ประวัติสนามศุภชลาศัย สถานที่จัดคอนเสิร์ต BLACKPINK เดิมเป็นวังวินด์เซอร์

สนามศุภชลาศัย
ภาพจากเว็บไซต์ กรมพลศึกษา

รู้จักสนามศุภชลาสัย สถานที่จัดงานคอนเสิร์ต BLACKPINK WORLD TOUR BORN PINK BANGKOK วันที่ 7-8 มกราคม 2566 หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าเดิมสถานที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของวังวินด์เซอร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพโปสเตอร์ขนาดใหญ่ของวง BLACKPINK ที่มีรูปสมาชิกอย่าง จีซู-เจนนี่-โรเซ่ และลิซ่า ต้อนรับคอนเสิร์ต BLACKPINK WORLD TOUR BORN PINK BANGKOK บริเวณหน้าสนามศุภชลาศัย ถูกวิจารณ์ในโซเชียลกันอย่างล้นหลาม เพราะบางคนมองว่าเป็นสถานที่เก่าและโทรม ไม่เหมาะกับการจัดคอนเสิร์ตใหญ่ระดับนี้

แต่หากย้อนกลับไปในอดีต สนามแห่งนี้เคยผ่านการจัดกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่มาแล้วมากมาย เช่น กีฬาซีเกมส์ กีฬาเอเชียนเกมส์, ฟุตบอลโลกหญิงปี 2550, งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์, งานคอนเสิร์ตไมเคิล แจ็กสัน เวิลด์ ทัวร์ เมื่อปี 2536 รวมถึงพิธีบูชามหามิสชา เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เสด็จฯเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562

Advertisement

เนื่องจากเป็นสถานที่จัดงานสำคัญในหลายงาน “ประชาชาติธุรกิจ” พาไปทำความรู้จักสนามศุภชลาศัย เพื่อให้ทุกคนได้รู้จักสนามแห่งนี้ให้มากขึ้น

BLACKPINK
ภาพจากเพจ BLACKPINK

ประวัติสนามศุภชลาศัย

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2478 กรมพลศึกษา โดยนาวาโทหลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษาขณะนั้น ทำสัญญาเช่าที่ดินกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจัดสร้างสนามกีฬาแห่งชาติ โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษา และสโมสรสถานลูกเสือ โดยเช่าพื้นที่ทั้งหมด 77 ไร่ 1 งาน เป็นระยะเวลา 29 ปี ปีแรกไม่ต้องเสียค่าเช่า แต่ต้องเสียในปีที่สองถึงปีที่ห้าเดือนละ 400 บาท ปีถัดมาเพิ่มตามอัตรารายได้ของสนามกีฬา

วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ 2480 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ประกอบพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์กรีฑาสถานแห่งชาติ และในปีเดียวกันได้เริ่มสร้างอัฒจันทร์ชั้น 3 ด้านทิศเหนือ ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง 170,000 บาท แล้วเสร็จในปี 2481 โดยอัฒจันทร์สำหรับนั่ง 20 ชั้น มีความจุประมาณ 4,000 คน ใต้อัฒจันทร์มีที่นั่งดู ห้องน้ำทั้งสองด้าน

Advertisement

และห้องทำงาน ด้านหน้าของอัฒจันทร์หันสู่ถนนพระราม 1 ตอนกลางทำเป็นรูปพระพลบดีทรงช้างไอราพตขนาดใหญ่สง่างาม ด้านตะวันออกและตะวันตกของอัฒจันทร์ทำเป็นหอคอย ใต้หอคอยมีประตูขนาดใหญ่สำหรับขบวนนักกีฬาเข้าสู่สนาม ด้านตะวันออกชื่อว่าประตูช้าง ด้านตะวันตกชื่อว่าประตูไก่

ในปีเดียวกันได้สร้างอัฒจันทร์ชั้น 1 มีหลังคาคลุมตลอดเป็นรูปเพิงแหงนไม่มีเสาค้ำยันใด ๆ กึ่งกลางอัฒจันทร์ได้สร้างที่ประทับสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือผู้แทนพระองค์ และเหนือที่ประทับประดับด้วยพระมงกุฎไว้อย่างสง่างาม อัฒจันทร์ชั้น 1 นี้อยู่ทางด้านตะวันตก และเหนือที่ประทับขึ้นไปจัดทำเป็นห้องขยายเสียงสำหรับประกาศรายการและผลการแข่งขัน

แต่เดิมการแข่งขันกรีฑานักเรียน จะจัดอยู่ที่สนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ต่อมา นาวาโทหลวงศุภชลาศัย ร.น. อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก ได้ย้ายสนามแข่งขันไปแข่งขันที่ท้องสนามหลวง เมื่อ 2477 และในปีเดียวกันก็ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินบริเวณตำบลวังใหม่ กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรงบริเวณที่เดิมเป็นวังวินด์เซอร์

Advertisement

ซึ่งเป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ สร้างพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกฎราชกุมาร เพื่อสร้างสนามกีฬา และโรงเรียนพลศึกษากลาง สนามกีฬาแห่งใหม่นี้ใช้ชื่อว่า สนามกรีฑาสถาน เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2480 จวบจนแล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อ 2484

กรมพลศึกษาย้ายมาอยู่ที่สนามกีฬาแห่งใหม่นี้เมื่อ พ.ศ. 2481 พร้อมทั้งย้ายการแข่งขันกรีฑาประชาชนชาย ประจำปี 2481 จากสนามหลวงมาจัดที่นี่ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานพิธีเปิดการแข่งขัน ณ สนามกรีฑาสถานเป็นครั้งแรก

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2484 กรมพลศึกษา ได้เปลี่ยนชื่อสนามกรีฑาสถาน เป็นสนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงศุภชลาศัย ปัจจุบันนิยมเรียกสั้น ๆ เพียงว่า สนามศุภชลาศัย หรือสนามกีฬาแห่งชาติ

ปัจจุบันสนามศุภชลาศัยได้อยู่ในความดูแลของกรมพลศึกษา และได้คืนพื้นที่บางส่วนให้เป็นสถานที่เรียนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และใช้สถานที่บางส่วนเป็นที่ทำการของกรมพลศึกษา นอกจากนั้นยังเป็นที่ตั้งของหน่วยงาน สมาคมเกี่ยวกับกีฬา และนันทนาการอื่น ๆ

สนามศุภชลาศัย
ภาพจากเว็บไซต์กรมพลศึกษา

วัตถุประสงค์

1.เพื่อใช้ในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลระดับชาติเฉพาะรอบรองชนะเลิศ หรือรอบชิงชนะเลิศ หรือกีฬาฟุตบอลระหว่างประเทศ

2.เพื่อใช้ในการแข่งขันกรีฑาระดับชาติ หรือกรีฑาระหว่างประเทศ

3.เพื่อใช้จัดกิจกรรมทางการกีฬา หรือกิจกรรมอื่นที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อลู่วิ่งและอุปกรณ์ประจำสนาม ซึ่งกรมพลศึกษาจะพิจารณาอนุญาตเป็นราย ๆ ไป

4.การจัดกิจกรรมอื่น ๆ ในการให้บริการประชาชน

ผู้มีสิทธิขอใช้สนามศุภชลาศัย

1.หน่วยงานของทางราชการ สมาคมกีฬาสมัครเล่น หรือหน่วยงานอื่นที่กรมพลศึกษาให้ความร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

2.หน่วยงานอื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้ข้างต้น