งบคมนาคม-โลจิสติกส์’67 – 7 กระทรวง 26 หน่วยงาน 2.44 แสนล้าน

กระทรวงคมนาคม เป็นเจ้าภาพระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลั่นกรองงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ 2567

โดย “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุมเมื่อ 23 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ชั้น 3 ทำเนียบรัฐบาล

ผู้เข้าร่วมประชุมคนสำคัญประกอบด้วย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, สำนักงบประมาณ, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, สภาความมั่นคงแห่งชาติ

โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม

การประชุมแมตช์นี้ พิจารณา “แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์” ซึ่งได้มีการพิจารณากลั่นกรองตามแนวทางและหลักเกณฑ์การจัดทำงบประมาณ ร่วมกันของ 7 กระทรวง 26 หน่วยงาน

อนุทิน ชาญวีรกูล
อนุทิน ชาญวีรกูล

งบบูรณาการ 108 โครงการ

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างคำของบประมาณบูรณาการฯ จำนวนทั้งสิ้น 108 โครงการ วงเงินรวม 244,505.6705 ล้านบาท

แบ่งเป็น “เป้าหมายที่ 1” จำนวน 11 หน่วยงาน 88 โครงการ วงเงิน 243,660.1700 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.65

โครงการสำคัญอาทิ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง M6 (มอเตอร์เวย์) บางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา, โครงการมอเตอร์เวย์ รหัส M81 บางใหญ่-กาญจนบุรี, โครงการทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1065 สาย อ.พรานกระต่าย-พิษณุโลก

โครงการพัฒนาทางและสะพานโครงข่ายทางหลวงชนบท สนับสนุนด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์, โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย, โครงการศูนย์ขนส่งชายแดน จ.นครพนม, โครงการปรับปรุงท่าอากาศยาน 16 แห่ง, โครงการทางพิเศษ กะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต, ทางหลวงพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา

โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม และสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นต้น

“เป้าหมายที่ 2” จำนวน 15 หน่วยงาน 20 โครงการ วงเงิน 845.5005 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.35

มีโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนเพื่อรองรับงาน NSW, โครงการพัฒนาระบบการทำเครื่องหมายและขึ้นทะเบียนสัตว์แห่งชาติ (NID) และเครื่องหมายประจำตัวสำหรับซากสัตว์, โครงการออกแบบและพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (ePhyto) ผ่านระบบ NSW

โครงการเสริมสร้างความสามารถการดำเนินธุรกิจให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม, โครงการส่งเสริมการพัฒนาบริการและขยายเครือข่ายของผู้ให้บริการโลจิสติกส์, โครงการการศึกษาเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของประเทศไทย, โครงการพัฒนามาตรฐานวิธีการทดสอบรองรับการผลิตชิ้นส่วนและระบบขนส่งทางราง ร่วมกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (NQI)

โครงการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรด้านโลจิสติกส์เพื่อรองรับอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต, โครงการพัฒนามาตรฐานการวัดแห่งชาติ เพื่อการสอบกลับได้ในการวัดสำหรับการพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศไทย, โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ให้บริการโลจิสติกส์ทางทะเล (LSPs) ด้วยข้อมูลจากดาวเทียม เป็นต้น

โดย “ศักดิ์สยาม” กำชับเพิ่มเติมว่า ควรมีการพิจารณาเกี่ยวกับประเด็น Climate change และความปลอดภัยด้วย จากนั้นทางฝ่ายเลขานุการฯ จะจัดทำข้อสรุปเสนอรองนายกรัฐมนตรี (อนุทิน ชาญวีรกูล) ให้ความเห็นชอบ ก่อนจัดส่งให้สำนักงบประมาณในวันที่ 27 มกราคม 2566 ต่อไป

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

คมนาคมเร่งเบิกจ่ายกระตุ้น ศก.

อีกฟากหนึ่งเป็นการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2566 โดย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นั่งหัวโต๊ะประชุม ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม

อัพเดตผลการเบิกจ่าย ดังนี้

กระทรวงคมนาคมได้รับจัดสรรงบประมาณแผ่นดินปี 2566 (8 ส่วนราชการ กับ 5 รัฐวิสาหกิจ) ในภาพรวม 228,930.28 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 27,419.32 ล้านบาท (ร้อยละ 11.98) รายจ่ายลงทุน 201,510.96 ล้านบาท (ร้อยละ 88.02)

ในส่วนของ “งบรายจ่ายลงทุน” ณ วันที่ 10 มกราคม 2566 มีการเบิกจ่ายเงินแล้ว 38,307.82 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16.73 ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรร

รายการที่กระทรวงคมนาคมจะต้อง “จัดซื้อจัดจ้าง” 7,216 รายการ (รายจ่ายลงทุนปีเดียว, ลงทุนผูกพันรายการใหม่ และรายจ่ายลงทุนที่มีวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท) วงเงิน 89,824.06 ล้านบาท

ณ วันที่ 10 มกราคม 2566 ได้ตัวผู้รับจ้างแล้ว 6,670 รายการ คิดเป็นร้อยละ 92.43 วงเงิน 72,988.40 ล้านบาท ปัจจุบันลงนามในสัญญาแล้ว 6,017 รายการ วงเงิน 63,869.95 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะทยอยลงนามในสัญญาให้ครบทุกรายการ

สำหรับ “งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ” ปี 2566 วงเงินรวม 89,676.66 ล้านบาท มีแผนการเบิกจ่ายเงิน (1 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2565) จำนวน 19,141.27 ล้านบาท ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ธันวาคม 2565 เบิกจ่ายเงินแล้ว 9,587.53 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 50.09 ของแผนเบิกจ่ายสะสม

ข้อสั่งการคือ หน่วยงานรัฐต้องลงนามในสัญญาให้ครบทุกรายการโดยเร็ว และเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล

ในส่วนงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ขอให้เร่งรัดเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล ร้อยละ 95 ภายในเดือนกันยายน 2566