เมาแล้วขับ ระดับแอลกอฮอล์เท่าไรถึงโดนจับ ถ้าไม่เป่าผิดกฎหมายหรือไม่

เมาแล้วขับ ระดับแอลกอฮอล์เท่าไรถึงโดนจับ หากไม่ยอมเป่าจะผิดกฎหมายหรือไม่
Photo by Gabe Pierce on Unsplash

ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเท่าไหร่จึงถือว่าเมาแล้วขับ โทษเมาแล้วขับตามกฎหมายในปัจจุบันมีรายละเอียดอย่างไร หากไม่ยอมเป่าแอลกอฮอล์จะผิดกฎหมายหรือไม่?

ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2566 นี้มีการจัดงานและกิจกรรมต่างๆ ขณะเดียวกันยังมีการดื่มแอลกอฮอล์ปาร์ตี้สังสรรค์จนเกิดการเมาแล้วขับ ซึ่งมีโทษทั้งปรับและติดคุก วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมความรู้ข้อกฎหมายเมาแล้วขับจากกระทรวงยุติธรรม มาไว้ให้ทราบ ดังนี้

เมาแล้วขับระดับเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

1.ผู้ขับขี่ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์

2.ผู้ขับขี่ซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ เช่น มือใหม่ใบขับขี่ยังไม่ถึง 2 ปี

3.ผู้ขับขี่ซึ่งมีใบอนุญาตขับขี่สำหรับรถประเภทอื่นที่ใช้แทนกันไม่ได้

4.ผู้ขับขี่ซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับขี่ หรืออยู่ระหว่างถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

เมาแล้วขับระดับเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ในกรณีที่บุคคลที่มีใบขับขี่ตลอดชีพหรือใบขับขี่ 5 ปี และมีอายุเกิน 20 ปี ถือว่าเมาแล้วขับ

ดื่มมาแต่ไม่ยอมเป่าจะผิดกฎหมายหรือไม่?

ทั้งนี้ หากเป่าแอลกอฮอล์แล้วพบว่า ปริมาณเกินกำหนดทั้ง 2 กรณี จะถือว่าเมาแล้วขับ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 160 ตรี

ส่วนในกรณีที่ไม่เป่าแอลกอฮอล์ในทางกฎหมายจะถือว่าเมาแล้วขับ ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ

โทษเมาแล้วขับ มีระดับไหนบ้าง?

สำหรับโทษของการเมาแล้วขับ ไม่ว่าจะเป็นกรณีเป่าแอลกอฮอล์แล้วเกินกำหนดหรือเกิดอุบัติเหตุจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 160 ตรี กำหนดให้ผู้ขับขี่ที่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ดังนี้

เมาแล้วขับ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนด ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

เมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

เมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-6 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000-120,000 บาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

เมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

ผู้ขับขี่ที่กระทำผิดซ้ำข้อหกฎหมายาเมาแล้วขับ กระทำผิดครั้งแรกจะมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000–20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิดครั้งแรก เพิ่มอัตราโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับตั้งแต่ 50,000 – 100,000 บาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่