วิธีดูแลเส้นผม เมื่อต้องเผชิญกับมลภาวะและฝุ่น PM 2.5

วิธีดูแลเส้นผม เมื่อต้องเผชิญกับมลภาวะและฝุ่น PM 2.5

วิธีดูแลสุขภาพเส้นผม เมื่อต้องเผชิญกับมลภาวะและฝุ่น PM 2.5 ที่นำสารที่เป็นอันตรายต่าง ๆ มาเกาะเส้นผมได้มากกว่าผิวหนังถึง 3 เท่า

วันที่ 8 มีนาคม 2566 ไลฟ์สไตล์ชีวิตของคนเมืองในปัจจุบันที่ต้องเผชิญกับปัญหามลภาวะทางอากาศ และฝุ่น PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน นอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย และก่อให้เกิดการแพ้ระคายเคืองต่อผิวหน้าแล้ว ยังส่งผลกระทบโดยตรงกับเส้นผมและหนังศีรษะอีกด้วย ซึ่งหากละเลยหรือปล่อยไว้นานก็ยิ่งส่งผลเสียในระยาว

แพทย์หญิงธาริณี ก่อวิริยกมล แนะนำเคล็ดลับดูแลสุขภาพเส้นผมและหนังศีรษะ เมื่อต้องเผชิญกับมลภาวะและฝุ่น PM 2.5 ว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหามลภาวะจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี และไม่เพียงส่งผลกระทบโดยตรงกับผิวหนังของเราเท่านั้น ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพของเส้นผมและหนังศีรษะอีกด้วย

เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมคนเราถึง 40 เท่า (เส้นผมมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 100 ไมครอน) สามารถนำพาสารที่เป็นอันตรายต่าง ๆ ติดตามมาด้วย อาทิ แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก ไฮโดรคาร์บอน เป็นต้น และสามารถเกาะตัวกับเส้นผมได้มากกว่าผิวหนังถึง 3 เท่า โดยเฉพาะผู้ที่มีผมหนาหรือยาวมักเกิดปัญหาผมเกิดความอ่อนแอ แห้งกรอบ หลุดร่วงง่าย รวมถึงการอุดตันรูขุมขนบนหนังศีรษะ ทำให้เกิดการอักเสบ ระคายเคือง หนังศีรษะลอกเป็นขุยและเกิดสิว

ทั้งนี้ หากปล่อยไว้นานฝุ่นละอองเหล่านี้สามารถแทรกซึมเข้าเส้นผมและทำลายโครงสร้างโปรตีนที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของรากผม ทำให้ผมแห้งและหลุดร่วงมากยิ่งขึ้น ขณะที่โดยปกติแล้วเส้นผมของคนเราจะหลุดร่วงเฉลี่ยประมาณวันละ 70-100 เส้น หากหลุดร่วงมากกว่านั้นก็อาจเป็นสัญญาณว่าหนังศีรษะเราเริ่มมีปัญหา

แพทย์หญิงธาริณี ก่อวิริยกมล
แพทย์หญิงธาริณี ก่อวิริยกมล

ระดับความรุนแรง

สภาพผมเสียที่มีสาเหตุจากมลภาวะและฝุ่น PM 2.5 สามารถแบ่งระดับความรุนแรงได้ตามปริมาณความเข้มข้น และระยะเวลาที่เส้นผมเราสัมผัสกับมลภาวะและฝุ่น PM 2.5 ดังนี้

1.สัมผัสในปริมาณเล็กน้อยและระยะเวลาไม่นาน มลภาวะและฝุ่น PM 2.5 จะเกาะเคลือบภายนอกบริเวณเส้นผม ทำให้ผมเหนียว และแข็งกระด้าง

2.สัมผัสในมากและระยะเวลาไม่นาน มลภาวะและฝุ่น PM 2.5 จะเข้าไปเกาะที่หนังศีรษะและซึมเข้าหนังศีรษะ ทำให้เริ่มมีอาการระคายเคือง คัน และหนังศีรษะแห้ง

3.สัมผัสปริมาณมากและระยะเวลานานติดต่อกัน มลภาวะและฝุ่น PM 2.5 จะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของหนังศีรษะ เกิดเป็นผื่นแดง หนังศีรษะลอกเป็นขุย และทำให้ผมหลุดร่วงตามมา

แพทย์หญิงธาริณีกล่าวเพิ่มเติมว่า เราสามารถปกป้องเส้นผมและหนังศีรษะได้ด้วยการสวมหมวก หรือผ้าคลุมผม เพื่อลดการสัมผัสกับมลภาวะและฝุ่น PM 2.5 โดยตรง แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราควรให้ความสำคัญกับการทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะ เพื่อเป็นการลดการสะสมและลดผลกระทบของมลภาวะและฝุ่น PM 2.5 ที่มีต่อสุขภาพเส้นผมและหนังศีรษะ โดยปกติแล้วเราควรสระผมสัปดาห์ละ 3 ครั้งก็เพียงพอ แต่หากต้องเผชิญกับมลภาวะและฝุ่น PM 2.5 ก็ควรสระผมทุกวัน

อีกทั้งการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเส้นผมหรือแชมพู ควรพิจารณาจากคุณสมบัติในการขจัดคราบไขมัน สิ่งสกปรกตกค้าง รวมถึงสารเคมีจากผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมออกไปได้มากที่สุดโดยไม่ทำให้เส้นผมหรือหนังศีรษะแห้งคัน

ในปัจจุบันมีแชมพูสระผมหลากหลายประเภท อาทิ แชมพูสำหรับผมปกติ (Normal hair), ผมแห้ง (Dry hair), ผมมัน (Oily hair), ผมแห้งเสีย (Damaged hair), ผมเส้นเล็ก (Fine hair), ผมทำสี (Colour treated hair) และแชมพูยาสำหรับรักษารังแคหรือการอักเสบของหนังศีรษะ ทั้งนี้ ควรพิจารณาว่าแชมพูชนิดใดเหมาะกับสภาพเส้นผมและหนังศีรษะของเรา

นอกจากนี้ การทำแฮร์ทรีตเมนต์ (Hair treatment) ก็มีส่วนช่วยฟื้นฟูสภาพเส้นผมที่แห้งเสียให้กลับมามีสุขภาพดี เช่น การใช้ครีมนวดผม (Hair conditioner), ครีมหมักผม (Hair mask) หรือเซรั่มบำรุงเส้นผม (Hair serum) ที่มีส่วนผสมของน้ำมันและสารสกัดจากธรรมชาติที่มีคุณสมบัติในการบำรุงและปกป้องสภาพเส้นผมและหนังศีรษะ

อาทิ สารสกัดจากชิโซะ (Shiso extract) ที่มีความโดดเด่นในด้านการให้ความชุ่มชื้น ช่วยฟื้นฟูเซลล์ผิวจากความแห้งกร้านและการเสื่อมสภาพของผิว, น้ำมันรำข้าว (Rice Ban Oil) อุดมด้วยกรดไขมันที่เป็นประโยชน์, วิตามิน อี และสารแกมม่าออริซานอล (Gamma-Oryzanol) มอบความชุ่มชื้นพร้อมคุณสมบัติเป็นสารแอนติออกซิแดนต์ทรงประสิทธิภาพเป็นต้น

“การมีผมสวยสุขภาพดีย่อมเป็นที่ดึงดูด และส่งผลดีต่อบุคลิกภาพ ทำให้เกิดความมั่นใจในตัวเอง อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการเป่าผมด้วยความร้อนจัด หลีกเลี่ยงการหนีบผมหรือไดร์ยืดผมในขณะที่เส้นผมยังเปียกอยู่ เพราะจะทำให้เส้นผมขาดหักได้ง่ายส่วนการหวีผม ควรใช้แปรงที่มีตุ่มหรือหวีซี่ใหญ่ โดยไม่ทำให้เส้นผมขาดจากการเกี่ยวของหวีหรือแปลงได้ ใช้น้ำอุ่นในการสระผม โดยให้ปลายนิ้วนวดคลึงหนังศีรษะ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต และไม่ควรเกาหนังศีรษะอย่างรุนแรงขณะสระผม

นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่อุดมด้วยวิตามินเอ, วิตามินบี, สังกะสี (Zinc) และเหล็ก (Iron) อาทิ เนื้อปลา หอยนางรม ไข่ นมหรือผลิตภัณฑ์จากนม ถั่วและธัญพืชชนิดต่าง ๆ ผักใบสีเขียวเข้ม ส้ม และแครอต ฯลฯ ก็ช่วยบำรุงเส้นผมให้แข็งแรงและมีสุขภาพดีได้อีกด้วย” แพทย์หญิงธาริณีกล่าวทิ้งท้าย