“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ใต้หมวก FETCO ปลุกเชื่อมั่นตลาดทุนฝ่าโลกปั่นป่วน

กอบศักดิ์ ภูตระกูล
กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO)

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เพิ่งประกาศดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเดือน มิ.ย. 2565 อยู่ที่ 64.57 หรืออยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา (Bearish)” เป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน ซึ่งมาจากภาวะความปั่นป่วนของตลาดเงินตลาดทุนที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยผู้แถลงดัชนีรอบนี้ คือ “ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ที่ได้รับเลือกจากคณะกรรมการ FETCO ให้เป็นประธานกรรมการคนใหม่ ต่อจาก “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” มีวาระดำรงตำแหน่ง 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2565 ไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2567

แผน 2 ปี ขับเคลื่อนตลาดทุน

โดย “ดร.กอบศักดิ์” กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่มีความท้าทายอย่างยิ่งของการดำเนินนโยบาย การลงทุน และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทุกฝ่าย ซึ่งในฐานะที่ตนเข้ามาดำรงตำแหน่งประธาน FETCO ในช่วงอีก 2 ปีข้างหน้า ได้วางแผนการขับเคลื่อนนโยบายด้านตลาดทุน ประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก

เสาหลักแรก คือ การผลักดันเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาตลาดทุนไทย โดยจะมุ่งผลักดันเสนอความเห็นและให้คำปรึกษาต่อภาครัฐ ยกตัวอย่าง เช่น การใช้ตลาดทุนเพื่อช่วยพัฒนาประเทศ การเพิ่มฐานภาษี การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อแข่งขัน รวมถึงแนวคิดต่าง ๆ ซึ่งทาง FETCO มีความคิดว่า สามารถใช้ตลาดทุนเป็นเครื่องมือสำคัญในการขยายขนาดการลงทุนของประเทศ เพื่อทำให้รัฐเก็บภาษีได้มากขึ้นได้

“ล่าสุดมีเรื่องการเก็บภาษีขายหุ้น ซึ่งทาง FETCO มีแนวคิดว่า ถ้าทำให้เค้กของประเทศใหญ่ขึ้น รัฐบาลก็จะสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น แล้วก็จะมีเงินไหลเข้าสู่คลังหลวงมากขึ้นเช่นกัน โดยต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้ตลาดทุนมีประสิทธิภาพ และมีความลึกเรื่องสภาพคล่อง ให้สามารถจะดึงดูดบริษัทต่าง ๆ เข้าสู่ตลาด เมื่อบริษัทเหล่านั้นเข้าสู่ตลาดได้ก็จะจ่ายภาษีถูกต้อง ซึ่งจากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า บริษัทที่เข้าตลาดจะจ่ายภาษีได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า 
รวมถึงยังมีบริษัทสตาร์ตอัพต่าง ๆ ที่ยังดึงเข้ามาได้อีก”

นอกจากนี้ ขณะนี้ยังต้องเร่งผลักดันการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (2565-2570) รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นการลงทุนของประเทศ

5 โครงการพัฒนา Ecosystem

“ดร.กอบศักดิ์” กล่าวว่า นอกจากร่วมมือกับภาครัฐแล้ว เสาหลักที่สอง จะเป็นโครงการพัฒนา Capital Market Ecosystem ซึ่งจะมีโครงการพัฒนาเพื่อวางรากฐานประมาณ 5 โครงการด้วยกัน ได้แก่ 1) โครงการ Capital Market 4.0 ที่มีความจำเป็นต้องคิดถึงการดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังเข้าสู่ตลาดทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยแม้ว่าช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา สินทรัพย์ดิจิทัลต่าง ๆ จะปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง แต่ในอนาคตก็ยังต้องดำเนินต่อไป

2) โครงการ Green Capital Market ที่จะต้องขับเคลื่อนให้ตลาดทุนไทยเป็นผู้นำในเรื่อง ESG (Environment, Social และ Governance)

3) จะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสมาชิก FETCO ในการทำโครงการทบทวนและปรับปรุงกฎหมาย หรือกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจตลาดทุน (Regulatory Guillotine) มุ่งลดละเลิกพันธนาการต่าง ๆ 
ของตลาดทุนไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ตลาดทุนไทยมีความน่าลงทุนมากขึ้น

4) โครงการ EODCMB สร้างความง่ายในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน โดยจะพัฒนา Portal กลางร่วมกับ ก.ล.ต. เพื่อรวมศูนย์การขอไลเซนส์ภาคตลาดทุน เพื่อเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐกับประชาชน เหมือนกับสมัยก่อน
ที่ประเทศสิงคโปร์มี “ไลเซนส์วัน”

และ 5) โครงการ Capital Market for All ที่จะทำให้ตลาดทุนสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในทุกระดับ ซึ่งกำลังคิดโครงการที่จะให้ตลาดทุนสามารถนำต้นทุนดอกเบี้ยที่ถูกกว่าแหล่งเงินอื่น ลงไปสู่ประชาชนได้มากขึ้น

ป้องกันมิจฉาชีพตุ๋นลงทุน

สุดท้าย เสาหลักที่สาม การขยายฐานบุคลากรตลาดทุน/ผู้ลงทุนเชิงคุณภาพ ประกอบด้วย การสร้างความตระหนักรู้ ป้องกัน และดำเนินการกรณีพบการกระทำในลักษณะแอบอ้างและหลอกลวงผู้ลงทุน, จัดกิจกรรม “ตลาดทุนพบภาครัฐ”, จัดแถลงดัชนี FETCO Investor Confidence Index รายเดือนและภาวะเศรษฐกิจ, จัดสัมมนา “FETCO Capital Market Outlook” และจัด International Capital Market Symposium

“ดร.กอบศักดิ์” กล่าวว่า ล่าสุด FETCO ได้ร่วมกับ ก.ล.ต. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดทำโครงการ “ไม่เช็กให้ชัวร์ อย่าเชื่อ” เพื่อเตือนประชาชนระมัดระวังการถูกหลอกลวงให้ลงทุน โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ ซึ่งระบาดหนักในปัจจุบัหลากหลายรูปแบบ ทั้งนี้ จะสร้างพื้นที่ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ก่อนว่า เมื่อถูกชักชวนลักษณะนี้ เข้าข่ายถูกหลอกลวงหรือไม่

หวั่นเฟดขึ้นดอกเบี้ยฉุดเชื่อมั่น

“ดร.กอบศักดิ์” กล่าวด้วยว่า ตลาดทุนไทยยังน่าสนใจ นักลงทุนต่างชาติยังต้องการเข้ามาลงทุน โดยปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย (บจ.) มีกำไรสุทธิรวมกันเกือบ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งก่อนเกิดโควิด กำไรก็อยู่ที่ 9.5 แสนล้านบาท หมายความว่ากำไรกลับมาสูงกว่าช่วงโควิดแล้ว โดยอุตสาหกรรมที่มีผลสำรวจความน่าสนใจออกมาสูงสุด มีด้วยกัน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม, กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด ขณะที่นโยบายการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นที่มีต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด

“ที่ผ่านมา ตั้งแต่ต้นปีมา กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดหุ้นของไทย เป็นการไหลเข้าต่อเนื่องจนถึงเดือน พ.ค. 2565 ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ เป็นการไหลออก กระทั่งในเดือน มิ.ย. 2565 ที่มีการไหลออกของเงินทุน สะท้อนว่า นักลงทุนต่างชาติยังต้องการเข้ามาลงทุนในหุ้นไทย แต่ช่วงนี้อาจจะเริ่มกังวลใจจากภาวะที่โลกปั่นป่วนมาก และปัญหาในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (EM) เริ่มมากขึ้น”

โลกปั่นป่วนลงทุนช่วงนี้ไม่ง่าย

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ช่วงนี้การลงทุนไม่ง่าย เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดปัจจัยที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุมอะไรบ้าง โดยอ้างอิงจากข้อมูลของสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน มองกรอบดัชนีตลาดหุ้นไทยช่วงปลายไตรมาส 3 คาดว่าจะอยู่
แถว ๆ 1,569 จุด หรือใกล้เคียงปัจจุบัน และสิ้นปีคาด 1,646 จุด โดยช่วงครึ่งปีหลังตลาดหุ้นน่าจะปรับดีขึ้น เนื่องจากหุ้นที่ตกลงมามากก่อนนี้จะฟื้นตัวได้ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อน่าจะสูงสุดในไตรมาส 3

อย่างไรก็ดี ไม่มีใครรู้ว่าภาวะตลาดหมีจะยาวกี่เดือน แต่จากข้อมูล ถ้าไม่เกิดเศรษฐกิจถดถอย ตลาดหมีจะเกิดประมาณ 6 เดือน โดยดัชนีจะปรับลงประมาณ 30% แต่ถ้าเกิดเศรษฐกิจถดถอย ภาวะตลาดหมีจะยาวถึง 20 เดือน ดัชนีจะปรับลงประมาณ 40% แต่จากนั้นหลังตลาดหมีจบลง 6 เดือน ดัชนีจะปรับขึ้น 30% และหลังจากนั้น 12 เดือน จะปรับขึ้น 50%

“นักลงทุนต้องมีภาพนี้อยู่ในใจ คือ ช่วงที่ขึ้นต้องมีเงินให้ได้ ดังนั้นช่วงนี้อย่าเสียเงินทั้งหมด เก็บเงิน ถนอมตัวไว้บ้าง ไม่ต้องลงทุนทุกวันก็ได้ เมื่อผ่านช่วงคับขันไปก็จะไปได้ คือช่วงนี้เหมือนเป็นช่วงมรสุม มรสุมก็พัดไปเยอะแล้ว แต่ยังไม่จบ”

แนะซื้อหุ้นพื้นฐานดี-ราคาถูก

ทั้งนี้ ในช่วงนี้ก็ซื้อหุ้นพื้นฐานดี ๆ เป็นหุ้นแห่งอนาคต ที่ราคาปรับลงมาถึง 75% หลายตัว โดยหัวใจสำคัญต้องคิดว่าไม่มีใครสามารถซื้อที่จุดต่ำสุดได้ แต่สามารถซื้อในราคาที่เหมาะสมได้ ซึ่งช่วงแรกอาจจะติดดอยในช่วงแรก ๆ แต่หลังจากนั้นราคาก็จะปรับขึ้น

“ฉะนั้นไม่ซื้อตอนนี้จะซื้อตอนไหน แต่ไม่ใช่วันนี้ หมายความว่ารอดูอีกนิด รอดูว่าจุดเปลี่ยนจะมาตอนไหน ซึ่งจุดเปลี่ยนก็เช่นเงินเฟ้อพีกหรือยัง เป็นต้น” ประธาน FETCO กล่าว