อาคม เซ็นสัญญากู้เงินญี่ปุ่น 5 หมื่นล้านเยน บรรเทาผลกระทบโควิด

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

รมว.คลัง เซ็นสัญญากู้เงินญี่ปุ่น 5 หมื่นล้านเยน ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท บรรเทาผลกระทบโควิด หนุนส่งเสริมการแพทย์-ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

วันที่ 4 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ Mr.Morita Takahiro ผู้แทนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) ได้ร่วมกันลงนามในสัญญาเงินกู้สำหรับ COVID-19 Crisis Response Emergency Support Loan วงเงิน 50,000 ล้านเยน เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียด ดังนี้

กระทรวงการคลังได้ดำเนินการลงนามในสัญญาเงินกู้ COVID-19 Crisis Response Emergency Support Loan ของรัฐบาลญี่ปุ่นผ่าน JICA วงเงิน 50,000 ล้านเยน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 อายุเงินกู้ 15 ปี มีระยะเวลาปลอดเงินต้น (Grace Period) 4 ปี ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นให้เงินกู้แก่ประเทศต่าง ๆ เพื่อใช้สำหรับแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ทั้งนี้ การกู้เงินดังกล่าวเป็นการดำเนินการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก. โควิด เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) หรือ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท

โดยการลงนามในสัญญาเงินกู้ดังกล่าวเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากการลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่น (Exchange of Notes) และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ระหว่างนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ Mr.Kazuya Nashida เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

สำหรับการกู้เงินครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศในหลากหลายมิติ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก.โควิด เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 เพื่อใช้สนับสนุนด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการป้องกันและรักษาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน การรักษาระดับการจ้างงานจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019


นอกจากนี้ การกู้เงินจากรัฐบาลญี่ปุ่นในครั้งนี้จะช่วยลดการแย่งชิงทรัพยากรจากตลาดการเงินในประเทศ (Crowding Out) และเป็นการเพิ่มแหล่งเงินทุนระยะยาวที่มีต้นทุนต่ำเพื่อช่วยประหยัดภาระดอกเบี้ยของรัฐบาล รวมทั้งยังเป็นการเสริมสร้างสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งเงินกู้ดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาขยายตัวอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019