ประยุทธ์-นายกฯ ญี่ปุ่น ลงนามหุ้นส่วนเศรษฐกิจ 6,000 บริษัทปักหลักลงทุน

ประยุทธ์ – นายกฯ ญี่ปุ่น เป็นสักขีพยานลงนามความตกลง 3 ฉบับ ยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางรอบด้าน ถ่ายโอนอาวุธยุทโธปกรณ์-เทคโนโลยี ลงทุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ มอบความช่วยเหลือทางเงินแก่ไทย 5 หมื่นล้านเยน 6 พันบริษัทญี่ปุ่นปักหลักไทยเป็นฐานการผลิต จับมือต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์-เกาหลีเหนือ จุดยืนข้อพิพาททะเลจีนใต้ สงครามรัสเซีย-ยูเครน รัฐประหารในเมียนมา

วันที่ 2 พฤษภาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง 3 ฉบับ ได้แก่ 1. หนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น 2. ความตกลงว่าด้วยการมอบยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศระหว่างรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย

3. หนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความช่วยเหลือแบบให้เปล่าของรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้โครงการสนับสนุนเร่งด่วนสำหรับการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 พร้อมกล่าวถ้อยแถลงในการแถลงข่าวร่วมกับ นายคิชิดะ ฟูมิโอะ (H.E. Mr. KISHIDA Fumio) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย 

ยกระดับเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน

พล.อ.ประยุทธ์เริ่มต้นแถลงว่า ในนามรัฐบาลไทยตนรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ การเยือนในครั้งนี้มีความหมายอย่างยิ่งเนื่องจากตรงกับโอกาสครบรอบ 135 ปี การสถาปนาความสำคัญทางการทูต ในปีนี้ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น และการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก

นายกรัฐมนตรีไทยและญี่ปุ่นได้หารือข้อราชการเพื่อหาแนวทางเพิ่มพูนความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในทุกมิติ รวมถึงประเด็นความท้าทายจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ตลอดจนร่วมกันกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ในระยะต่อไป ประกอบด้วย 6 เรื่องสำคัญ ได้แก่

เรื่องแรก การพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ในโอกาสครบรอบ 135 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตและครบรอบ 10 ปี หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในปีนี้ ทั้งสองฝ่ายจะยกระดับความสัมพันธ์ความสัมพันธ์จากหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านต่อไป

เรื่องที่สอง การเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสู่อนาคต ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยอยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ร่วมด้านเศรษฐกิจในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในระยะ 5 ปี โดยมีแผนที่จะประกาศใช้ในห้วงการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 6 ซึ่งญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพในห้วงครึ่งหลังของปีนี้ 

โดยหนึ่งในประเด็นที่ทั้งไทยและญี่ปุ่นให้ความสำคัญ คือการเพิ่มความเชื่อมโยงด้าน supply chain ให้ครอบคลุมสาขาต่าง ๆ มากขึ้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ เช่น เศรษฐกิจ BCG เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ เทคโนโลยีการโทรคมนาคมสื่อสาร 5G ความร่วมมือในด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ การพัฒนายานยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาดและชิ้นส่วนอุปกรณ์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และความร่วมมือด้านวิจัยและค้นคว้ารวมถึงการตั้งศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประชาชนไทย

เรื่องที่สาม การเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 ขอขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่มอบความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ แก่ไทย เช่น การมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เครื่องผลิตออกซิเจนและอุปกรณ์สำหรับการจัดเก็บวัคซีน รวมทั้งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งได้มีการลงนามหนังสือแลกเปลี่ยน

โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างกันให้มากขึ้นเพื่อรับมือกับโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมให้ผ่อนคลายมาตรการการเข้าประเทศเป็นลำดับตามสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้ประชาชนของทั้งสองฝ่ายได้เดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันได้มากขึ้น

โอนถ่ายยุทโธปกรณ์-ลงทุนอุตฯป้องกันประเทศ

เรื่องที่สี่ การเสริมสร้างความร่วมมือด้านกลาโหม ความมั่นคง และการยุติธรรม ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ใกล้ชิดร่วมมือในด้านกลาโหมและความมั่นคงระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งได้มีการลงนามความตกลงเรื่องการมอบโอนยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ระหว่างกระทรวงกลาโหมของไทยกับญี่ปุ่น และจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศและการลงทุนจากญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญของไทย และเพื่อเสริมสร้างสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค รวมทั้งเห็นพ้องที่จะจัดทำ สนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญาเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการยุติธรรมระหว่างกัน

เรื่องที่ห้า การเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาอนุภูมิภาคและภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายยินดีกับความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาระหว่างไทยกับญี่ปุ่น และมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในด้านการพัฒนาระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในประเทศที่สาม พร้อมทั้งจะร่วมมือกันพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อส่งเสริมให้อนุภูมิภาคนี้เติบโตและก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ญี่ปุ่น และกรอบ ACMECS ซึ่งขอขอบคุณญี่ปุ่นที่เป็นหุ่นส่วนเพื่อการพัฒนาประเทศแรกที่สมทบทุนในกองทุนเพื่อการพัฒนาของ ACMECS มูลค่ากว่า 1.38 ล้านยูเอส

ในส่วนของความร่วมมือภาคใต้กรอบอาเซียน ไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น ยืนยันความพร้อมที่จะประสานความร่วมมือในทุกด้าน โดยเฉพาะในโอกาสครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นในปีหน้า

ซึ่งรวมถึงการเสริมสร้างความร่วมมือในสาขาที่สำคัญภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP) และการเชื่อมโยงระหว่าง AOIP ของญี่ปุ่น กับมุมมองอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างของญี่ปุ่น (FOIP) อีกทั้งนายกรัฐมนตรีได้ยืนยันความพร้อมของไทยในการเป็นที่ตั้งของศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่

ขอบคุณนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นสำหรับการสนับสนุนวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปกของไทยในปีนี้ ภายใต้หัวข้อ Open. Connect. And Balance. ซึ่งนายกรัฐมนตรีพร้อมที่จะต้อนรับการเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นอีกครั้งในวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้ เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเปก

ชงกระบวนการสันติภาพยูเครน-เมียนมา

เรื่องที่หก การเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับสถานการณ์ภูมิภาคและระหว่างประเทศ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น สถานการณ์ในยูเครนและเมียนมา สำหรับสถานการณ์ในยูเครน ไทยและญี่ปุ่นย้ำถึงหลักการเคารพบูรณภาพแห่งดินแดน กฎหมายระหว่างประเทศ และกฎบัตรสหประชาชาติ

โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยุติการใช้ความรุนแรงและใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างถึงที่สุด ในส่วนของสถานการณ์ในเมียนมา ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะสนับสนุนการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน และพร้อมร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประชาชนทั้งชาวยูเครนและชาวเมียนมา

“ผมได้เสนอแนวทางกระบวนการสันติภาพโดยเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นเรื่องความขัดแย้งเป็นการคำนึงถึงด้านมนุษยธรรม เราจะเยียวยาผู้ที่เดือดร้อนในทุกแห่งของโลกอันสืบเนื่องมาจากสงครามในยูเครนได้อย่างไร เพื่อจะเป็นแนวทางใหมที่อาจจะนำไปสู่การยุติความขัดแย้ง”

การหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีทั้งสองในครั้งนี้สะท้อนถึงความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและญี่ปุ่นอย่างรอบด้านและครอบคลุม โดยตนได้ให้คำมั่นกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นว่า ตนและรัฐบาลไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกันรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิดและจะสานต่อผลลัพธ์ของการเยือนครั้งนี้ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนไทย-ญี่ปุ่น รวมถึงภูมิภาคโดยรวมต่อไป

6 พันบริษัทญี่ปุ่นปักหลักไทยฐานการผลิต

นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นแถลงว่า ขอขอบคุณการต้อนรับอันอบอุ่นของนายกรัฐมนตรีและประชาชนชาวไทยทุกท่าน ตนยินดีที่ได้มาเยือนกรุงเทพฯ ในโอกาสครบรอบ 135 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย เมื่อตนมาเยือนประเทศไทยในเดือนพฤษภาคมปี 2016 สมัยที่ตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตนได้กล่าวสุนทรพจน์และเน้นย้ำถึงความสำคัญที่จะพัฒนาศักยภาพของอาเซียน โดยเคารพความหลากหลายของอาเซียน และบูรณภาพของอาเซียน

ความเชื่อมั่นของตนในสมัยนั้น ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจนถึงปัจจุบันนี้ บูรณภาพของอาเซียนนั้น เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในภูมิภาคนี้และประชาคมโลก ในสมัยนี้ที่เผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือหลักการระเบียบระหว่างประเทศ ตนจะเน้นย้ำความเชื่อมั่นอีกครั้งจากสถานที่กำเนินของอาเซียนแห่งนี้ ตนขอแสดงความเคารพต่อความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีไทยและรัฐบาลไทยที่ได้ประกาศมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP) ในสมัยที่ไทยเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมอาเซียน

“วันนี้ผมได้หารือกับนายกรัฐมนตรีประยุทธ์อย่างตรงไปตรงมาเรื่องทิศทางในอนาคตของความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทย และประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ภูมิภาคและระหว่างประเทศ”

ตนได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ทวิภาคีของทั้งสองประเทศ ประเทศไทยมีคนญี่ปุ่นอาศัยอยู่มากกว่า 8 หมื่นคน และมีบริษัทญี่ปุ่นประมาณ 6,000 บริษัท ถือว่าเป็นฐานอุตสาหกรรมที่สำคัญสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับญี่ปุ่น เพื่อการพัฒนาความสัมพันธ์นับแต่นี้ ญี่ปุ่นต้องการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ด้านที่ 1 การพัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคงและความยุติธรรม ตนมีความยินดีที่ได้ลงนามในความตกลงว่าด้วยการถ่ายโอนยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีด้านความมั่นคงระหว่างญี่ปุ่นและไทยในวันนี้ ซึ่งเป็นก้าวย่างสำคัญสำหรับการขยายความร่วมมือความมั่นคง

“หลังจากลงนามในข้อตกลงนี้แล้ว ผมอยากเจรจาเกี่ยวกับการถ่ายโอนยุทโธปกรณ์อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังเห็นตรงกันว่าจะประสานงานจัดการประชุมเจรจาต่อรองอย่างเป็นทางการอย่างเร่งด่วน เพื่อจะทำสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางอาญาระหว่างญี่ปุ่นและไทย”

ให้ความช่วยเหลือเงินกู้ 5 หมื่นล้านเยน

ด้านที่ 2 การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นพร้อมจะให้ความร่วมมือในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก้ห่วงโซ่อุปทานให้กับประเทศไทย โดยการส่งเสริมการลงทุนเพื่อนำไปสู่ความหลากหลายในด้านฐานการผลิตและให้ความร่วมมือในการบังคับใช้ความตกลงยอมรับร่วมกันเกี่ยวกับโครงการผู้ประกอบการระดับมาตรฐาน AEO ได้อย่างรวดเร็ว

ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมและการรักษาความมั่นคงทางการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้จะส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยี 5 G ที่เปิดกว้าง และจะดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างบริษัทญี่ปุ่นกับไทย เพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคม โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

ญี่ปุ่นยังสนับสนุนการเตรียมทางพลังงาน หรือ energy transition ของไทย โดยการช่วยเหลือในด้านการสร้างโรดแมปตามข้อริเริ่มของญี่ปุ่น เพื่อรักษาความสมดุลระหว่างความมั่นคงทางด้านพลังงานและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ญี่ปุ่นได้อธิบายแนวคิดประชาคมญี่ปุ่นเสนออยู่ นอกจากนี้ยังเห็นพ้องกันว่าจะร่วมมือในด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วย

ด้านที่ 3 การรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในครั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจมอบความช่วยเหลือ ได้แก่ ความช่วยเหลือทางการเงินจำนวน 5 หมื่นล้านเยน เป็นเงินกู้ในสกุลเงินเยน เพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 และการสนับสนุนการส่งมอบอุปกรณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการตรวจเชื้อไวรัสที่ด่านตามพรมแดน หวังว่าความช่วยเหลือนี้จะช่วยส่งเสริมการไปมาหาสู่ระหว่างทั้งสองประเทศและกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังจากโลกผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 

จับมือต้านอาวุธนิวเคลียร์ รับมือข้อพิพาททะเลจีนใต้

สถานการณ์ภูมิภาคระหว่างประเทศ ญี่ปุ่นขอแสดงความชื่นชมที่ประเทศไทยได้ตัดสินใจสนับสนุนข้อมติเรื่องยูเครนของสหประชาชาติ และเห็นพ้องกันกับนายกรัฐมนตรีไทยที่ไม่สามารถยอมรับการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนและการเปลี่ยนแปลงสถานะปัจจุบันโดยการใช้กำลังแต่เพียงฝ่ายเดียวในทุกภูมิภาค

และยังไม่สามารถยอมรับการใช้อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงหรือการขู่ว่าจะใช้อาวุธ นอกจากนี้ญี่ปุ่นชื่นชมความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ยูเครนและประเทศรอบด้านโดยรัฐบาลไทยและเห็นพ้องกันที่จะร่วมมือกันในการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม 

แล้วยังเห็นพ้องกันกับประเทศไทย ว่าจะร่วมมือในการบรรลุเป้าหมายของแนวคิดอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างและจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการรับมือต่อประเทศทะเลจีนใต้ และประเทศเกาหลีเหนือ รวมถึงการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ รวมถึงปัญหาการลักพาตัว อีกทั้งเห็นพ้องกันที่จะต้องการรับมือต่อสถานการณ์ในเมียนมาด้วย 

และเห็นพ้องกันอีกว่า ญี่ปุ่นจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพเอเปก เพื่อความสำเร็จของการประชุมเอเปก นอกจากนี้ยังยืนยันความสำคัญของการปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และเห็นพ้องกันว่า จะร่วมมือกันในด้านการปลดอาวุธนิวเคลียร์และการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ด้วย 

ปีหน้า เป็นปีที่ครบรอบ 50 ปีแห่งมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น ผมมีความมั่นใจว่า จะพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทย และความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับอาเซียนรอบด้าน โดยเชิญนายกรัฐมนตรีไทยประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ