ทำไม วิกฤติการณ์คริปโตถึงรุนแรง?

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

บทวิเคราะห์โดย นายณัฐ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศ สายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)

คนหลายคนที่ไม่เคยผ่านวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในอดีตมาอาจจะไม่เห็นภาพ และไม่เข้าใจว่าทำไมวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นกับคริปโตรอบนี้ถึงดูรุนแรง และมันอาจจะไปไกลกว่านี้อีกเพราะอะไร?

-คริปโตแทบไม่ได้ถูกหนุนหลังโดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จึงไม่มีค่าในตัวของมันเอง (intrinsic value)

มูลค่าหรือราคาของคริปโต เกิดขึ้นจากความสมดุลของแรงซื้อแรงขาย (demand-supply equilibrium) ล้วน ๆ ซึ่งใครจะมโนว่า มันมีค่าจริง ๆ ก็ตามใจ แต่มันไม่ต่างกับเหรียญจตุคามรามเทพที่เคยซื้อขายกันหลายล้านบาท พอกระแสจบ พอไม่มีคนใหม่เข้ามา ราคาก็ตกลงในที่สุด

จริงอยู่ว่าเหรียญมันไม่กลับไปที่ศูนย์ เพราะยังมีบางคนศรัทธาอยู่ แต่บางคนก็อาจจะคิดว่ามันมีค่า เพียงเพราะมันดูสวยดี หรืออาจจะนำไปทับกระดาษได้ แต่ราคาของมันจะไม่กลับไปอยู่ที่นั่นได้ง่าย ๆ อีกแล้ว ทั้ง ๆ ที่มีคนศรัทธามันมามากกว่า 30 ปี

พอเวลาเหรียญคริปโตราคาตกลงอย่างรวดเร็ว มันจึงทำให้คนสูญเสียความเชื่อมั่นได้ง่าย แถมจุดต่ำสุดคือ 0 ไม่เหมือนกับสินทรัพย์ที่มีค่าในตัวของมันเอง ซึ่งเมื่อเวลาราคาต่ำเกินไป จะมีคนเข้ามาซื้อเพราะมูลค่าภายในตัวของมัน

นอกจากนี้ พอเหรียญคริปโตต่าง ๆ อยู่ได้ เพราะความเชื่อมั่น พอความเชื่อมั่นหายไป ราคาก็เลยตกลงพร้อม ๆ กันทั้งตลาด (ทำให้ correlation เข้าใกล้ 1)

-เหรียญคริปโตมีความผูกพันกันมากกว่าที่คิด

Bitcoin Maximalist มักจะเชื่อว่า Bitcoin ดีที่สุด และอยากให้เหรียญ “shitcoins” ตายไปเสียให้หมด ทั้ง ๆ จริง ๆ แล้ว Bitcoin ก็มีแรงซื้อเข้ามา เพราะคนต้องการเอาไปเก็งกำไรในรูปแบบต่าง ๆ เช่น อาจจะเอาไปเป็นหลักประกัน หรือถูกกู้เพื่อนำไปลงทุนใน shitcoins ต่าง ๆ ดังนั้นเวลาที่ตลาดคริปโตโดยรวมลดลง จึงทำให้เกิดแรงเทขายในเหรียญอื่น ๆ ด้วย

-ธุรกิจ DeFI ยิ่งทำให้เกิดความสัมพันธ์กันมากขึ้น

ธุรกิจประเภท DeFI อย่างเช่น Automated Market Maker เช่น Uniswap, Curve etc. ช่วยผูกเหรียญสองเหรียญเข้าหากันไปกลาย ๆ เช่น เวลาที่เหรียญตัวหนึ่งมูลค่าลดลงเร็วกว่ามูลค่าใน AMM คนก็จะรีบเอาเหรียญนั้นมาแลกเหรียญที่มีมูลค่าสูงกว่าออกไป และเอาไปขายเพื่อทำ arbitrage เพื่อล็อกกำไร

ส่วนธุรกิจที่ทำตัวคล้ายธนาคารคือ นำเงินคนฝากไปลงทุน ก็มีผลใกล้เคียงกัน ธุรกิจเหล่านี้อาจจะรับฝากเงินหลายสกุล แล้วนำไปลงในหลายช่องทาง พอธุรกิจสูญเสียความเชื่อมั่นจากการที่เหรียญบางตัวราคาลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ฝากรีบถอนเงินลงทุน ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ต้องหาช่องทางการขายสินทรัพย์ เพื่อนำเงินมาคืนให้กับนักลงทุน

-ธุรกิจคริปโตมีความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวสูงมาก

ธุรกิจที่อยู่ในโลกคริปโตมีแนวโน้มที่จะนำเงินไปลงทุนในคริปโตอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในวงแคบมาก ๆ เมื่อเทียบกับธุรกิจในโลกทั่วไป ดังนั้นจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น โดยที่บางครั้งนักลงทุนเองก็ไม่รู้ อย่างเช่น พอ Terra/Luna ล้ม ก็ส่งผลให้ธุรกิจอื่นที่ลงทุนอย่างหนักใน Terra/Luna อย่างเช่น Celsius, Three Arrows Capital และกองทุนคริปโตอื่น ๆ ได้รับผลกระทบไปด้วย

และพอไม่มี the lender of last resort ตัวจริงอย่างธนาคารกลางเข้ามาเป็นตัวหยุดไม่ให้วิกฤติการณ์มันลามต่อไป ผลกระทบจึงออกไปในวงกว้างได้ไม่ยากนัก (ป.ล. อาจจะมี the lender of last resort ตัวปลอม คือ Tether ซึ่งอาจจะเสกเงิน หรือให้กู้ยืมเงิน เพื่อแก้ไขสถานการณ์ แต่หากไม่ระวัง ก็อาจจะทำให้คนสูญเสียความเชื่อมั่นใน Tether ได้เช่นกัน)

ดังนั้น หาก Nassim Taleb เคยพูดถึงปัญหาเศรษฐกิจปี 2008 ว่าเป็นเหตุการณ์ Black Swan ที่มีโอกาสเกิดขึ้นนาน ๆ ครั้ง ฤดูหนาวคริปโตในเวลานี้อาจจะเป็น White Swan ที่ทุก ๆ คนควรคิดว่าจะได้เห็นเป็นประจำอยู่แล้วในทุก ๆ หน้าหนาวของโลกคริปโตก็เป็นได้ อย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาในปี 2018 เพียงแค่รอบนี้มี DeFI กองทุนคริปโต ธุรกิจคล้ายธนาคาร รวมไปถึง algorithmic stablecoin มาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้มันเร็ว และแรงกว่าเดิม