ฝุ่น PM 2.5 ภาคอีสานออกมาตรการเข้ม ห้ามเผาเด็ดขาด ขู่จับ-ปรับหนัก

ฝุ่น PM2.5
ภาพจาก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดบึงกาฬ

ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) และมลพิษทางอากาศ PM 2.5 หลายพื้นที่ของไทย ช่วงนี้อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างส่งผลกระทบต่อต่อสุขภาพ ข้อมูลจากเว็บไซต์ IQAir ระบุว่า ภาคเหนือและเชียงใหม่ยังหนักที่สุด ขณะที่ภาคอีสานต่างออกมาตรการคุมเข้ม ห้ามเผาเด็ดขาด ขู่เจอ จับ-ปรับหนัก

วันนี้ 9 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในภาคอีสานตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องมลพิษทางอากาศเป็นอย่างมาก หรือเรื่องฝุ่น PM 2.5 เป็นอย่างมาก เพราะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน หลายจังหวัดออกมาตรการคุมเข้มห้ามเผา หากฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีตามกฏหมายทั้งจำทั้งปรับ

อุบลฯ ค่าฝุ่นสูงกว่ามาตรฐาน

นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ณ สถานีตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กจังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 1-8 กุมภาพันธ์ 256 เวลา 18.00 น. พบว่ามีค่าสูงกว่าค่ามาตรฐาน (ค่าไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) โดยวัดค่าสูงสุดได้ 90.00 มคก./ลบ.ม.
ปัจจุบันยังพบปัญหาเกี่ยวกับการเผา โดยเฉพาะการเผาขยะ การเผาพื้นที่การเกษตร และเตาเผาถ่าน เป็นเหตุให้เกิดกลุ่มควันกระจายในหลายพื้นที่ชุมชน/หมู่บ้าน ทำให้คุณภาพอากาศมีผลกระทบ ส่งผลต่อสภาวะทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และสุขอนามัยของประชาชน อีกทั้งยังเป็นเหตุสำคัญที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของจังหวัดอุบลราชธานี
ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาไฟป้า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยอาศัยอำนาจ ตามความในมาตรา 15, 17, 21, 22 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 จึงกำหนดให้พื้นที่ทุกหมู่บ้าน/ตำบล/อำเภอ ในท้องที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็น “พื้นที่ห้ามเผาเด็ดขาด” ระหว่างวันที่ 8-28 กุมภาพันธ์ 2566
ขอให้ส่วนราชการทุกหน่วยงาน ทุกสถานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง อำทุกอำเภอ รวมทั้งตำบล หมู่บ้าน ให้ดำเนินการตามมาตรการที่จังหวัดกำหนดอย่างเคร่งครัด หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือจุดไฟเผา หรือปล่อยให้ลุกลาม จะมีความผิดตามกฎหมายและอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. ตามความในมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 และที่เพิ่มเติม
2. ตามความในมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
3.พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 41 และมาตรา 19 (1)
4. พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 99 และมาตรา 55 (2)
5. พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 97
6. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใด ๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ขอความร่วมมือประชาชนให้งดการเผา ตามห้วงระยะเวลาที่กำหนด และช่วยกันดูแล สอดส่อง และแจ้งให้ทางราชการทราบผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายอำเภอ ผู้กำกับการสถานีตำรวจ หน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อุบลราชธานี โทร./โทรสาร 0-4534-4635-7 หรือสายด่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 1784

อุดรธานีเผาในที่โล่ง เจอจับ ปรับ จำคุก

นายเจนเจตน์ เจนนาวิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้ลงนามประกาศกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุดรธานี เรื่อง ห้ามการเผาในที่โล่งทุกชนิด และมาตรการทางกฎหมายควบคุมในท้องที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม-15 พฤษภาคม 2566
โดยห้ามเผาในที่รัฐ ที่เอกชน พื้นที่ริมทางถนน พื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรกรรม ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พุทธศักราช 2535, พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484, พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พุทธศักราช 2507, พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2562 มาตรา 55 (2)
พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พุทธศักราช 2562 มาตรา 19 (1), พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พุทธศักราช 2535 มาตรา 97, พระราชบัญญัติจราจรทางบก พุทธศักราช 2522 มาตรา 130, การเผาในที่โล่ง ตามมาตรา 220 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้เน้นย้ำให้ข้าราช เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนทุกระดับทุกสังกัดช่วยกันสอดส่องดูแล เอาใจใส่ และชี้แจงให้ประชาชนปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้อย่างเคร่งครัด

ประชาสัมพันธ์ร่วมมือลด PM 2.5

นอกจากนี้ ในหลายจังหวัดทั่วภาคอีสานยังเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนร่วมมือช่วยกันลดการเผา เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น จังหวัดมุกดาหาร ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่พบปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) อยู่ในเกณฑ์คุณภาพอากาศระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ให้ประชาชนลดหรือจำกัด การทำกิจกรรมนอกบ้าน หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง เฝ้าระวังสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้น หากมีอาหการผิดปกติให้รีบพบแพทย์
จะงหวัดยโสธร ประชาสัมพันธ์เผาตาชังในนาข้าว จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดชัยภูมิ จัดกิจกรรมเสวนา KM Online หัวข้อ “ผนึกกำลัง หยุดยั้ง PM 2.5 จากระบบเปิดภาครัฐสู่การปฏิบัติเชิงพื้นที่” ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Facebook Live และ YouTube Live สำนักงาน ก.พ.ร.)
เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ถ่ายทอดองค์ความรู้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูล นวัตกรรม ประสบการณ์ และข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมสอดคล้องกับศักยภาพ/บริบทของพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพอากาศและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น