การขึ้นดอกเบี้ยทั่วโลก ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยและทางเดินของไทย

เงินเฟ้อ
คอลัมน์ : นั่งคุยกับห้องค้า
ผู้เขียน : ภาณี กิตติภัทรกุล, กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ธนาคารกสิกรไทย

เงินเฟ้อสหรัฐเดือนพฤษภาคมขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 8.6% เหนือความคาดหมายของตลาด ซึ่งทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 75bps เป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 1994

โดยเฟดยังคงย้ำที่จะต่อสู้กับเงินเฟ้อและมุ่งมั่นที่จะทำให้เงินเฟ้อกลับสู่ระดับ 2% ให้ได้ ทำให้ตลาดต่าง ๆ เกิดความผันผวนมาก และทำให้ตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะตลาดหมีอย่างรวดเร็ว หลังการประชุมเฟดที่ผ่านมา เฟดโดนวิจารณ์หนักว่าแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อช้าเกินไป ทำให้ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย และทั้งนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ และนักธุรกิจออกมาเตือนถึงการที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย

เศรษฐกิจสหรัฐติดลบในไตรมาสแรกของปีนี้ และหากติดลบอีกในไตรมาสที่สอง สหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค โดยเครื่องชี้ต่าง ๆ ของเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวลง ซึ่งสงครามในยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง ความเสี่ยงการปิดเมืองของจีนที่สร้างความกดดันด้านการขนส่งและกระทบต่ออุปทานโลก และการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

ทำให้ตลาดคาดการณ์สหรัฐใกล้เข้าสู่ภาวะถดถอยเข้าไปทุกที นอกจากนี้โมเดลของเฟดนิวยอร์กแสดงให้เห็นว่าโอกาสที่เฟดจะไม่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยมีเพียงแค่ 10%

ภาวะเงินเฟ้อสูงไม่ใช่แค่สหรัฐที่เผชิญ แต่เป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งต้องใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวเช่นเดียวกับเฟด โดยธนาคารกลางอังกฤษปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ไปแล้ว 100bps สู่ระดับ 1.25% ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก -0.75% สู่ระดับ -0.25% รวมถึงประเทศอื่น ๆ อย่างเช่น ธนาคารกลางฮังการี บราซิล ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ และอาร์เจนตินา ต่างก็ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้วเช่นกัน

ทางด้านยุโรปก็ประกาศเตรียมขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ทำให้ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกหลายตลาดปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง เนื่องจากนักลงทุนกังวลการเกิดภาวะถดถอยในอนาคตอันใกล้มากขึ้น เนื่องจากเมื่อประเทศต่าง ๆ ขึ้นดอกเบี้ยพร้อมกันจะยิ่งดึงอุปสงค์ลงพร้อม ๆ กันทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจมากขึ้นอีก และอาจทำให้เกิดช็อกขึ้นได้

สำหรับไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ส่งสัญญาณในการประชุมล่าสุดเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งตลาดคาดการณ์ ธปท.จะขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาสที่สามนี้ จากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูงมาก เศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐเพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับค่าเงินที่อ่อนค่ามากจะเป็นภาระทำให้ผู้นำเข้ามีภาระต้นทุนสูงขึ้น และส่งผลต่อเงินเฟ้อให้สูงขึ้นอีก

โจทย์ที่ใหญ่ของไทยในตอนนี้คือ เมื่อ ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยแล้ว จะมีมาตรการอะไรเพื่อดูแลกลุ่มเปราะบาง ทำให้ได้รับผลกระทบน้อยลง รวมถึงหนี้สาธารณะที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง เมื่อดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นยิ่งสร้างภาระให้กับประเทศมากขึ้น ไทยจะต้องปรับตัวอย่างไร ไทยจำเป็นต้องมองการณ์ไกลเพื่อไม่ให้เราเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือเกิดสถานการณ์แบบปี 1997 อีก