สงกรานต์ 2566 ยอดอุบัติเหตุสะสม 5 วัน เสียชีวิตรวม 197 ราย

ศปถ. รายงานสถิติ 7 วันระวังอันตราย เทศกาลสงกรานต์ 2566 ยอดสะสม 5 วัน เสียชีวิตแล้ว 197 ราย บาดเจ็บรวมกว่า 1,700 คน กำชับจังหวัดคุมเข้มเส้นทางขาเข้า-ขาออก อำนวยความสะดวกการเดินทางกลับ

วันที่ 16 เมษายน 2566 ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2566 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 15 เมษายน 2566 เกิดอุบัติเหตุ 311 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 31 ราย ผู้บาดเจ็บ 304 คน สถิติอุบัติเหตุสะสม 5 วัน (11 – 15 เมษายน 2566) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,744 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 197 ราย ผู้บาดเจ็บ 1,738 คน

กำชับจังหวัดดูแลและอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับของประชาชน เข้มข้นดูแลเส้นทางขาเข้า กทม. และขาออกจากจังหวัด จุดบริการประชาชน และสถานีบริการน้ำมัน พร้อมเพิ่มความถี่เรียกตรวจในเส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุและถนนทางตรง

อีกทั้งเข้มงวดบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิด โดยเฉพาะขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ และไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย รวมถึงเตรียมพร้อมด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้เข้าถึงจุดเกิดเหตุอย่างรวดเร็ว เพื่อดูแลประชาชนให้เดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย

“ขับรถเร็ว” สาเหตุหลักเกิดอุบัติเหตุ

นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2566

โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 15 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นวันที่ห้าของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 311 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 31 ราย ผู้บาดเจ็บ 304 คน

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่

  1. ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 35.37
  2. ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 25.72

ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 78.93 ส่วนใหญ่เกิดบนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 42.77 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 34.41 บริเวณจุดเกิดเหตุเป็นทางตรง ร้อยละ 79.74

ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 15.01 – 16.00 น. และช่วงเวลา 18.01 – 19.00 น. ร้อยละ 8.36 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่ในช่วงอายุ 20 – 29 ปี ร้อยละ 21.19

สำหรับข้อมูลที่น่าสนใจในแต่ละจังหวัด เป็นดังนี้

  • จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ น่าน-ประจวบคีรีขันธ์ (จังหวัดละ 14 ครั้ง)
  • จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ น่าน (14 คน)
  • จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กระบี่ ขอนแก่น เลย และสระแก้ว (จังหวัดละ 2 ราย)

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,873 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 54,495 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 345,368 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 51,180 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 14,774 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 14,593 ราย

ยอดสะสม 5 วัน เสียชีวิตรวม 197 คน กทม.เสียชีวิตสะสมมากสุด

สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสม 5 วัน (วันที่ 11 – 15 เมษายน 2566) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,744 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 197 ราย ผู้บาดเจ็บ 1,738 คน

โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ น่าน (59 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (15 ราย) และจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ น่าน (59 คน) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต 7 จังหวัด

ประสานทุกจังหวัด เข้มงวดกฎหมาย-อำนวยความสะดวกการเดินทาง

นายโชตินรินทร์ กล่าวว่า วันนี้ (16 เม.ย. 66) ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับจากภูมิลำเนาและท่องเที่ยว ทำให้ถนนสายหลักและสายรองมีปริมาณการจราจรหนาแน่น ประกอบกับความอ่อนล้าจากการขับรถทางไกล อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน

ศปถ. จึงได้ประสานจังหวัดเพิ่มความเข้มข้นในการดูแลเส้นทางเส้นทางขาเข้า กทม. และขาออกจากจังหวัด จุดบริการประชาชน และสถานีบริการน้ำมัน พร้อมเพิ่มความถี่เรียกตรวจในเส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุและถนนทางตรง อีกทั้งบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย พร้อมประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการง่วงหลับใน

รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก และจัดระบบการจราจรให้เกิดความคล่องตัว เตรียมพร้อมด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้เข้าถึงจุดเกิดเหตุอย่ารวดเร็ว

นอกจากนี้ ให้จังหวัดที่มีจุดตัดทางรถไฟนำข้อมูลความเสี่ยงมาวิเคราะห์และกำหนดแนวทางป้องกันอุบัติเหตุทางถนนในบริเวณดังกล่าว ส่วนอำเภอให้ประสาน ตำรวจ และกรรมการหมู่บ้านกวดขันการใช้จักรยานยนต์ที่ไม่ปลอดภัยในกลุ่มเด็กและเยาวชน สำหรับจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ ทางทะเลให้จัดเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ให้พร้อมดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กล่าวว่า ในวันนี้จะปริมาณการเดินทางสูงในเส้นทางขาเข้า กทม. จึงได้ประสานจังหวัดจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่น พร้อมดูแลเส้นทางสายรอง ทางเลี่ยง ทางลัดที่เป็นถนนทางตรง วิ่งสวนเลน และไม่มีเกาะกลาง ซึ่งผู้ขับขี่จะใช้ความเร็วสูง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

รวมถึงกวดขันการจอดรถริมทางซื้อของฝาก และร้านค้าที่วางสิ่งของล้ำช่องทาง เพื่ออำนวยการจราจรให้คล่องตัวและป้องกันอุบัติเหตุจากการแซงริมไหล่ทาง ตลอดจนขอให้ประชาชนวางแผนการเดินทางเพื่อกระจายการเดินทางและเหลื่อมเวลาการเดินทาง

นอกจากนี้ วันนี้บางพื้นที่จะเกิดฝนฟ้าคะนอง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากสภาพถนนเปียกลื่นและทัศวิสัยในการมองเห็นเส้นทางจำกัด จึงขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนเป็นพิเศษ รวมถึงปฏิบัติตามกฎจราจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การเดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย

สำหรับประชาชนที่ประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุ สามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 หรือแจ้งเหตุทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อนLine ID @1784DDPM เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป