กังวลค่าครองชีพพุ่ง ฉุดดัชนี KR-ECI เดือน มิ.ย. ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ค่าครองชีพ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) เดือน มิ.ย.2565 ขยับลงต่อเนื่องอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เหตุครัวเรือนกังวลระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้น หลังเงินเฟ้อพีกสุดรอบ 14 ปี

วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในระดับปัจจุบัน (มิ.ย.2565) ขยับลงต่อเนื่องอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 30.8 และ 32.9 แม้การจ้างงานและรายได้มีทิศทางที่ดีขึ้น แต่สถานการณ์ราคาสินค้าที่สูงขึ้นยังคงกดดันให้ดัชนีปรับลดลงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในเดือน มิ.ย.2565 ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยดัชนี KR-ECI ปัจจุบันและ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 30.8 และ 32.9 จาก 31.2 และ 34.0 ในเดือน พ.ค.2565

แม้ว่าครัวเรือนจะมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อภาวะรายได้และการจ้างงาน หลังภาครัฐมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 เพิ่มเติม ทั้งในส่วนของการเริ่มเปิดสถานบันเทิงในจังหวัดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวและพื้นที่เฝ้าระวัง รวมถึงลดเงื่อนไข Thailand Pass เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้นสะท้อนจากระดับเงินเฟ้อในเดือนมิ.ย.2565 ที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 14 ปี ยังคงกดดันดัชนีให้ลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นเรื่องระดับรายได้และการจ้างงานพบว่ามีครัวเรือนกว่า 41% ที่รายได้และการจ้างงานเริ่มกลับมาสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว ขณะที่อีกกว่า 35% มีรายได้ลดลงจากเดิมเนื่องจากยังมีชั่วโมงการทำงานที่ลดลง

นอกจากนี้ ได้มีการสอบถามเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายว่าท่ามกลางระดับราคาสินค้าและพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในหมวดใดที่ปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด ซึ่งผลสำรวจระบุว่าครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายในหมวด พลังงาน สาธารณูปโภค และบริการพื้นฐานในชีวิตประจำวันปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด (73%) บ่งชี้ว่าในภาพรวมกำลังซื้อของภาคครัวเรือนยังไม่สามารถกลับมาได้เต็มที่ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายจำเป็นมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น


ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าภาวะการครองชีพของครัวเรือนยังมีแนวโน้มเปราะบาง แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานจะเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น หลังมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดในหลายด้าน แต่ระดับราคาสินค้าจำเป็นและบริการพื้นฐานที่ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น เช่น ราคาแก๊สหุงต้มที่ทยอยปรับขึ้นราคาหรือการปรับขึ้นค่าโดยสารรถสาธารณะต่าง ๆ จะยังส่งผลให้ครัวเรือนมีความกังวลต่อค่าครองชีพและกดดันกำลังซื้อต่อเนื่อง