ชีวิตใหม่ รถไฟ KIHA 183 จากญี่ปุน เชิญชวนประชาชนร่วมเดินทางปลายปีนี้

ชีวิตใหม่ รถไฟ KIHA 183 จากญี่ปุน เชิญชวนประชาชนร่วมเดินทางปลายปีนี้
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

สุดปลื้ม “ชาวไทย-ชาวญี่ปุ่น” แห่ชื่นชมการรถไฟฯ คืนชีวิตใหม่ให้ “รถไฟ KIHA 183” อีกครั้ง เชิญชวนประชาชนร่วมเดินทางปลายปีนี้ พร้อมเดินหน้าปรับปรุงต่อเนื่องเพื่อเปิดให้บริการครบทั้ง 17 คัน ภายในปี 2566

วันที่ 11 ตุลาคม 2565 นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากการรถไฟฯ ได้ปรับปรุง และนำขบวนรถไฟดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 ที่ได้รับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) ประเทศญี่ปุ่น มาทดสอบเดินรถในเส้นทางต่าง ๆ เช่น กรุงเทพ-ศรีราชา (ชลบุรี) และกรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา ฯลฯ

ปรากฏว่า ได้รับเสียงชื่นชมจากทั้งคนไทยและคนญี่ปุ่นอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะการปรับปรุงตู้รถไฟ KIHA 183 ให้มีความสวยงาม กลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยยังคงสภาพเดิมทั้งสี และอักษรภาษาญี่ปุ่น จนทำให้ชาวญี่ปุ่นหลายคนอยากเดินทางมานั่งรถไฟขบวนนี้อีกครั้งที่ประเทศไทย เพื่อรำลึกความหลังเมื่อครั้งให้บริการอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นจำนวนมากแสดงความขอบคุณที่การรถไฟฯช่วยรักษา และปรับปรุงให้รถไฟของญี่ปุ่นมีสภาพใหม่เอี่ยม รวมถึงรักษาเอกลักษณ์ของตัวรถไว้เหมือนเดิมทุกประการ โดยคนญี่ปุ่นชื่นชมที่การรถไฟฯ และคนไทยให้เกียรติกับประเทศญี่ปุ่นมาก

โดยทั้งหมดนี้เป็นนโยบายของนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้คงเอกลักษณ์เดิมของญี่ปุ่นไว้ทั้งหมด ถือเป็นการให้เกียรติ และยอมรับในเอกลักษณ์ของญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยสานสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกันให้ยั่งยืนต่อไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับรถไฟดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 ที่การรถไฟฯได้รับมอบจากบริษัท JR HOKKAIDO ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนเดินรถของประเทศญี่ปุ่น จำนวน 17 คัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายนั้น ประกอบด้วย

  • รถดีเซลรางปรับอากาศ แบบมีห้องขับสูง (High Cab) 40 ที่นั่ง จำนวน 8 คัน
  • รถดีเซลรางปรับอากาศ แบบไม่มีห้องขับ 68 ที่นั่ง จำนวน 8 คัน
  • รถดีเซลรางปรับอากาศ แบบมีห้องขับต่ำ (Low Cab) 52 ที่นั่ง จำนวน 1 คัน

ซึ่งการรถไฟฯได้มีการปรับขนาดความกว้างของล้อจาก 1.067 เมตร ให้เป็นขนาด 1 เมตร ตามมาตรฐานทางรถไฟไทย โดยช่างของฝ่ายการช่างกล โรงงานมักกะสัน ที่ต้องใช้ความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน รวมทั้งได้นำตู้โดยสารมาปรับปรุงภายนอกตัวรถ มีการดัดแปลง และปรับปรุงนำโคมไฟส่องทางด้านบนของตัวรถออก เนื่องจากเกินเขตโครงสร้างของรถ (Loading Gauge) และได้ย้ายไฟมาติดตั้งที่หน้ารถแทน บริเวณซ้ายและขวาจำนวน 2 ดวง

ตลอดจนดัดแปลงบันไดให้สามารถขึ้น-ลงได้กับชานชาลาต่ำได้ รวมถึงปรับสภาพผิวตัวรถภายนอกโดยได้ขัดทำสีใหม่ ด้วยการใช้น้ำยาลอกสีแทนการใช้ความร้อน เพื่อไม่ให้เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังคงใช้เฉดสีเดิมควบคู่กับการรักษาเอกลักษณ์กลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นความร่วมมือระหว่างการรถไฟฯ และบริษัทในเครือ JR ที่มีมาอย่างยาวนาน

รถไฟญี่ปุ่น KIHA 183 SRT ห้องคนขับ KIHA 183 รถไฟญี่ปุ่น KIHA 183 สถานีหัวลำโพง รถไฟญี่ปุ่น KIHA 183 ภายในรถไฟ KIHA 183 รถไฟ KIHA 183 ห้องโดยสาร เบาะที่นั่ง รถไฟ KIHA 183

การรับมอบในครั้งนี้เป็นความร่วมมือในการมอบตู้โดยสารเป็นครั้งที่ 2 หลังจากในครั้งแรกได้ส่งมาให้ประเทศไทยแล้ว จำนวน 10 ตู้ เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการปรับปรุงดัดแปลง เพื่อใช้เป็นขบวนรถด้านการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ การรถไฟฯยังเคยได้รับตู้โดยสารรถไฟจากประเทศญี่ปุ่น (บริษัท JR-West) เพื่อใช้ในกิจการรถไฟ โดยนำมาปรับปรุงและดัดแปลงเป็นรถโดยสารและรถจัดเฉพาะ เช่น รถ SRT Prestige รถประชุมปรับอากาศ ฯลฯ เพื่อให้บริการแก่ประชาชน สามารถสร้างรายได้ให้กับการรถไฟฯ และส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศได้เป็นอย่างดี

“การรถไฟฯ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับคำชื่นชมต่าง ๆ หลังจากนี้จะเร่งพัฒนาปรับปรุงรถไฟดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 ที่เหลือให้แล้วเสร็จ และพัฒนาอย่างดีที่สุด เพื่อนำออกมาวิ่งให้บริการครบทั้ง 17 คันภายในสิ้นปี 2566

ปัจจุบันฝ่ายการช่างกล ปรับปรุงเสร็จสมบูรณ์แล้ว 4 คัน คาดว่าจะสามารถนำมาให้บริการเดินขบวนรถในเส้นทางท่องเที่ยวได้ภายในปีนี้ มั่นใจว่านอกจากจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างประสบการณ์ใหม่ในการเดินทางท่องเที่ยวทางรถไฟแล้ว ยังจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ตามนโยบายรัฐบาลด้วย

โดยในระยะแรกจะเริ่มทดลองนำรถออกให้บริการในเส้นทางระยะสั้น แบบวันเดย์ทริป หรือเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ตลอดจนนำออกมาให้เช่าสำหรับผู้ที่สนใจนำไปจัดกิจกรรม หรือนำเที่ยวเป็นหมู่คณะ”

ท้ายสุดนี้ การรถไฟฯขอเชิญชวนประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะ เพื่อกำหนดเส้นทางในการให้บริการต่อไป ซึ่งประชาชนสามารถเสนอเส้นทางที่อยากให้รถไฟดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 เดินรถให้บริการได้ ผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจทีม พี.อาร์.การรถไฟแห่งประเทศไทย ตลอด 24 ชั่วโมง

เพื่อตอบสนองความต้องการ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นการร่วมกันสร้างประสบการณ์ใหม่ในการเดินทางท่องเที่ยวที่ดีให้แก่ประชาชนตามนโยบายนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยด้วย