Water Map คมนาคม 5,000 ล้าน เพิ่มฟีดเดอร์-Smart Pier เสริมแกร่งทางน้ำ

เรือด่วนเจ้าพระยาให้บริการท่าพระนั่งเกล้าวันแรก

อีเวนต์เล็ก ๆ ปลายปี 2565 เปิดท่าเรือสวยในแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งแรงกระเพื่อมยุทธศาสตร์การเดินทางทางน้ำ “Water Map” ของเมืองกรุง

โดย “บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ร่วมกับ “บิ๊กโอ๋-ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตัดริบบิ้นเปิดท่าเรือสวย 2 ท่า “ท่าเรือราชินี-ท่าเรือบางโพ” เป็นของขวัญปีใหม่ 2566 ให้กับผู้สัญจรในเมืองหลวง

เปิดท่าเรือสวย “ราชินี-บางโพ”

รมว.คมนาคม “ศักดิ์สยาม” เปิดเผยว่า ท่าเรือราชินีและท่าเรือบางโพที่เปิดให้บริการแล้วนั้น ถือเป็นท่าเรือที่มีความสำคัญและเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อโครงข่ายการเดินทางอย่างแท้จริง

รวมทั้งเป็นท่าเรือตัวอย่างที่จะพัฒนาตามแผน “Smart Pier” ที่มีการพัฒนาให้มีรูปลักษณ์สวยงามตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) มีระบบการให้บริการทันสมัย เชื่อมต่อระบบการขนส่งสาธารณะ ล้อ ราง เรือ ได้อย่างสมบูรณ์

รวมทั้งส่งเสริมให้มีเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า หรือ “เรือ EV” สามารถประหยัดพลังงาน ลดมลพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้โดยสารทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำและสร้างรายได้ให้กับประเทศ

โดย “ท่าเรือราชินี” จะเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า MRT สนามไชย เป็นจุดเชื่อมการเดินทางเข้าสู่เมืองและแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ อาทิ วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร, โบสถ์ซางตาครู้ส, กุฎีจีน, ป้อมวิไชยประสิทธิ์, วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร, มิวเซียมสยาม และปากคลองตลาด

Advertisment

กับ “ท่าเรือบางโพ” จะเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า MRT บางโพ อยู่ใกล้กับทางด่วนศรีรัช เป็นจุดเชื่อมการเดินทางเข้าสู่เมืองและสถานที่สำคัญที่มีความเก่าแก่ อาทิ ย่านค้าไม้ ซึ่งเป็นแหล่งซื้อ-ขายเฟอร์นิเจอร์ไม้ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยตั้งแต่อดีต นอกจากนี้ มีสถานที่ท่องเที่ยวตามวิถีชีวิตยุคใหม่ อาทิ เกตเวย์ บางซื่อ (Gateway Bangsue) ศูนย์กลางช็อปปิ้งกลางชุมชนเมืองใหญ่ เป็นต้น

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

W-map 30 คลอง+1 เจ้าพระยา

ปัจจุบันในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลมีการเดินทางทางน้ำ 4 เส้นทาง ได้แก่ “แม่น้ำเจ้าพระยา-คลองผดุงกรุงเกษม-คลองแสนแสบ-คลองประเวศบุรีรมย์” ระยะทางรวม 65.4 กิโลเมตร โดยมีท่าเรือรวมกัน 103 ท่า

Advertisment

ในจำนวนนี้พบว่ามีเพียง 3 เส้นทางกับ 8 ท่าเรือที่มีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า ประกอบด้วย 1.เส้นทางคลองแสนแสบ ได้แก่ “ท่าเรือรามหนึ่ง ท่าเรืออโศก ท่าเรือสะพานหัวช้าง” 2.เส้นทางคลองผดุงกรุงเกษม มีจุดเชื่อมต่อกับ “ท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง”

และ 3.เส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยา มีจุดเชื่อมต่อที่ “ท่าเรือสะพานพระนั่งเกล้า ท่าเรือบางโพ ท่าเรือราชินี ท่าเรือสาทร”

ทั้งนี้ เส้นทางสัญจรทางน้ำ 4 เส้นทาง นับว่ามีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับคลองทั้งหมดในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ที่้มีคลองทั้งสิ้น 1,697 คลอง แบ่งเป็นคลองที่มีศักยภาพในการเดินเรือเพียง 30 คลอง บวกกับ 1 แม่น้ำเจ้าพระยา

2565-2570 ลงทุน 3,400 ล้าน

สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเส้นทางเดินเรือ กระทรวงคมนาคมแบ่งการพัฒนาเป็น 2 ระยะ ทอนออกมาเป็นแผนลงทุนตั้งแต่ปี 2565-2575 (ดูตารางประกอบ)

เริ่มต้นจากแผนลงทุนระยะสั้นปี 2565-2570 มีจำนวน 5 เส้นทาง ดังนี้

1.เส้นทางเดินเรือคลองแสนแสบส่วนต่อขยาย ช่วงวัดศรีบุญเรือง-ถนนสุวินทวงศ์ ระยะทาง 12 กิโลเมตร จำนวน 16 ท่าเรือ

2.เส้นทางเดินเรือในคลองบางลำพู ช่วงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ-ป้อมพระสุเมรุ ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร จำนวน 3 ท่าเรือ

3.เส้นทางเดินเรือในคลองลาดพร้าว ช่วงสายไหม-พระโขนง ระยะทาง 25.7 กิโลเมตร จำนวน 23 ท่าเรือ

4.เส้นทางเดินเรือในคลองขุดมหาสวัสดิ์ ช่วงประตูน้ำมหาสวัสดิ์-วัดชัยพฤกษมาลา ระยะทาง 28 กิโลเมตร จำนวน 13 ท่าเรือ

และ 5.เส้นทางเดินเรือคลองบางกอกน้อย ช่วงวัดชลอ-ศิริราช ระยะทาง 7.1 กิโลเมตร จำนวน 11 ท่าเรือ

กราฟฟิก Water Map

ในอนาคตอันใกล้จะทำให้มีเส้นทางสัญจรทางน้ำเพิ่มขึ้น 131.2 กิโลเมตร มีท่าเรือเพิ่มขึ้น 97 ท่าเรือใหม่

และหากสามารถเปิดเส้นทางเดินเรือตามแผนลงทุนระยะสั้นได้ครบทุกเส้นทาง จะทำให้เกิดจุดเชื่อมต่อทางน้ำ-ทางรางผ่านรถไฟฟ้าจากเดิม 8 จุด เพิ่มอีก 26 จุด รวมเป็น 34 จุด วงเงินลงทุน 3,400 ล้านบาท

2571-2575 ลงทุน 1,600 ล้าน

ส่วนแผนลงทุนระยะยาวปี 2571-2575 มีเพิ่มเติมอีก 3 เส้นทาง ได้แก่ 1.เส้นทางเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนต่อขยาย ช่วงปากเกร็ด-ที่ว่าการอำเภอเมืองปทุมธานี ระยะทาง 15 กิโลเมตร จำนวน 3 ท่าเรือ

2.เส้นทางเดินเรือในคลองเปรมประชากร ช่วงวัดรังสิต-บางซื่อ ระยะทาง 20.5 กิโลเมตร จำนวน 20 ท่าเรือ

และ 3.เส้นทางเดินเรือในคลองประเวศบุรีรมย์ส่วนต่อขยาย ช่วงตลาดเอี่ยมสมบัติ-วัดสังฆราชา ระยะทาง 21.4 กิโลเมตร จำนวน 8 ท่าเรือ

หากโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้เกิดจุดเชื่อมเพิ่มอีก 6 จุด โดยภาพรวมในปี 2575 จะมีจุดเชื่อมต่อทางราง-ทางเรือทั้งสิ้น 40 จุด วงเงินลงทุน 1,600 ล้านบาท

Smart Pier 29 ท่าเรือ

นอกจากแผนการพัฒนาเส้นทางเดินเรือแล้ว กระทรวงคมนาคมยังเติมเต็ม W-Map ด้วยโปรเจ็กต์ “Smart Pier-ท่าเรืออัจฉริยะ” รับผิดชอบโดยกรมเจ้าท่า มีท่าเรือที่อยู่ในแผนการพัฒนาจำนวน 29 ท่าเรือ

ปัจจุบันก่อสร้าง-ปรับปรุงแล้วเสร็จ 8 แห่ง ประกอบด้วย “ท่าเรือกรมเจ้าท่า ท่าเรือสะพานพุทธ ท่าเรือนนทบุรี ท่าเรือท่าช้าง ท่าเรือสาทร ท่าเรือพายัพ ท่าเรือราชินี ท่าเรือบางโพ”

แผนปี 2566 นี้ กรมเจ้าท่าจะทำเสร็จเพิ่มอีก 3 ท่าเรือ ได้แก่ “ท่าเรือท่าเตียน ท่าเรือพระราม 7 ท่าเรือเกียกกาย”

รวมทั้งกำหนดอยู่ในแผนดำเนินการปีงบประมาณ 2566-2568 จำนวน 18 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือพระราม 5 ท่าเรือพระปิ่นเกล้า ท่าเรือปากเกร็ด ท่าเรือสี่พระยา ท่าเรือเขียวไข่กา ท่าเรือสะพานกรุงธน (ซังฮี้) ท่าเรือพรานนก ท่าเรือเทเวศร์ ท่าเรือโอเรียนเต็ล ท่าเรือราชวงศ์ ท่าเรือพิบูลสงคราม 2 (นนทบุรี) ท่าเรือวัดตึก ท่าเรือพิบูลสงคราม 1 ท่าเรือวัดเขมา ท่าเรือวัดสร้อยทอง ท่าเรือวัดเทพากร ท่าเรือวัดเทพนารี และท่าเรือรถไฟ

ตามแผนแม่บท ในอนาคตเมื่อการก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือแล้วเสร็จ คาดว่าจะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 53,000 คนต่อวันในปี 2570