ขึ้นดอกเบี้ยกระทบลูกหนี้เปราะบาง แบงก์เร่งปรับการชำระช่วยประคอง

ผยง ศรีวณิช
ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทยและประธานสมาคมธนาคารไทย

ประธานสมาคมแบงก์ห่วงเงินเฟ้อกระทบคนรายได้น้อย ชี้สถาบันการเงินต้องประคับประคองลูกหนี้ฝ่าวิกฤตระลอกใหม่ เฝ้าระวังหนี้เสียพุ่ง หวั่นขึ้นดอกเบี้ยกระทบกลุ่มเปราะบาง

วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ปัจจัยอัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และหนี้ครัวเรือนที่ปรับเพิ่มขึ้นถือเป็นความท้าทายต่อเนื่องของสถาบันการเงิน ซึ่งออกจากวิกฤตโควิด-19 มาเจออีกวิกฤต ซึ่งเป็นปัจจัยที่เข้ามากระทบลูกหนี้และกิจกรรมการทำธุรกิจของธนาคาร

โดยช่วงนี้ยอมรับว่าจะต้องประคองลูกหนี้ให้ดี ๆ เพื่อให้สามารถผ่านพายุลูกใหม่นี่ให้ได้ ซึ่งทางการโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด (Soft Landing) อย่างไรก็ดี ในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านจะกระเทือนถึงผู้ประกอบการ ลูกหนี้ และระบบของธนาคารพอสมควร

ดังนั้น ภายใต้เงินเฟ้อที่เป็นปัจจัยอ่อนไหวกับผู้มีรายได้น้อย ในมุมของสถาบันการเงินยังคงต้องประคองลูกหนี้ต่อเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ที่ธนาคารประคองมาแล้วรอบหนึ่งก็ต้องประคองให้ยาวและนานขึ้น ซึ่งหากดูลูกหนี้ Stage 1 และ Stage 2 ถือว่ามีจำนวนพอสมควร โดยตัวเลขรวมกันในไตรมาส 1 อยู่ที่ประมาณ 10% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต้องเฝ้าระวัง

และหากดูลูกหนี้ Stage 1 ส่วนหนึ่งเกิดจากมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ยั่งยืน (ฟ้า-ส้ม) ดังนั้น หน้าผาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ปัจจุบันมีอยู่ 2 ล้านล้านบาท จำเป็นต้องประคองและแก้หนี้เป็น Step ยอมรับว่ากลุ่มเปราะบางมีความเสี่ยงที่บางคนจะกลับมาชำระได้ปกติ หรือบางคนจำเป็นต้องประคองยืดหนี้ออกไปอีก

“ในมุมเครื่องมือการช่วยเหลือเรามีครบ แต่การเอาไปใช้ต้องใช้ต่อเนื่อง ซึ่งสมาคมและธนาคารได้มีการคุยกันว่าหลัง ธปท.ผ่อนคันเร่งและปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น ซึ่งมีผลกับลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอย่างแน่นอน ซึ่งเราก็ต้องประคองปรับโครงสร้างหนี้ให้การชำระหนี้เหมาะสมกับรายได้ และเฝ้าติดตามใกล้ชิด

ซึ่งในมุมการปรับดอกเบี้ยนั้น มองว่าเราก็ต้องดูเป็นระบบให้กลไกการทำงานเป็นปกติ เพราะถ้าฝืนกลไกอาจทำให้เกิดการบอบช้ำในระบบ ซึ่งจุดนี้จะต้องดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อที่จะประคองไม่ให้เกิดความบอบช้ำในระบบเหมือนน้ำท่วม หากฝืนมากน้ำจะหมุดใต้ดินน้ำก็ท่วมอยู่ดี แต่เชื่อว่าระบบสถาบันการเงินมีความพร้อมรองรับพายุทั้งในแง่ Buffer เงินกองทุน สภาพคล่อง แต่ก็เป็นประเด็นที่มีความท้าทายเช่นกัน” นายผยงกล่าว