ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าต่อเนื่อง เก็งเฟดขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง

ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าต่อเนื่องเก็งเฟดขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี’65 ขยายตัวในกรอบ 2.5-4.0% ลดลงจากกรอบเดิม 2.5-4.5% ห่วงเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 9-13 พฤษภาคม 2565 ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่น ๆ ในตลาด โดยได้รับแรงหนุนอย่างต่อเนื่องจากการที่นักลงทุนมุ่งความสนใจไปยังประเด็นที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกมากเท่าไหร่เพื่อรับมือกับการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ

หลังจากที่กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันศุกร์ (6/5) ว่า การจ้างงานนอกภาคเกษตรในสหรัฐพุ่งขึ้น 428,000 ตำแหน่งในเดือนเมษายน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 391,000 ตำแหน่ง ส่วนรายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงของคนงานสหรัฐปรับขึ้น 0.3% ในเดือนเมษายน หลังจากปรับขึ้น 0.5% ในเดือนมีนาคม ทางด้านค่าแรงเฉลี่ยต่อชั่วโมงแบบเทียบรายปีปรับขึ้น 5.5% ในเดือนเมษายน หลังจากพุ่งขึ้น 5.6% ในเดือนมีนาคม

โดยในวันจันทร์ (9/5) นายนีล แคชดารี ประธานเฟดสาขามินนิอาโปลิสได้กล่าวว่า ถึงแม้เฟดเคยตั้งความหวังในช่วงก่อนหน้านี้ว่า ห่วงโซ่อุปทานที่ปรับตัวดีขึ้นจะช่วยเหลือเฟดในการชะลอความเร็วของอัตราเงินเฟ้อ แต่เฟดก็อาจจะไม่ได้รับความช่วยเหลือมากนัก

จากปัจจัยดังกล่าว ค่าเงินดอลลาร์มีการปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยระหว่างสัปดาห์ หลังจากที่นายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตากล่าวว่า เขามองเห็นสัญญาณบ่งชี้ว่า แรงกดดันด้านอุปทานเริ่มปรับลดระดับลงแล้ว และปัจจัยดังกล่าวน่าจะเปิดโอกาสให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.50% ในการประชุม 2-3 ครั้งข้างหน้า แต่ไม่ใช่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.75%

อย่างไรก็ดีในวันพฤหัสบดี (12/5) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้กลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดในรอบราว 20 ปี ที่ระดับ 104.925 หลังจากการเปิดเผยข้อมูลตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐเดือนเมษายนออกมาสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ทำให้ตลาดกังวลต่อการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด

โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 8.3% ในเดือนเมษายนเมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.1% แต่ต่ำกว่าระดับ 8.5% ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2524

ทั้งนี้ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่ปรับตัวขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จะเปิดทางให้เฟดใช้เป็นเหตุผลในการปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นและรุนแรงขึ้น โดยก่อนหน้านี้เฟดส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนมิถุนายน แต่ตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วอาจทำให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงถึง 0.75% ในการประชุมเดือนดังกล่าว

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอ่อนค่าเช่นเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาค โดยเปิดตลาดวันจันทร์ (9/5) ที่ระดับ 34.42/43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (6/5) ที่ระดับ 34.39/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น ในวันพุธ (11/5) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี’65 ขยายตัวได้ในกรอบ 2.5% ถึง 4.0% จากกรอบเดิม 2.5-4.5% โดยยังคงคาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ในกรอบ 3-5% แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะสินค้าในหมวดอาหารและพลังงาน จึงปรับประมาณการเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาในกรอบ 3.5-5.5% จากเดิม 2-3%

ทั้งนี้ กกร.มองว่าเศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน แต่ยังคาดว่าจะเติบโตได้ โดยความมุ่งมั่นของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการปรับตัวให้สามารถอยู่กับโควิด-19 แบบเป็นปกติมากขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้

นอกจากนี้ นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า หากในการประชุมครั้งต่อไปของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 14-15 มิ.ย. 65 มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% พร้อมกับการปรับลดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) ฉุดสภาพคล่องในระบบการเงินโลก จะส่งผลทำให้เงินทุนระยะสั้นไหลออกจากตลาดการเงินไทย ทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรเพิ่มเติม และกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าสู่ระดับ 35.00-36.00 บาทต่อดอลลาร์ได้

ในวันพฤหัสบดี (12/5) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี’65 ลงเหลือเติบโต 3.5% จากเดิมคาดการณ์ว่าจะเติบโต 4% เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าไทยชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐ รวมทั้งราคาพลังงานและอัตราเงินฟ้อปรับตัวสูงขึ้น

โดยคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปีนี้สูงขึ้นมาที่ 5% ต่อปี หรืออยู่ในช่วงคาดการณ์ 4.5-5.5% ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 34.36-34.78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (13/5) ที่ระดับ 34.74/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดในวันจันทร์ (9/5) ที่ระดับ 1.0528/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (6/5) ที่ระดับ 1.0564/66 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงได้รับแรงกดดันจากการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่าที่คาดไว้ โดย Sentix เปิดเผยผลสำรวจพบว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนในยูโรโซนในเดือนพฤษภาคม ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2020 โดยร่วงลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน

ขณะที่ผลกระทบจากสงครามในยูเครนต่อเศรษฐกิจของยูโรโซนมีความชัดเจนมากขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นสำหรับยูโรโซนลดลงสู่ระดับ -22.6 ในเดือนพฤษภาคม จาก -18.0 ในเดือนเมษายน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ -20.8

นายเมนเฟร็ด ฮิวบ์เนอร์ กรรมการผู้จัดการ Sentix กล่าวว่า “เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้าย ร่องรอยของข้อพิพาทในยูเครนกำลังเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในเศรษฐกิจภาวะถดถอยในเขตยูโรกำลังชัดเจนมากขึ้น” อย่างไรก็ตาม ค่าเงินยูโรได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์มาจากการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

รวมถึงการที่นายโรเบิร์ต ฮอลซ์ มานน์ ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรีย และกรรมการสายเหยี่ยวของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ออกมากล่าวว่า อีซีบีควรขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 3 ครั้งในปีนี้เพื่อจัดการการเงินเฟ้อ และระบุว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 หรือ 3 ขั้นตอนเป็นอย่างต่ำเป็นสิ่งที่เหมาะสม อาจจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งเล็ก ๆ เช่น ขึ้นครั้งละ 0.25%

และถ้าเกิดขึ้นภายในเดือนธันวาคม นั่นก็อาจจะส่งผลให้ภายในปี 2023 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับธนาคาร ซึ่งติดลบที่ 0.5% ในขณะนี้ จะกลับมาอยู่ในแดนบวก แม้จะยังห่างไกลจากอัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลางอยู่ ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.0352-1.0592 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (13/5) ที่ระดับ 1.0402/05 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (9/5) ที่ระดับ 130.85/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (6/5) ที่ระดับ 130.48/50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินเยนยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องหลังจากที่รายงานการประชุมในเดือนมีนาคมของธนาคารกลางของญี่ปุ่น (บีโอเจ) ได้เปิดเผยว่า ผู้กำหนดนโยบายของบีโอเจยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะคงมาตรการกระตุ้นทางการเงินต่อไป แม้บางคนมองเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงในสภาวะเงินเฟ้อต่ำของญี่ปุ่นก็ตาม

โดยกรรมการ 7 คนใน 9 คนระบุว่าบริษัทขนาดใหญ่บางแห่งกำลังขึ้นค่าจ้าง และบริษัทก็ผลักภาระต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นไปให้ภาคครัวเรือนมากขึ้น ซึ่งอาจจะสร้างแรงกดดันในช่วงขาขึ้นต่ออัตราเงินเฟ้อ แต่กรรมการส่วนใหญ่ก็เตือนถึงความเสี่ยงมากขึ้นต่อญี่ปุ่นจากวิกฤตยูเครน ซึ่งจะทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ

กรรมการหลายคนระบุว่า “ต่างจากสหรัฐและอังกฤษ ญี่ปุ่นไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่อัตราเงินเฟ้ออาจจะสูงเกินเป้าหมาย 2% ของบีโอเจในลักษณะที่ยั่งยืน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่บีโอเจต้องดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่อไปเพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากโรคระบาด”

กรรมการรายหนึ่งกล่าวว่า บีโอเจอาจจะต้องเฝ้าระวังการร่วงลงของราคาตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปีงบประมาณ 2022 เมื่อดูจากความไม่แน่ใจเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งนี้ค่าเงินเยนได้อ่อนค่าและระดับสูงสุดในรอบกว่า 20 ปีที่ระดับ 131.34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะถูกขายทำกำไรลงมาที่ระดับ 127.50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐในวันเดียวกัน และปิดตลาดในวันศุกร์ (13/5) ที่ระดับ 128.77/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ