ผู้ว่าฯธปท. ลั่น “ขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไปไม่ดี” ห่วงเครื่องยนต์เงินเฟ้อติดก่อปัญหา

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

“ผู้ว่าการธปท.” ชี้ นโยบายการเงินผ่อนคลายมีความจำเป็นน้อยลง หลังความเสี่ยงเงินเฟ้อชัดเจนขึ้น รับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป ลั่น “ขึ้นช้าเกินไปไม่ดี” เสี่ยงทำเศรษฐกิจฟื้นตัวสะดุด

วันที่ 13 มิถุนายน 2565 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย” ที่จัดโดยสำนักข่าว “Thaipublica” ว่า แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) จะเห็นจากสเตตเมนต์ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงในการคงอัตราดอกเบี้ย 0.50%

แต่จะเห็นว่าคณะกรรมการมีมุมมองไปในทิศทางเดียวกัน โดยหากพิจารณาชั่งน้ำหนักความเสี่ยง (Balance of Risk) มีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นชัดเจน ซึ่งความจำเป็นการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเป็นพิเศษน้อยลง และจะต้องกลับไปสู่ระดับปกติมากขึ้น เพื่อจะสร้างกันชนและภูมิคุ้มกันเพื่อรองรับสถานการณ์หรือช็อกในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายอย่างไรเพื่อให้การฟื้นตัวไม่สะดุด (Smooth Takeoff) ซึ่งการปรับดอกเบี้ยจะดูตามบริบทของไทย ไม่ใช่ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยเราจะต้องดูบริบทการฟื้นตัวเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ซึ่งหากถามว่าจะขึ้นเมื่อไร และขึ้นอย่างไร ก็ต้องตอบว่า “ช้าเกินไปไม่ดี” แต่การปรับจะต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป

ทั้งนี้ หากดูในแง่นโยบายการเงิน จะเห็นว่าไทย ผ่อนปรนนโยบายการเงินมาเป็นเวลานาน ดอกเบี้ยไทยต่ำมาก และต่ำสุดในภูมิภาค แต่เงินเฟ้อติดอันดับท็อปๆ ในภูมิภาค ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากไทยเจอปัญหาโควิด-19 มากกว่าคนอื่น ทำให้การฟื้นตัวของเศรษบกิจช้ากว่าคนอื่น ดังนั้น หากมองไปข้างหน้า เราไม่ได้เหยียบเบรก แต่เราถอนคันเร่ง เพราะถ้าคอยนานเกินไปจะทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด จะเป็นปัญหา ซึ่งจะทำให้โอกาสไปขึ้นเยอะ เร็วและแรงในช่วงหลัง ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่อยากเห็น

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

“การขึ้นดอกเบี้ย เราไม่ได้มีเป้าเช็ทไว้ในใจว่าจะต้องขึ้นกี่ครั้ง ต้องขึ้นแค่ไหน ละขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ เพราะทุกอย่างจะต้องดูบริบทเศรษฐกิจในขณะนั้น และเป็นลดการผ่อนคลายนโยบายการเงิน เพราะที่ผ่านมาเราผ่อนคลายมาก การลดคันเร่งจึงมีความจำเป็น ไม่ได้เป็นการแตะเบรก เพราะหากไม่ทำเงินเฟ้อปัจจุบันอยู่ค่อนข้างสูง และหากเราไม่ดูเงินเฟ้อโอกาสที่เศรษฐกิจสะดุดมีแน่นอน”

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ ธปท.กังวล และเป็นเรื่อง Top of Mind คือ ภาคการท่องเที่ยว เพราะถ้าหากการท่องเที่ยวไม่มาตามที่คาดไว้ เศรษฐกิจจะไม่กลับมาฟื้นตัวเหมือนเดิมยาก ซึ่งท่องเที่ยวเป็นตัวช่วยเรื่องการฟื้นตัว แต่ในแง่ของตัวเลขจะเป็นเรื่องการส่งออก เพราะมีสัดส่วนการส่งออกสูง แต่ไม่ได้มีผลกับความรู้สึกคนเยอะ เพราะการจ้างงานไม่เยอะเมื่อเทียบกับภาคการท่องเที่ยว ที่มีเรื่องของรายได้และการจ้างงานเข้ามาค่อนข้างสูง

สำหรับโอกาสในการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ มองว่า โอกาสที่จะเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะทุนสำรองระหว่างประเทศค่อนข้างสูง หนี้ต่างประเทศระยะสั้นน้อย เมื่อเทียบกันแล้ว แม้ว่าจะมีเงินไหลออกก็สามารถรองรับได้ ซึ่งโจทย์ของไทย คือ การฟื้นตัวไม่ต่อเนื่อง และเครื่องยนต์เงินเฟ้อมันติด จึงต้องชั่งน้ำหนักการเติบโตกับเงินเฟ้อ ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจจึงไม่ใช่ปัญหาที่ทำให้กังวลจนนอนไม่หลับ

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันจะเห็นว่าเราเจอ Shock ใหม่ ๆ และแปลก ๆ ค่อนข้างเยอะ เดิมก่อนโควิด-19 เศรษฐกิจไทยน่จะขยายตัวได้ 3% แต่มีโควิด-19 จีดีพี -6.1% และมาเจอผลกระทบจากรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งมากระทบนรูปของอัตราเงินเฟ้อ เดิมมองว่าจะอยู่ที่กว่า 1% ล่าสุดตัวเลขวิ่งไปที่กว่า 6% ดังนั้น เพื่อรับมือกับ Shock ใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจเล็กจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันหรือสร้างกันชนอย่างน้อย 5 ข้อ

ได้แก่ 1.เสถียรภาพด้านต่างประเทศ ปัจจุบันค่อนข้างดี มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศรองรับหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 2-3 เท่า แม้ว่าเจ้าหนี้จะเอาเงินทุนออกก็ตาม 2.เสถียรภาพด้านการคลัง จะเห็นง่าหลังเกิดโควิด-19 หนี้สาธารณะปรับจาก 40% ไปสู่ระดับ 60% ซึ่งมองว่ามีความจำเป็นและหลายประเทศก็ทำในลักษณะนี้ เพราะหากไม่มีมาตรการทางการคลังมาช่วยเศรษฐกิจไทยอาจจะ -9% แต่ติดลบเพียง -6.1%

และ 3.สถียรภาพการเงิน หากดูเงินกองทุนของระบบสถาบันการเงินยังคงเข้มแข็ง มีสภาพคล่องส่วนเกินสูง แม้ว่าจะมีบางเซ็กเตอร์ที่ได้รับผลกระทบ เช่น หนี้ครัวเรือนที่สูงแตะ 90% ของจีดีพี แต่รายใหญ่ยังคงแข็งแรงมีหนี้ค่อนข้างต่ำ 4.เสถียรภาพด้านราคา เรื่องของเงินเฟ้อ ธปท.ไม่อยากให้สูงและผันผวน แต่ปัจจุบันยอมรับว่าอยู่ในระดับสูง โดยคาดว่าจะแตะรดับสูงสุด หรือพีกในไตรมาสที่ 3/65 และทยอยปรับลดลงเข้าเป้าในปี’66

สุดท้าย 5.กลไกหรือกระบวนการดำเนินนโยบายที่ดี เป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญและดีที่สุด เพราะการสร้างภูมิคุ้มกันจะต้องมีกระบวนการที่เหมาะสม และสร้างกลไกนโยบายที่เหมาะสมกับบริบท โดยถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล หรือ Data Driven มีการประเมินผลของนโยบาย ไม่เน้นการออกอย่างเดียว แต่ไม่มีการประเมินผล และการทำนโยบายจะต้องโปร่งใส สามารถอธิบายได้ชัดเจน โดยดูองค์รวมมากกว่าคนที่เสียงดัง เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม