เปิดบัญชีรายชื่อกฎหมาย 204 ฉบับ ปรับเป็นพินัย ไม่ถือเป็นโทษอาญา

อัพเดตล่าสุด 26 ตุลาคม 2565 เวลา 17.45 น.

ราชกิจจานุเบกษาประกาศแล้ว กฎหมายใหม่ “พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565” ยกเลิกโทษร้ายแรง มีผลบังคับใช้ใน 240 วัน และมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ในบัญชี 1-3 รวม 204 ฉบับ ปรับเป็นพินัย ไม่ถือเป็นโทษอาญา ยกเลิกการจับกุม คุมขัง บันทึกประวัติอาชญากร เหมือนนานาประเทศ เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ใช้วิธีชำระค่าปรับอย่างเดียว หากฐานะไม่ดี ไม่มีค่าปรับ สามารถผ่อนชำระได้ หรือขอทำงานบริการสังคม หรือ สาธารณประโยชน์แทนได้

วันที่ 26 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 มีใจความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติว่ารัฐพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรงกรณีจึงเป็นการสมควรกำหนดให้การกระทำความผิดในลักษณะที่เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในกรณีที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรงและโดยสภาพไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างร้ายแรง หรือไม่มีผลกระทบต่อส่วนรวมอย่างกว้างขวางเป็นความผิดทางพินัย โดยไม่ถือเป็นความผิดอาญา และให้กำหนดค่าปรับเป็นพินัยสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม โดยไม่ถือเป็นโทษอาญา

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565”

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่บทบัญญัติแห่งมาตรา 37 และมาตรา 38 วรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้วันที่ 26 ตุลาคม 2565)

มอบอำนาจนายกฯตั้งคณะกรรมการฯ ออกกฎกระทรวง ระเบียบที่เกี่ยวข้อง

สำหรับมาตรา 37 ระบุว่า เมื่อพระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ผู้มีหน้าที่และอำนาจในการออกกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศ แล้วแต่กรณี ให้แล้วเสร็จ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนวันพ้นกำหนดสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศดังกล่าวต้องไม่ใช้บังคับก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ส่วนมาตรา 38 ในวาระเริ่มแรกให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งมีจำนวนตามที่เห็นสมควร เพื่อให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งการเสนอแนะการออกกฎกระทรวง และระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวของ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่หน่วยธุรการของคณะกรรมการดังกล่าว และให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาแต่งตั้งข้าราชการของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ

มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ “ปรับเป็นพินัย” หมายความว่า สั่งให้ผู้กระทำความผิดทางพินัยต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกินที่กฎหมายกำหนด “ความผิดทางพินัย” หมายความว่า การกระทำหรืองดเว้นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และกฎหมายนั้นบัญญัติให้ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงาน นายทะเบียนคณะบุคคล และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เรียกชื่ออย่างอื่น บรรดาที่กฎหมายบัญญัติให้มีอำนาจปรับเป็นพินัย หรือที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัยตามมาตรา 14

มาตรา 4 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

แจงเหตุปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพความผิด

สำหรับ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติให้รัฐพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง ประกอบกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายได้กำหนดให้มีการปรับปรุงกฎหมายในการกำหนดโทษอาญาให้เหมาะสมกับสภาพความผิดหรือกำหนดมาตรการลงโทษให้เหมาะสมกับการกระทำความผิด และฐานะของผู้กระทำความผิดเพื่อมิให้บุคคลต้องรับโทษหนักเกินสมควร หรือต้องรับภาระในการรับโทษที่แตกต่างกันอันเนื่องมาจากฐานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน เนื่องจากกรณีที่กฎหมายกำหนดโทษปรับ ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดีย่อมสามารถชำระค่าปรับได้ แต่ผู้มีฐานะยากจนและไม่อยู่ในฐานะที่จะชำระค่าปรับได้จะถูกกักขังแทนค่าปรับอันกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างรุนแรง

ประกอบกับเมื่อคำนึงถึงข้อห้ามหรือข้อบังคับที่กฎหมายกำหนดให้ประชาชนต้องปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติแล้ว จะพบว่ามีข้อห้ามหรือข้อบังคับจำนวนมากอาจรุกล้ำเข้าไปในสิทธิพื้นฐานหรือสร้างภาระอันเกินสมควรแก่ประชาชน และนับวันจะมีกฎหมายตราออกมากำหนดการกระทำให้เป็นความผิดมากขึ้น หลายกรณีทำให้ประชาชนกลายเป็นผู้กระทำความผิดเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บางกรณีกระทำไปเพราะความยากจนเหลือทนทาน และเมื่อได้กระทำความผิดแล้ว ก็ต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา เช่น ถูกจับกุม คุมขัง พิมพ์ลายนิ้วมือและลงบันทึกประวัติอาชญากรเป็นประวัติติดตัวตลอดไป

และในที่สุดไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่ กระบวนการที่กล่าวมาย่อมสร้างรอยด่างให้เกิดแก่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้ามีทางใดที่จะป้องกันมิให้ประชาชนจะต้องตกเข้าสู่กระบวนการนั้นได้ จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคมลงได้ตามสมควร แม้ว่าการกำหนดมาตรการอันเป็นโทษที่ผู้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีเพื่อให้กฎหมายมีสภาพบังคับ แต่โทษนั้นก็ไม่จำเป็นต้องใช้โทษอาญาเสมอไป ซึ่งนานาประเทศได้เริ่มปรับเปลี่ยนบทลงโทษจากความผิดอาญาเป็นมาตรการอื่นที่มิใช่โทษอาญามากขึ้น รวมทั้งการใช้มาตรการอื่นแทนการลงโทษทางอาญา เช่น การคุมประพฤติ

กรณีจึงสมควรที่ประเทศไทยจะพัฒนากฎหมายไทยให้สอดคล้องกับนานาประเทศ และเกิดประโยชน์แก่ประชาชนยิ่งขึ้น โดยปรับเปลี่ยนโทษอาญาบางประการที่มุ่งต่อการปรับเป็นเงินตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติ เปลี่ยนเป็นมาตรการปรับเป็นพินัยที่สร้างขึ้นใหม่ไม่ให้มีสภาพเป็นโทษอาญา โดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้ใช้ดุลพินิจกำหนดค่าปรับที่ต้องชำระให้เหมาะสมกับสภาพความร้ายแรงแห่งการกระทำและฐานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิดให้สอดคล้องกัน

และในกรณีที่ผู้กระทำความผิดไม่มีเงินชำระค่าปรับ อาจขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนการชำระค่าปรับได้ โดยไม่มีการกักขังแทนค่าปรับดังเช่นที่เป็นอยู่ในคดีอาญา การเปลี่ยนสภาพบังคับไม่ให้เป็นโทษอาญาโดยกำหนดวิธีการดำเนินการขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะนี้ ย่อมจะช่วยทำให้ประชาชน
ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการทางอาญา และไม่มีประวัติอาชญากรรมติดตัวอีกต่อไป

การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะเป็นกลไกทางกฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมและขจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตามเจตนารมณ์ของมาตรา 77 และมาตรา 258 ค.ด้านกฎหมาย (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและแผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย

นอกจากนั้นสำหรับกฎหมายบางฉบับที่กำหนดให้มีโทษทางปกครอง แต่บัญญัติให้ฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีอาญาเพื่อบังคับชำระค่าปรับทางปกครองไว้แล้ว สมควรเปลี่ยนโทษดังกล่าวเป็นมาตรการปรับเป็นพินัยเช่นเดียวกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

เปิดบัญชีรายชื่อกฎหมาย 204 ฉบับ ปรับเป็นพินัย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามกฎหมายในบัญชี 1 บัญชี 2 และบัญชี 3 ใน ท้ายพระราชบัญญัตินี้ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยกันรวม 204 ฉบับ โดยเป็นบัญชี 1 จำนวน 168 ฉบับ บัญชี 2 รวม 33 ฉบับ และบัญชี 3 รวม 3 ฉบับ (ดูรายละเอียดท้ายข่าว)

โดยกฎหมายสำคัญ ๆ เช่น พระราชบัญญัติขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 พระราชบัญญัติกำลังพลสำรอง พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เป็นต้น

ข้อดี โทษปรับทางพินัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรึและ รมว.กลาโหม เคยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ โดยระบุว่าข้อดี โทษปรับทางพินัย ก็คือ การเปลี่ยนการลงโทษ จากการทำผิดทางอาญาที่ไม่รุนแรง ไม่มีโทษถึงจำคุก ให้เป็น โทษปรับทางพินัย ซึ่งเป็นผลดีหลายประการ เช่น

1. ไม่ถูกบันทึกประวัติอาชญากรรม ไม่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือให้เสียประวัติ เสียชื่อเสียง กระทบต่อหน้าที่การงาน

2. รับโทษปรับอย่างเดียว โดยไม่มีการกักขังระหว่างพิจารณาคดี ไม่ต้องเป็นภาระในการประกันตัว

3. ค่าปรับสามารถผ่อนชำระได้ หรือเลือกทำงานบริการสังคมแทนก็ได้

4. ศาลอาจพิจารณาลดค่าปรับ หรือเพียงตักเตือนโดยไม่ต้องปรับได้ หากเป็นการทำผิดเพราะความยากจน โดยศาลจะคำนึงถึงพฤติกรรมการกระทำผิดและสถานะทางเศรษฐกิจด้วยเสมอ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยิ่งกว่านั้นในภาพรวมของกระบวนการยุติธรรมแล้ว ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายของประเทศ แก้ปัญหาคดีล้นศาล เพราะคดีเล็กน้อยที่ปรับเป็นพินัยแล้ว ก็จะลดภาระในกระบวนการยุติธรรม สามารถใช้เวลากับคดีใหญ่ ๆ สำคัญกว่าได้มากขึ้น

โทษปรับเป็นพินัย 2565

ยกตัวอย่างโทษความผิดเล็กน้อย

นายกรัฐมนตรีได้ยกกรณีตัวอย่างความผิดเล็กน้อย ที่จะเปลี่ยนเป็นโทษปรับทางพินัย เช่น

1.ไม่แสดงใบขับขี่ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท 2.สูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ ปรับไม่เกิน 2,000 บาท 3.จอดรถขายผลไม้ริมถนนสาธารณะ ปรับไม่เกิน 2,000 บาท

4.เสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ในราคาเกินกว่าที่กำหนดในสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในสถานศึกษา หรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาล แก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

5.โฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในการเล่นแชร์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

6.ใช้ยานยนต์บนทางหลวง หรือสะพาน โดยเจตนาหลีกเลี่ยงไม่เสียค่าธรรมเนียม มีความผิดต้องระวางโทษปรับ เป็นจำนวนสิบเท่าของอัตราค่าธรรมเนียมที่กำหนด 7.ขายผลิตภัณฑ์ยาสูบโดยแจก แถม ให้ หรือแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ยาสูบกับสินค้าอื่น การให้บริการ หรือสิทธิประโยชน์อื่น แล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท 8.นำเข้า หรือนำผ่านซึ่งสิ่งไม่ต้องห้าม โดยไม่มีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับ และไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ปรับไม่เกิน 4,000 บาท

9.นำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรือจับสัตว์ หรืออาวุธใด ๆ เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือกระทำการต้องห้ามในเขตวนอุทยาน โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

10.ชุมนุมโดยไม่แจ้ง ไม่แจ้งก่อนเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท 11.ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง จดทะเบียน ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในใบทะเบียน ปรับไม่เกิน 200,000 บาท เป็นต้น

พ.ร.บ.ปรับเป็นพินัย

ประกาศฉบับเต็ม http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/A/066/T_0022.PDF

บัญชี 1 กฎหมายปรับเป็นพินัย

บัญชี 1 กฎหมายปรับเป็นพินัย

03-บัญชี 1 กฎหมายปรับเป็นพินัย

04-บัญชี 1 กฎหมายปรับเป็นพินัย

05- บัญชี 1 กฎหมายปรับเป็นพินัย

06-01-บัญชี 2 กฎหมายปรับเป็นพินัย

07-บัญชี 3 กฎหมายปรับเป็นพินัย