ส่องข้อมูลและสถิติการเกิดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลวันหยุดยาว เทศกาลปีใหม่-เทศกาลสงกรานต์
ช่วงวันหยุดยาวเนื่องในเทศกาลต่าง ๆ มักเป็นช่วงเวลาที่หลายครอบครัวเลือกที่จะเดินทางเพื่อกลับบ้าน เยี่ยมครอบครัวของตัวเอง หรือใช้เวลาดังกล่าวในการไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่าง ๆ ที่อยากไป
ขณะเดียวกัน อุบัติเหตุในช่วงวันหยุดยาว โดยเฉพาะเทศกาลปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์ เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ภาครัฐโฟกัสมากกว่าช่วงเวลาปกติตลอดทั้งปี
“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์
ย้อนสถิติอุบัติเหตุ 2565
ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุเพื่อเสริ
ขณะที่สถิติย้อนหลัง นับตั้งแต่ปี 2561-2565 จำนวนผู้บาดเจ็บยังมีแนวโน้มที่ขึ้นและลงสลับกัน ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิต มีแนวโน้มลดลง อยู่ระดับต่ำกว่า 15,000 คนต่อปี
เจาะสถิติอุบัติเหตุช่วงเทศกาล 2565
ขณะที่สถิติการเกิตอุบัติเหตุ 7 วันระวังอันตราย ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งเทศกาลปีใหม่ และเทศกาลสงกรานต์ เป็นดังนี้
เทศกาลปีใหม่ 2565 (วันที่ 29 ธ.ค. 2564-4 ม.ค. 2565)
- เกิดอุบัติเหตุ 2,707 ครั้ง
- บาดเจ็บ 2,672 ราย
- เสียชีวิต 333 ราย
เทศกาลสงกรานต์ 2565 (11-17 เมษายน 2565)
- เกิดอุบัติเหตุ 1,917 ครั้ง
- บาดเจ็บ 1,869 ราย
- เสียชีวิต 278 ราย
เมื่อเทียบระหว่าง 2 เทศกาลในปี 2565 จะพบว่า สาเหตุหลัก ๆ ของการเกิดอุบัติเหตุ คือ การขับรถเร็ว การดื่มแล้วขับ และการขับตัดหน้ากระชั้นชิด และรถจักรยานยนต์ ยังคงเป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดทั้ง 2 เทศกาล
ขณะที่ข้อมูลอุบัติเหตุรายจังหวัด เชียงใหม่ ยังครองอันดับผู้บาดเจ็บสูงสุดทั้ง 2 ช่วง (เทศกาลปีใหม่ 93 คน/เทศกาลสงกรานต์ 63 คน) และ กรุงเทพมหานคร เป็นจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงที่สุดทั้ง 2 ช่วง (เทศกาลปีใหม่ 22 ราย/เทศกาลสงกรานต์ 13 ราย)
เทียบสถิติช่วงเทศกาล ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
เมื่อเทียบสถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลย้อนหลังไปถึงเทศกาลปีใหม่ 2561 จะพบว่า แนวโน้มจำนวนผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ลดลง โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ ปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรก และมีการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยในเทศกาลดังกล่าวมีจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตน้อยที่สุด
ขณะที่การเสียชีวิต ยังมีแนวโน้มที่ลดลงอยู่บ้าง แม้บางช่วงเทศกาลจะมีผู้เสียชีวิตที่มากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลก่อนหน้า
หากย้อนกลับไปดูสถิติผู้บาดเจ็บ-ผู้เสียชีวิต แบบรายเดือน จะเห็นได้ว่า มีบางเดือนที่สถิติสูงกว่าเดือนที่มีช่วงเทศกาล เช่น เดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งมีเทศกาลสงกรานต์ มีจำนวนผู้บาดเจ็บน้อยกว่าเดือนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ช่วงเทศกาล แต่จำนวนผู้เสียชีวิตยังสูงเป็นอันดับต้น ๆ อยู่
แม้การประชาสัมพันธ์การลดอุบัติเหตุ ช่วงเทศกาลหยุดยาว จะช่วยให้ตัวเลขผู้บาดเจ็บ-ผู้สูญเสีย มีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้นบ้าง แต่หลาย ๆ เดือนที่ไม่ได้เป็นช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ยังมีตัวเลขของอุบัติเหตุที่สูงอยู่
การบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างจริงจังมากขึ้น เป็นหนึ่งในหนทางสำคัญที่ช่วยลดอุบัติเหตุได้มากขึ้น โดยเฉพาะการหักคะแนนการขับขี่ ที่จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 9 มกราคม 2566 นี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนต้องเรียนรู้และปรับตัว
อย่างไรก็ดี การมีจิดสำนึกขับขี่ปลอดภัย มีน้ำใจและคำนึงถึงเพื่อนร่วมท้องถนน จนถึงคนเดินเท้า ยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของผู้ใช้รถใช้ถนนที่ต้องนึกถึงไว้เสมอ เพื่อให้ทุกคนปลอดภัย และช่วยลดการสูญเสียชีวิตได้มากขึ้นอย่างยั่งยืน