุ้นกู้

ในปี 2565 ภาคธุรกิจยังคงนิยมแห่ออกหุ้นกู้กันอย่างต่อเนื่อง แต่ผลพวงจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้ม “ขาขึ้น”  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการออกหุ้นกู้ของบริษัทต่าง ๆ อย่างไรและหุ้นกู้ยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอยู่หรือไม่ ?

วันที่ 2 พฤษภาคม 2565  ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่  26 เมษายน 2565 ภาคธุรกิจไทยมีการออกหุ้นกู้รวมกันแล้ว 390,486  ล้านบาท หรือทั้งหมด  71 บริษัท  ซึ่งการออกแต่ละครั้งต่างได้รับเสียงตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี   หลังจากปี 2564 ที่ผ่านมา มีการออกหุ้นกู้ไปทั้งสิ้น  1,035,614  ล้านบาท  รวม 147 บริษัท

โดยปีนี้ ยังคงเห็นบริษัทขนาดใหญ่ และ กลุ่มบริษัทที่มีชื่อเสียงหลายต่อหลายแห่ง  เสนอขายหุ้นกู้กันอย่างต่อเนื่องสำหรับบริษัทใหญ่ ๆ หรือกลุ่มบริษัท ที่ออกหุ้นกู้มากที่สุด 5 อันดับแรกในช่วงต้นปีที่ผ่านมานำโดย

  • บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ที่ออกหุ้นกู้ไปแล้ว 35,000 ล้านบาท
  • บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)  ที่ออกไปแล้ว 30,000 ล้านบาท
  • บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ออกไปแล้ว 30,000 ล้านบาท
  • บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ออกไปแล้ว 24,000 ล้านบาท
  • บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ออกหุ้นกู้ไปแล้ว 20,000 ล้านบาท

อัตราดอกเบี้ยจูงใจและช่องทางลงทุนหุ้นกู้ใหม่ ๆ

ทั้งนี้ หุ้นกู้ของแต่ละบริษัทก็มีความน่าสนใจแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะในแง่แรงจูงใจเรื่องอัตราดอกเบี้ย  และที่น่าสนใจมากขึ้น ก็คือในปีนี้ หลายบริษัทก็ได้เพิ่มช่องทางการลงทุนใหม่ ๆ ให้แก่ผู้ลงทุน อย่างการขายหุ้นกู้ผ่านโมบายแบงกิ้งแอปพลิเคชั่นอย่าง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่ขายหุ้นกู้ผ่านแอปพลิเคชั่น SCB EASY

นอกจากนี้ก็ยังมี บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)  และบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่น แนล จำกัด (มหาชน) ที่ขายหุ้นกู้ผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ของธนาคารกรุงไทย  ซึ่งต่างก็ได้รับกระแสตอบรับกันอย่างคึกคัก

แนวโน้มการออกหุ้นกู้ระยะต่อไป

ในช่วงถัดไปบริษัทต่าง ๆ ก็ได้มีการประกาศเตรียมออกและเสนอขายหุ้นกู้กันไปแล้วหลายแห่ง  อาทิ

  • บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)  และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)  ที่เตรียมขายหุ้นกู้ 1 รุ่น อายุ 5 ปี ดอกเบี้ย 3.10-3.25% ต่อปี  จ่ายดอกเบี้ยทุก ๆ  6 เดือน  ซึ่งจะเปิดจองผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง”
  • บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่เตรียมขายหุ้นกู้ รุ่นอายุ 7 ปี ดอกเบี้ย 3.25% ต่อปี และจ่ายทุก ๆ  6 เดือน
  • บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เตรียมขายหุ้นกู้รุ่นอายุ 3 ปี ดอกเบี้ย 3.50% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก ๆ 3 เดือน

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายบริษัทที่เตรียมเสนอขายหุ้นกู้ระดมเงินลงทุนและให้ดอกเบี้ยสูง

โดย “ศิรินารถ อมรธรรม”  ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยฯ  สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย.ตอนนี้ที่มียื่นขึ้นทะเบียนกับทางสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)  เกือบ ๆ 20 บริษัท ในเรตติ้งที่แตกต่างกันไปตั้งแต่ AAA จนมาถึง Nonrated รวมมูลค่าตอนนี้บางบริษัทก็ระบุไว้แล้ว แต่รวมกันแล้วก็ราว ๆ 20,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ สมาคมคาดไว้ทั้งปีของปี 2565 นี้น่าจะแตะที่ระดับ 1 ล้านล้านบาทได้ ซึ่งปีที่แล้วมีมูลค่าการออกทั้งหมด  1.03 ล้านล้านบาท  ก็คิดว่าไม่น่าจะห่างจากปีที่แล้วมากหรืออาจจะเกินด้วยซ้ำไป  เพราะว่ามูลค่าครบกำหนดของปีนี้ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว เพราะฉะนั้น ผู้ออกบางส่วนโดยประมาณ 60-70% ที่ออกเพื่อเป็นการ  Roll-over คือทดแทนรุนเก่าที่หมดอายุแล้วบางบริษัทก็จะมีการอออกเพื่อไปชำระคืนสินเชื่อธนาคาร รวมถึงการลงทุนขยายกิจการ

ซึ่งปีนี้แนวโน้มเศรษฐกิจก็ขยายตัวดีกว่าปีนี้แล้ว  แนวโน้มสถานการณ์โควิด-19 ก็ดูเหมือนจะคุมได้ และเศรษฐกิจจะเริ่มกลับมาฟื้น  เพราะฉะนั้นก็น่าจะมีความต้องการของบริษัทเอกชนเพื่อที่จะระดมทุน เพื่อขยายกิจการหรือลงทุนเพิ่มมากกว่าปีที่แล้ว   ฉะนั้นโดยรวมทั้งปีคิดว่ามูลค่าการออกของปีนี้ไม่น่าจะน้อยไปกว่าปีที่แล้วหรืออาจจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

ขณะที่แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นก็ชัดเจนเลยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา  ที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ก็เริ่มประกาศแล้วว่าปีนี้จะเริ่มทำปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย  รวมถึงลดการทำ QT เพราะฉะนั้นผลกระทบมันเริ่มเห็นแล้วว่ามีผลกระทบเกิดขึ้นจริง ๆ  เมื่อธนาคารกลางมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยมันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรรัฐบาลไทย ปรับตัวสูงขึ้นด้วย แต่ว่าแม็กนิจูดอาจจะไม่เท่ากัน  ขนาดมันไม่เท่ากันแต่ในทิศทางเดียวกัน

อย่างของไทยเองรุ่น 5 ปี กับ 10 ปี  โดยรุ่นอายุ 10 ปีเพิ่มขึ้นมาเกือบ ๆ  1% แล้ว หรือในรุ่นอายุ 5 ปีก็ใกล้เคียงกันคือขึ้นมาประมาณ 95 bps. ซึ่งเป็นรุ่นที่ภาคเอกชนส่วนใหญ่มักจะระดมทุนกัน  เพราะฉะนั้นพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้นมันก็เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการกู้ยืมหรือการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนมันก็เลี่ยงไม่ได้ที่ว่าเอกชนก็จะมีต้นทุนการกู้ยืมหรือมีคูปองอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วที่สูงขึ้นตามไปด้วยแทบทุกอันดับเครดิตเกือบ ๆ 60-90 bps. ใกล้เคียงกับการปรับขึ้นของอัตราพันธบัตรรัฐบาล

“ในแง่ของผู้ออกก็มีต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น  แต่ในแง่ของนักลงทุนก็ถือว่าเป็นข่าวดี เป็นเรื่องที่ดีที่เขาจะมีหุ้นกู้รุ่นใหม่ ๆ ที่ออกมาแล้วให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่สำหรับนักลงทุนที่อาจจะมีถือแล้วค้างอยู่ยังไม่ครบกำหนด ตรงนั้นก็อาจจะมีการเสียโอกาสของการได้รับดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นหุ้นกู้รุ่นใหม่ ๆ ที่ออกมา อันนั้นก็อาจจะเป้นดารเสียโอกาสเฉย ๆ  แต่อย่างน้อยถ้าบริษัทไม่ผิดนัดชำระ นักลงทุนถือจนครบกำหนดก็ต้องได้เงินต้นขึ้นแน่นอน” นางสาวศิรินารถ กล่าว


นับได้ว่า การลงทุนหุ้นกู้ ยังคงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ สำหรับผู้ลงทุนที่ไม่อยากเสี่ยงมากเกินไป