กองทัพไทย รับมีทหารร่วมทีมรีดไถ 20 ล้าน แลกปล่อยตัวจีนสีเทา

กองทัพไทยรับมีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องตบทรัพย์ทุนจีนสีเทา
พล.ท.ธีรพงศ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร ในฐานะโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย

ผลตรวจสอบกองบัญชาการกองทัพไทย กรณีกลุ่มเจ้าหน้าที่เรียกรับเงิน 20 ล้านจากชาวจีนต้องสงสัยคดีผับจินหลิง มีนายทหารสังกัดกำลังพล ศรภ.จริง

วันที่ 17 มกราคม 2566 พล.ท.ธีรพงศ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร ในฐานะโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบกรณีที่มีทหารร่วมปฏิบัติการกับเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI และตำรวจ 191 เรียกรับเงิน 20 ล้านบาท จากชาวจีนผู้ต้องสงสัยพัวพันคดีทุนจีนสีเทา 11 คน แลกกับการปล่อยตัว เบื้องต้นพบว่าทหารนายดังกล่าวสังกัดศูนย์รักษาความปลอดภัย หรือ ศภร.จริง

ทั้งนี้ พล.อ.เฉลิมพล  ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้รับรายงานในเรื่องดังกล่าวแล้ว และสั่งการให้หน่วยต้นสังกัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยด่วน และให้รายงานผลการสอบสวนต่อผู้บัญชาการทหารสูงสุดต่อไป

สำหรับปฏิบัติการดังกล่าว เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ตำรวจ 191 และทหารเข้าตรวจค้นบ้านพักย่านสาทร เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ที่มีการแอบอ้างว่าเป็นสถานกงสุลใหญ่นาอูรู ประจำประเทศไทย และมีชาวจีนเข้าออกพลุกพล่าน โดยหนึ่งในนั้นเป็นผู้ต้องหาหนีคดีผับจินหลิง แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวชาวจีน 11 คน แลกกับเงิน 20 ล้านบาท เพื่อไม่จับกุมดำเนินคดี ตามที่ได้ปรากฏเป็นข่าว

กรณีนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. พร้อมด้วยนายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม แถลงความคืบหน้าการตรวจสอบ เมื่อ 16 ม.ค. 2566 ว่ามีหลักฐานพยานระบุได้ว่าส่วนหนึ่งในนี้มีคณะเจ้าหน้าที่ชุดตรวจค้นจับกุมชาวจีน 2 คน เรียกรับผลประโยชน์จากผู้ต้องหาทั้งสองเป็นเงิน 4 ล้านบาท ทั้งยักยอกของกลางในที่เกิดเหตุมูลค่ากว่า 2 ล้านบาท

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์เปิดเผยว่า จากการสืบสวนสอบสวนมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้เชื่อได้ว่าบุคคลที่เข้าตรวจค้นสถานที่ดังกล่าวรวม 16 คน แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ 5 นาย ตำรวจ 9 นาย ทหาร 1 นาย และล่ามชาวจีนอีก 1 คน กระทำผิดจริงตามที่ถูกร้องเรียน

 

ล่าสุดพนักงานสอบสวนทุ่งมหาเมฆได้สรุปสำนวนพร้อมนำพยานหลักฐานบางส่วนขออำนาจศาลอนุมัติออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 16 คนแล้ว โดยผู้ต้องหาที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ 15 นายปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่ล่ามภาษาจีนซึ่งถูกจับได้ในระหว่างหลบหนีข้ามด่านไปประเทศมาเลเซีย ได้รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ว่ามีการนัดให้เพื่อนของผู้ต้องหาซึ่งเป็นชาวจีนนำเงินจำนวน 4 ล้านบาท มามอบให้ที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งจำนวน 4 ล้านบาท ซึ่งมีภาพจากกล้องวงจรปิดเป็นหลักฐาน

คดีนี้หากผลการสอบสวนไปถึงใครก็จะดำเนินคดีโดยไม่ละเว้น และเตรียมสรุปรายงานส่งให้ ผบ.ตร.ดำเนินการพิจารณาตำรวจทั้ง 9 นายหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

การสอบสวนแบ่งผู้ต้องหาเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ กับตำรวจรวม 14 นาย ถูกดำเนินคดีในข้อหา 157 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และข้อหาตามมาตรา 149 เป็นเจ้าพนักงานเรียกหรือรับผลประโยชน์ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต และมาตรา 187 ทำลายวัตถุและของกลาง

กลุ่มที่ 2 เป็นทหารและล่ามภาษาจีนถูกดำเนินคดีในข้อหาสนับสนุนให้เจ้าพนักงานเรียกรับประโยชน์ สนับสนุนให้เจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันเพื่อที่จะช่วยเหลือผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษ หรือรับโทษน้อยลง

ส่วนบ้านหลังดังกล่าวไม่ใช่สถานกงสุลนาอูรู แต่เป็นบ้านพักที่อดีตกงสุลนาอูรูเช่าพักอาศัยเอาไว้ แต่ตอนนี้ไม่ได้อยู่อาศัยแล้ว ซึ่งต้องสืบสวนต่อไปว่ากลุ่มคนจีนเข้าพักอาศัยที่นี่ได้อย่างไร อดีตกงสุลมีส่วนรู้เห็นด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ ยังพบว่าคนจีนที่พักอาศัยอยู่ที่บ้านพักดังกล่าวทั้ง 2 คนมีหมายแดงจากทางการจีน จึงต้องสอบสวนว่าเดินทางเข้าประเทศไทยได้อย่างไร

ด้านนายวัลลภกล่าวว่า กระทรวงยุติธรรม ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าเจ้าหน้าที่ดีเอสไอทั้ง 5 นายกระทำผิดหรือไม่ ซึ่งทำควบคู่ไปกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้ ได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการด้านวินัยร้ายแรงกับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ทั้ง 5 นายแล้ว

ส่วนจะถึงขั้นให้ออกจากราชการไว้ก่อนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับอธิบดีดีเอสไอ ส่วนตนเองในฐานะรองปลัดกระทรวงยุติธรรมยืนยันจะไม่มีการให้การช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดสร้างความเสื่อมเสียให้กับองค์กรอย่างแน่นอน