ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ออก 6 ข้อแนะนำช่วงวิกฤตฝุ่น PM 2.5

ฝุ่น PM 2.5
แฟ้มภาพ

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ร่วมกับ 5 สมาคมวิชาชีพเวชกรรม ออกคำแนะนำการปฎิบัติตัวของประชาชนในช่วงวิกฤตฝุ่น PM 2.5

วันที่ 10 มีนาคม 2566 ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ 5 สมาคมวิชาชีพเวชกรรม ได้แก่ สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย และสมาคมพิษวิทยาคลินิก ออกคำแนะนำการปฏิบัติตัวในช่วงวิกฤตฝุ่น PM 2.5

โดยคำแนะนำแบ่งออกเป็น 6 ข้อคือ

  1. หมั่นตรวจสอบคุณภาพอากาศจากแหล่งข้อมูลของรัฐและเอกชนอย่างสม่ำเสมอ หรือใช้เครื่องวัดปริมาณฝุ่นแบบพกพา เพื่อวางแผนกิจวัตรประจำวันให้เหมาะสม และให้หลีกเลี่ยงการสัมผัส สูด PM 2.5 โดยการจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัย (safety zone)  
  2. เมื่อค่า PM 2.5 ในขณะนั้น (ค่ารายชั่วโมง) ขึ้นสูงเกินเกณฑ์ คือ
    ก. สูงกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กลุ่มเสี่ยงควรงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง บุคคลทั่วไปควรลดและปรับเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
    ข. สูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกคนควรงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง ยกเว้นผู้ที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะกลางแจ้งให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา
    ค. สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกคนควรอยู่ในตัวอาคารซึ่งติดตั้งระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ยกเว้นผู้ที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะกลางแจ้ง ให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา และจำกัดช่วงเวลาปฏิบัติงานไม่เกินครั้งละ 60 นาที
  3. ขณะที่ปริมาณฝุ่นภายนอกขึ้นสูง ภายในตัวอาคารควรจัดให้มีระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
  4. การออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสเจ็บป่วย แต่ขณะที่ปริมาณฝุ่นขึ้นสูงควรหลีกเลี่ยงหรือลดเวลาการออกกำลังกายกลางแจ้งตามระดับเตือนภัยในข้อ 2 หรือออกกำลังกายในร่มที่มีระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
  5. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ จะช่วยเร่งการขับฝุ่น PM 2.5 ที่เล็ดลอดเข้ากระแสเลือด ออกไปทางไตในรูปของปัสสาวะได้มากขึ้น
  6. การอยู่ในบริเวณที่มีต้นไม้ใบเขียว จะช่วยการดูดซับฝุ่นในอากาศได้เพิ่มมากขึ้น