ประวิตรเข้มสั่ง 4 กระทรวง ยกระดับมาตรการ PM 2.5

เชียงใหม่
Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

“ประวิตร” เข้ม สั่ง 4 กระทรวง ยกระดับมาตรการ PM 2.5 และตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ส่วนหน้าภาคเหนือ

วันที่ 9 มีนาคม 2566 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ ทส.ประสานทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามแผนเฉพาะกิจ ด้วยการสื่อสารเชิงรุก รวมทั้งยกระดับปฏิบัติการและสร้างการมีส่วนร่วม ในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เร่งด่วนใน 3 พื้นที่ ทั้งพื้นที่เมือง พื้นที่ป่า และพื้นที่การเกษตร ใน 7 มาตรการ

โดยให้เร่งการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการวาระแห่งชาติ และการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ส่วนหน้าภาคเหนือ การสร้างเครือข่ายชุมชนปลอดคนเผาในพื้นที่เสี่ยง การบริหารจัดการเชื้อเพลิงครบวงจร ชิงเก็บลดเผาในพื้นที่โล่ง การใช้กลไกทุกระดับ โดยเฉพาะระดับพื้นที่คุมเข้มมาตรการทางกฏหมายและขอความร่วมมือประชาชน การลดจุดความร้อนในพื้นที่ป่า การผลักดันกลไกระหว่างประเทศ รวมทั้งการดึงทุกภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง

หลังจากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและเกินค่ามาตรฐานหลายพื้นที่ ซึ่งมีผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ พื้นที่ชุมชนเมือง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล

พล.อ.ประวิตร ยังได้กำชับในพื้นที่เมืองให้กำหนดมาตรการนำรถเก่าออกจากระบบ ทดแทนด้วยรถใหม่มลพิษต่ำ พื้นที่เกษตร ให้เข้มงวดพื้นที่เพาะปลูก อ้อย ข้าว และข้าวโพด และพื้นที่ป่า ให้ติดตามและจุดความร้อน โดยได้ย้ำสั่งการเข้มและขอความร่วมมือ กระทรวงมหาดไทย (มท.) กำชับทางจังหวัดออกประกาศห้ามเผาในทุกพื้นที่ และใช้กลไกระดับพื้นที่ลงกำกับเข้มทำความเข้าใจกับเกษตรกร

ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พิจารณาปิดป่าในพื้นที่ไฟไหม้ป่าและระดมสรรพกำลัง และเครือข่ายอาสาสมัครเข้าดับไฟป่า ให้กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ขอความร่วมมือ โรงงานลดกำลังการผลิตในภาวะเสี่ยงและงดรับพืชเกษตรที่มาจากการเผา

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ขอให้พิจารณาปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อมีโอกาส ขอให้ สธ.เข้าไปดูแลให้คำแนะนำประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่อสุขภาพ รวมทั้งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มบังคับใช้กฎหมาย ขอความร่วมมือและสื่อสารเชิงรุกกับประชาชนและกลุ่มเป้าหมายที่เป็นต้นเหตุ ทั้งนี้ ขอให้ทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพในมาตรการที่กำหนดร่วมกันให้เป็นผล เพื่อป้องกันและลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในสถานการณ์วิกฤตของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่กำลังเกิดขึ้น