วิธีแก้ปัญหารถควันดำ 6 ข้อ ทำแล้วรอดปลอดภัย ไม่โดนจับปรับ 5 พัน

วิธีแก้ปัญหารถควันดำ ปัญหาฝุ่น PM2.5 ดังนั้น
รถควันดำกับปัญหาฝุ่น PM2.5

ฝุ่น PM 2.5 ปัญหาสะสม ค้างคา และยังหาทางแก้แบบเบ็ดเสร็จไม่ได้ในยุคที่รถราบนท้องถนนมีเพิ่มขึ้นทุกวัน ภาคขนส่ง จึงถูกมองเป็นตัวร้ายในปมปัญหานี้ 

วันที่ 2 มีนาคม 2566  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 ยังคงเป็นอีกหนึ่งวิกฤตสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจคนไทยมาแล้วหลายปี ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐและทุกภาคส่วนต่างตระหนักถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา แต่ถึงแม้จะมีหลายหน่วยงานดำเนินการติดตามปัญหาวิกฤตฝุ่นในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงตอนนี้ยังไม่มีท่าทีว่าปัญหาจะสิ้นสุดลงเมื่อใด เพราะเมื่อผ่านพ้นหน้าฝนในแต่ละปีไปแล้ว ฝุ่น PM2.5 ก็จะกลับมาสร้างปัญหาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ขณะที่ภาคการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุกรถโดยสาร ยังคงถูกมองว่าเป็นสาเหตุหลักในการสร้าง PM2.5 เพราะภายหลังจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบกได้ยกระดับออกตรวจวัดควันดำจากท่อไอเสียของรถบรรทุกและรถโดยสารอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตลอดจนเพิ่มความถี่ในการปฏิบัติงานทั่วประเทศ โดยเฉพาะบนถนนสายหลักและสายรองที่เข้า-ออกกรุงเทพมหานคร

รถควันดำ ปัญหาฝุ่น PM2.5

สาเหตุรถควันดำ อีกหนึ่งต้นตอสำคัญของปัญหา

สำหรับสาเหตุของรถที่เกิดควันดำ ส่วนใหญ่แล้วเป็นผลจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ที่ไม่สมบูรณ์ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่าง ดังนี้

  1. เครื่องยนต์สึกหรอมาก เช่น ลูกสูบและกระบอกสูบ แหวนลูกสูบชำรุด เป็นต้น
  2. ปั๊มฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงชำรุดและทำงานไม่ถูกต้อง หรือฉีดน้ำมันในจังหวะที่ไม่ถูกต้อง
  3. หัวฉีดน้ำมันแรงดันสูงที่จ่ายเข้าไปในห้องเผาไหม้ชำรุด
  4. กรองอากาศอุดตัน ส่งผลให้อากาศเข้าไม่เพียงพอ
  5. น้ำมันเครื่องมีอายุการใช้งานมากเป็นไป
  6. เขม่าควันดำและฝุ่นละอองค้างอยู่ภายในท่อไอเสีย
  7. น้ำมันเชื้อเพลิงคุณภาพต่ำ
  8. การบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด ที่ทำให้เครื่องยนต์สึกหรอเร็วขึ้น
รถควันดำ ปัญหาฝุ่น PM2.5
ภาพจากPixabay

แนวทางแก้ไขและป้องกันปัญหารถควันดำ

จากหลายสาเหตุรวมกันที่ได้กล่าวมาจึงส่งผลให้เครื่องยนต์เกิดการสึกหรอและมีควันดำออกจากท่อไอเสีย เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ดังนั้น การบำรุงรักษาและการปรับแต่งเครื่องยนต์อย่างเหมาะสมจึงเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยป้องกันปัญหาดังกล่าว ซึ่งวันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมวิธีจัดการและแนวทางป้องกันการเกิดควันดำ ดังนี้

1. หากเครื่องยนต์เกิดการสึกหรอต้องรีบซ่อมแซม เช่น เปลี่ยนลูกสูบ แหวนลูกสูบ หรือ ทำการคว้านกระบอกสูบ แล้วเปลี่ยนลูกสูบให้ใหญ่ขึ้น

2. ทำการเช็กปั๊ม โดยนำรถเข้าศูนย์บริการ ทำการปรับแต่งปั๊มจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง หรือเปลี่ยนชิ้นส่วนที่ชำรุดสึกหรอ รวมทั้งปรับแต่งหัวฉีดน้ำมันและเปลี่ยนชิ้นส่วนที่สึกหรอ รวมทั้งการปรับแต่งอัตราและจังหวะการฉีดน้ำมันให้ถูกต้องเป็นไปตามบริษัทผู้ผลิตกำหนด

3. เปลี่ยนไส้กรองอากาศใหม่ เพื่อให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์

4. เปลี่ยนน้ำมันเครื่องตามระยะเวลาที่ค่ายผู้ผลิตกำหนด

5. ปรับแต่งเครื่องยนต์ให้ทำงานถูกต้อง ตามระยะเวลาที่เหมาะสม

6. ล้างทำความสะอาดท่อไอเสีย โดยใช้น้ำหรือลมฉีดชะล้างเขม่าและฝุ่นละอองภายในท่อไอเสีย

กฎเกณฑ์ใหม่ ทำให้รัฐต้องเข้มงวดขึ้น

เพราะภาครัฐได้บังคับใช้บทลงโทษสูงสุดกับรถควันดำ โดยการปรับปรุงมาตรฐานการตรวจวัดค่าควันดำมีสาระสำคัญ ระบุว่ากรณีการตรวจวัดควันดำด้วยเครื่องวัดควันดำระบบวัดความทึบแสง ขณะเครื่องยนต์ไม่มีภาระ ค่าควันดำสูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 (เดิม ร้อยละ 45) และหากตรวจวัดควันดำด้วยเครื่องวัดควันดำระบบกระดาษกรอง ขณะเครื่องยนต์ไม่มีภาระ ค่าควันดำสูงสุดไม่เกินร้อยละ 40 (เดิม ร้อยละ 50) ซึ่งเกณฑ์การตรวจควันดำใหม่ ได้มีผลบังคับใช้กับการตรวจวัดควันดำรถที่มาดำเนินการตรวจสภาพรถก่อนจดทะเบียน หรือตรวจสภาพรถก่อนชำระภาษีประจำปีที่สำนักงานขนส่ง และสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ทุกแห่งแล้ว


ทั้งนี้ หากปล่อยปละละเลยให้รถเกิดควันดำ อาจมีโทษปรับสูงสุดถึง 5,000 บาท เพราะกรมการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดผู้ตรวจการออกตรวจวัดควันดำจากท่อไอเสียของรถบรรทุกและรถโดยสาร ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงการตรวจวัดควันดำบนถนนสายหลักและสายรองทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง