ตะลุมบอนปรับโครงสร้างหนี้ แบงก์หวังเปิดประเทศลูกค้าฟื้นไข้โควิด

หนี้ จ่ายหนี้
ภาพจาก Towfiqu barbhuiya on Unsplash

แบงก์หวังเปิดประเทศหนุนลูกหนี้ฟื้นไข้โควิด เร่งเครื่องคุมคุณภาพหนี้ ลุยแก้หนี้อย่างยั่งยืนตามแนวทาง ธปท. “ไทยพาณิชย์” ตั้งเป้าปีนี้แก้ได้ 3.5 แสนล้านบาท “กสิกรไทย” ประเมินปีนี้อุ้มลูกหนี้ยังไม่แข็งแรงต่ออีก 1.5 แสนล้านบาท

ฟาก “ทิสโก้”วางเป้า 6 เดือนลูกหนี้ที่อยู่ในมาตรการช่วยเหลือกลับมาชำระได้ปกติ ส่วน “แบงก์กรุงเทพ” ชู 3 แนวทางอุ้มลูกค้าด้าน “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” คาดเทรนด์ลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือทยอยลดลง หลังแบงก์ลุยปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก-เศรษฐกิจฟื้นตัว

นายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารอยู่ระหว่างปรับการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้แบบดั้งเดิมระยะสั้นมาสู่การปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ตามแนวทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เพื่อให้ลูกหนี้สามารถอยู่รอดในระยะยาว และกลับมาชำระหนี้ได้เป็นปกติ โดยปี 2565 นี้ตั้งเป้าหมาย 3.5 แสนล้านบาท จาก ณ ไตรมาส 1/2565 ธนาคารมียอดสินเชื่อปรับโครงสร้างหนี้อยู่ที่ 2.49 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 11% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2564 ที่อยู่ที่ 2.21 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ธนาคารจะเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย เช่น ยืดระยะเวลา และการปรับลดดอกเบี้ยบางส่วน โดยจะพิจารณาตามรายอุตสาหกรรม เช่น การลดดอกเบี้ย จะเป็นไปตามกรอบของ ธปท. และความจำเป็นของลูกค้า ซึ่งจะประเมินลูกหนี้ว่า ถ้าลดดอกเบี้ยน่าจะกลับมาชำระหนี้ได้หรือไม่

อย่างไรก็ดี หลังให้ความช่วยเหลือ ลูกหนี้มีแนวโน้มชำระหนี้ที่ดีขึ้น สะท้อนการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญในไตรมาส 1 ลดลงจากสิ้นปีก่อน คาดว่าหลังธนาคารปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว และทิศทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น จะทำให้ลูกหนี้กลับมาชำระได้ปกติมากขึ้น

“ธนาคารยังให้ความช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่อง ที่ผ่านมาถือว่าทำได้ค่อนข้างดี โดยลูกหนี้กระจายในทุกกลุ่ม ทั้งรายย่อยธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และรายใหญ่ แต่มาตรการจะขึ้นอยู่กับการเจรจาลูกหนี้”

นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้โครงการความช่วยเหลือผลกระทบจากโควิด-19 ทยอยลดลง และออกจากมาตรการช่วยเหลือ

โดยสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 3.2 แสนล้านบาทซึ่งสำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่แข็งแรงและต้องการความช่วยเหลือต่อ ธนาคารจะปรับจากมาตรการระยะสั้นไปสู่มาตรการแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืน โดยคาดว่าภายในสิ้นปี 2565 นี้จะมีลูกหนี้เข้ามาตรการราว 1.5 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยและธุรกิจขนาดเล็ก (SSME) ซึ่งการช่วยเหลือจะพิจารณาจากกระแสเงินสด (cash flow) ของลูกหนี้ โดยอาจจะปรับวงเงิน ยืดเวลาการชำระหนี้

รวมถึงพิจารณาลดดอกเบี้ยเป็นรายกรณี ซึ่งปัจจุบันมีลูกหนี้เข้ามาตรการแล้วกว่า 30-40% ส่วนลูกหนี้ที่ล้มเลิกกิจการ หรือไปไม่รอดกลุ่มนี้จะเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง หรือการตีโอนทรัพย์การชำระหนี้

“เราจะทยอยผันลูกหนี้ไปเรื่อย ๆ จากมาตรการเดิมให้พักหนี้ 6 เดือน มาตรการใหม่จะยืดการชำระหนี้ตาม cash flow จริงของลูกหนี้ เพราะกลุ่มนี้ต้องการการประคอง รอประเทศเปิด เศรษฐกิจเดินได้น่าจะกลับมาได้”

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า ตอนนี้ธนาคารมีลูกหนี้ที่อยู่ในโครงการช่วยเหลือประมาณ 3-4% ของพอร์ตสินเชื่อรวม ซึ่งปรับลดลงจากการช่วยเหลือรอบแรกที่มีสัดส่วนสูงกว่า 30%

และทยอยออกจากโครงการช่วยเหลือต่อเนื่อง โดยคาดว่าหลังเปิดประเทศ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ลูกหนี้ที่อยู่ในโครงการช่วยเหลือจะสามารถออกจากโปรแกรมได้ แต่อาจใช้เวลาราว 6 เดือน ส่งผลให้หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

แต่เป็นเพิ่มขึ้นจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ธนาคารมุ่งเน้นในกลุ่ม high yield เช่น จำนำทะเบียนและเช่าซื้อ รวมถึงธุรกิจรายใหญ่แต่คาดว่าจะอยู่ในกรอบไม่เกิน 3% จากไตรมาส 1 อยู่ที่ 2.15% ถือว่าต่ำกว่าในช่วงก่อนโควิด-19

โจทย์แบงก์ ช่วยลูกหนี้ปรับโครงสร้าง ดูแลคุณภาพสินเชื่อ

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า แนวทางการดูแลลูกค้า เน้นให้ความช่วยเหลือที่ลูกค้าต้องการ เพราะแต่ละกลุ่มมีความต้องการในแต่ละช่วงเวลาแตกต่างกัน

โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ 1.ช่วงเจอปัญหาสภาพคล่องระยะสั้นเพื่อประคองให้ธุรกิจรอด 2.ช่วงการฟื้นฟูธุรกิจ ต้องการเงินทุนหมุนเวียน เพื่อให้ธุรกิจเริ่มต้นได้อีกครั้ง และ 3.ช่วงปรับตัวระยะยาว สนับสนุนให้ลูกค้าปรับโครงสร้างธุรกิจรับ new normal และความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า โจทย์ธนาคารปีนี้จะเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง ธปท.ต่อเนื่อง

หลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 1, 2 และ 3 ที่ขยายเวลาถึงสิ้นปี 2564 จะทยอยครบกำหนดไตรมาส 2/2565 นี้

“ดูจากผลประกอบการ Q1/2565 จะเห็นว่าหลาย ๆ แบงก์พยายามทำมาตรการแก้หนี้ยั่งยืน ทำให้คุณภาพสินเชื่อได้รับการดูแล ไม่ให้น่ากังวล แม้ว่าแนวโน้มเอ็นพีแอลเป็นเทรนด์ขาขึ้น แต่ด้วยการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้การตัดขายหนี้

ทำให้เอ็นพีแอลยังจัดการได้อยู่ในกรอบ 2.95-3.05% จากสิ้นปีก่อน 2.98% และลูกหนี้ในโครงการช่วยเหลือลดลงต่อเนื่อง จากเคยสูง 4.3 ล้านล้านบาท ถึง ณ เดือน ก.พ. 2565 เหลือ 1.91 ล้านล้านบาท”

ล่าสุด ธปท.ได้ปรับเกณฑ์ “โครงการคลินิกแก้หนี้” ให้ครอบคลุมถึงลูกหนี้ที่มีสถานะเป็นหนี้เสียก่อน วันที่ 1 เม.ย. 2565 สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งภายใต้มาตรการช่วยเหลือระยะที่ 3 “ยาสูตรจ่ายเท่าที่ไหว” จะให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ตั้งแต่ 40% ของค่างวดเดิมขึ้นไป และจะได้รับส่วนลดดอกเบี้ย 1-2% ต่อปี

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท.กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่ารายได้ของลูกหนี้แต่ละอาชีพยังฟื้นตัวต่างกัน โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นช้า คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการคลินิกแก้หนี้ (กคน.)

จึงเห็นชอบให้ปรับเกณฑ์คุณสมบัติลูกหนี้ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ เพื่อขยายความช่วยเหลือให้ครอบคลุมลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลก่อนวันที่ 1 เม.ย. 2565 จากเดิมกำหนดวันที่ 1 ต.ค. 2564 โดยสามารถเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2565 เป็นต้นไป