ธปท.ลั่นไทยไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยตามเฟด ชี้ โอกาสเศรษฐกิจไทยโตต่ำ 2% ยาก

ธปท.มองโอกาสเศรษฐกิจโตต่ำ 2% มีน้อย เหตุนักท่องเที่ยวยังดี-ส่งออกยังโต ยันไม่เกิดภาวะ Stagflation ย้ำ นโยบายการเงินยังไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยตามเฟด ชี้ ไทยใช้นโยบายกรอบเงินเฟ้อยืดหยุ่น-อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว บริบทแตกต่างกัน

วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน เสวนา “ถามมา – ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” ภายใต้หัวข้อ “มองเศรษฐกิจโลก สะท้อนเศรษฐกิจไทย” ว่า

หากดูภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังเป็นทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยปีก่อนขยายตัวอยู่ที่ 1.6% และปีนี้อยู่ที่ 3.2% และข้างมองไปข้างหน้าโอกาสที่ไทยจะเกิด Stagflation มีโอกาสน้อยมาก แม้ว่าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากฐานที่โตต่ำ

อย่างไรก็ดี ตัวอย่างโอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจโตไม่ถึง 2% คือ 1.นักท่องเที่ยวจะต้องมาน้อยมาก ๆ เดิม ธปท.มองไว้ 5.6 ล้านคน ซึ่งหากเศรษฐกิจไทยจะโต 2% นักท่องเที่ยวจะต้องมา 3 ล้านคน แต่ตอนนี้มาแล้ว 1.2 ล้านคน ซึ่งที่เหลือของปีจะต้องมาน้อยมาก ๆ แต่ตอนนี้มี Pent up Demand หรือ 2.การส่งออกจะต้องดรอปลดลงอย่างมาก แต่หากดูตัวเลขไตรมาสที่ 1/2565 ยังมีอัตราการเติบโต

“ดังนั้น จากภาพรวมโอกาสที่เศรษฐกิจชะลอตัวหรือต่ำกว่า 2% หรือใกล้เคียงปีก่อนค่อนข้างน้อย และโอกาสที่จะเกิด Stagflation โอกาสจึงเกิดขึ้นน้อย”

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวต่อไปว่า สำหรับนโยบายการเงินภายหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น มองว่า ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยตามเฟดมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยล่าสุด และมีการส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เนื่องจากกรอบการดำเนินนโยบายการเงินของไทย อยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) เป็นหลัก

นอกจากนี้ ประเทศไทยมีอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ไม่ใช่อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ (Fixed Exchange Rate) เหมือนอดีต ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยตามเฟด เหมือนกับประเทศใกล้เคียงกับเฟดที่มีการฟิกค่าเงินเหมือนสหรัฐ ที่มีความจำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยไปในทิศทางเดียวกัน แต่ประเทศไทย ไม่ได้อยู่ในบริบทแบบนั้น

อย่างไรก็ดี ผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด จะมีผลต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐ ถ่างมากขึ้น จนส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น ปัจจุบันยังไม่ได้มีผลกระทบรุนแรง อีกทั้งความเปราะบางด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในระดับต่ำ จากกันชนที่มีอยู่สูง

ดังนั้น ประเด็นหลักต่อการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินและทิศทางดอกเบี้ยของไทยนั้น จะเป็นเรื่องปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก จากเสถียรภาพโดยรวม เสถียรภาพด้านราคา และการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

ขณะที่ทิศทางค่าเงินบาทนั้น มองว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมีความผันผวนสูง แต่เป็นผลจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งจากการเคลื่อนไหวของดอลลาร์ และเงินหยวน โดยนับตั้งแต่ต้นปีต้นถึงปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่า 3% อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ ธปท.กังวลและจับตา เพราะส่วนหนึ่งของผู้ส่งออกไทย เป็นเอสเอ็มอีค่อนข้างมาก ที่มีการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงิน (Hedging) ในระดับต่ำ ทำให้มีความสามารถในการรับความผันผวนของค่าเงินได้จำกัด

“ประเด็นเมนหลักที่เราจับตามองเรื่องของดอกเบี้ยนโยบายนั้น จะเป็นเรื่องของเราเป็นหลัก คือ เป็นแฟกเตอร์เดิม คือ เสถียรภาพราคา ระบบการเงิน การฟื้นตัวเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่ปัจจัยที่เฟดไดรฟ์”