ศักดิ์สยาม ชิดชอบ กำ 5 โครงการเสนอ ครม. พิจารณาก่อนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หมดวาระ 4 ปี 23 มีนาคม 2566
นับถอยหลังรัฐบาลชุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กำลังจะหมดวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 หากไม่มีการยุบสภาเสียก่อน กระทรวงคมนาคมภายใต้การนำของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย (ภท.) มีโครงการเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติแทบทุกสัปดาห์จนกว่ารัฐบาลจะหมดวาระ
“ประชาชาติธุรกิจ” รวมรวมโครงการที่อยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา ดังต่อไปนี้
ทางหลวงบูมลงทุนมอเตอร์เวย์ 7.9 หมื่นล้าน
แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมทางหลวงมีแผนเสนอโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ใน 1 เส้นทางคือ เส้นทางวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (M9) ที่รอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติโครงการใน 2 โครงการ คือ
- มอเตอร์เวย์ (M9) ทางยกระดับ ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทางประมาณ 36 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 56,035 ล้านบาท
- มอเตอร์เวย์ (M9) ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 35 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 23,025 ล้านบาท
ทั้ง 2 โครงการนี้คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เห็นชอบแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนกระทรวงคมนาคมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติโครงการ และเห็นชอบการใช้แหล่งเงินลงทุน คาดว่าหลังจากคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการแล้วจะสามารถเริ่มการประมูลได้ในช่วงปลายปีนี้
ทางด่วนฉลองรัช-สระบุรี
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-วงแหวนรอบนอกนั้น ตนเองมีความตั้งใจว่าจะสามารถเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยคาดว่าจะทันในรัฐบาลชุดนี้ เพื่อให้สามารถเดินหน้าโครงการได้ในลำดับต่อไป
สำหรับโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR 10) จะมีระยะทาง 19.25 กม. มูลค่าโครงการ 33,400 ล้านบาท แบ่งเป็น
- ค่าก่อสร้างโครงการ (รวมค่าควบคุมงาน) วงเงิน 26,100 ล้านบาท
- ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงิน 7,300 ล้านบาท
โดยรูปแบบการลงทุน กทพ.จะเป็นผู้ดำเนินการลงทุนในโครงการทั้งหมด โดยใช้งบประมาณจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย
แลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง ลงทุน 1 ล้านล้าน
นายปัญญา ชูพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานวางแผนการจราจรและขนส่ง (สนข.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันทาง สนข. อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อเสนอผลการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติในหลักการ หลังได้เสนอรายงานดังกล่าวสู่กระทรวงคมนาคมเรียบร้อย
ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการแล้ว ทาง สนข. จะได้จัด Road Show โครงการแลนด์บริดจ์ไปยังประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีสายการเดินเรือขนาดใหญ่ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และจีน
นายปัญญายังกล่าวต่ออีกว่า ในเบื้องต้นคาดว่าผู้ที่มาร่วมลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นบริษัทที่มีสายเดินเรือในต่างประเทศ ร่วมกับบริษัทไทยในการลงทุนร่วมกันเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ และสายการเดินเรือนั้นจะสามารถนำเรือมาใช้บริการในโครงการ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของโครงการแลนด์บริดจ์ ประกอบด้วย ท่าเรือทั้ง 2 ฝั่งที่จังหวัดชุมพรกับจังหวัดระนอง, เส้นทางมอเตอร์เวย์ และทางรถไฟ มูลค่าลงทุนรวม 1.1 ล้านล้านบาท
รูปแบบเป็นการลงทุนแบบสัญญาเดียว (one operator) ที่รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่หลังท่า มีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี โดยนักลงทุนจะได้รับรายได้ค่าธรรมเนียมจากการขนส่งผ่าน Landbridge และผลประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่หลังท่าเป็น commercial residential และ industrial พร้อมสิทธิประโยชน์ที่ผู้ลงทุนจะได้รับมากมาย
เร่งโอน 3 สนามบินเชิงพาณิชย์
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันขั้นตอนการโอน 3 สนามบินในการบริหารของกรมท่าอากาศยานมาให้ ทอท. บริหารจัดการนั้น อยู่ระหว่างการที่ทาง ทย. ดำเนินการขอใบอนุญาตสนามบินจากสำนักงานการบินพลเรือน (CAAT) เมื่อใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะมีการอนุมัติแล้ว ทางจะมีการนำเข้าเสนอสู่ ครม. ทันที
การโอน 3 สนามบินจัดเป็นโครงการ First Priority ของทาง ทอท. นอกจากนี้ ทอท. ยังเตรียมความพร้อมในการพัฒนาทั้ง 3 สนามบิน ดังต่อไปนี้
- สนามบินอุดรธานี วงเงิน 3,523.90 ล้านบาท
- สนามบินบุรีรัมย์ 460 ล้านบาท
- สนามบินกระบี่แบ่งเป็น 2 กรณี คือ กรณีสนามบินพังงาเปิดให้บริการ วงเงิน 5,216 ล้านบาท และหากกรณีสนามบินพังงาไม่เปิดให้บริการ 6,487.60 ล้านบาท
ลงทุนส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดง
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยสารจางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์สู่ที่หยุดรถธรรมศาสตร์ รังสิต เปิดเผยว่า ในรัฐบาลนี้จะมีการเสนอโครงการรถไฟชานเมือง สายสีแดง ส่วนต่อขยายจากสถานีรังสิตไปยังสถานีธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
รถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต มีระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,407 ล้านบาท โดยส่วนต่อขยายนี้จะประกอบไปด้วย 4 สถานี คือ สถานีคลองหนึ่ง สถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สถานีเชียงราก และสถานีธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต