สธ.ออกคำแนะนำสุขภาพคุณแม่รับวันแม่

นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์

สธ.ออกคำแนะนำสุขภาพสำหรับคุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรรับวันแม่ ทั้งการฟื้นฟูสุขภาพหลังคลอด และเทคนิค-เมนูเพิ่มน้ำนม

วันที่ 12 สิงหาคม 2566 หน่วยงานสาธารณสุขต่างเดินหน้าเผยแพร่คำแนะนำด้านสุขภาพสำหรับคุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตร ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูสุขภาพหลังคลอด และการกระตุ้นน้ำนม โดยกรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะนำการใช้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยฟื้นฟูสุขภาพหลังคลอด ส่วนกรมอนามัยแนะนำ 3 และ 5 เทคนิคกระตุ้นน้ำนม

3 วิธีฟื้นฟูหลังคลอดตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย

นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ร่างกายและจิตใจจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอดเนื่องจากกระบวนการตั้งครรภ์และกระบวนการคลอด ทำให้มารดาหลังคลอดบุตรใหม่ ๆ มักจะพบปัญหาสุขภาพใน 3 อาการ คือ น้ำนมไหลน้อย  ปวดเมื่อยร่างกายหลังการคลอด และผิวพรรณแตกลายบริเวณหน้าท้อง

อาการเหล่านี้คุณแม่มีความจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสุขภาพ การดูแลสุขภาพของมารดาหลังคลอด ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย เพื่อฟื้นฟูสุขภาพดำเนินการได้ดังนี้

1) การทำหัตถการ คือ การนวดและประคบสมุนไพร การทับหม้อเกลือ การอบไอน้ำสมุนไพร มีประโยชน์ คือ ช่วยขับน้ำคาวปลา ทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น กระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิตและน้ำเหลืองดีขึ้น ทำให้ผิวพรรณสดใสรักษาอาการปวดเมื่อย และขัดยอก

โดยมีข้อกำหนดว่าหากมารดาที่คลอดบุตรเองปกติ สามารถเริ่มกระบวนการการทำหัตถการ 7 วัน หลังคลอด หากมารดาที่ผ่าตัดคลอด สามารถเริ่มกระบวนการการทำหัตถการ 30 วันหลังคลอด เนื่องจากแผลผ่าตัดหายแล้ว แต่ไม่ควรเกิน 3 เดือน และควรทำต่อเนื่องเป็นเวลา 5-7 วัน อาการดังกล่าวก็จะดีขึ้นเป็นลำดับ

2) อาหารและเครื่องดื่มสมุนไพรที่เหมาะสมกับมารดาหลังคลอด ควรรับประทานอาหารสมุนไพรที่มีรสร้อน ซึ่งสมุนไพรรสร้อนจะช่วยบำรุงธาตุไฟกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต เช่น ขิง พริกไทย ดีปลี กระชาย ใบแมงลัก

เมนูอาหารที่แนะนำ ได้แก่ แกงเลียง ยำหัวปลี ไก่ผัดขิง ช่วยบำรุงร่างกาย เสริมพลังให้มารดากลับคืนมาโดยเร็ว และช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายให้แข็งแรงจะได้มีน้ำนมเลี้ยงดูบุตรให้มีความแข็งแรง ส่วนเครื่องดื่มสมุนไพรที่ควรรับประทาน เช่น น้ำขิง น้ำตะไคร้ น้ำกะเพรา

3) ยาสมุนไพรสำหรับมารดาหลังคลอด คือ ยาประสะไพล สรรพคุณ ใช้ขับน้ำคาวปลา ยาปลูกไฟธาตุ สรรพคุณ กระตุ้นน้ำนม กระจายเลือดลม ในหญิงหลังคลอด ยาประสะน้ำนม สรรพคุณ บำรุงน้ำนม ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนม และกระตุ้นการไหลของน้ำนมได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ยาประสะไพล และยาปลูกไฟธาตุ มีข้อห้ามในหญิงที่มีอาการตกเลือดหลังคลอด

ใช้สิทธิบัตรทอง-สิทธิการเบิกจ่ายตรงได้

นายแพทย์ขวัญชัยย้ำว่า คุณแม่หลังคลอดมีสิทธิในการฟื้นฟูสุขภาพหลังคลอดตามสิทธิเบิกจ่าย เช่น สิทธิบัตรทอง สิทธิการเบิกจ่ายตรง ดังนี้ นวดไทย การประคบสมุนไพร การทับหม้อเกลือ การอบไอน้ำสมุนไพร การได้รับคำแนะนำปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่หลังคลอด

ทั้งนี้ มีโรงพยาบาลที่มีการให้บริการด้านการแพทย์แผนไทยกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ สามารถให้คำปรึกษา-แนะนำ และให้บริการในการดูแลมารดาหลังคลอดได้ สอบถามรายละเอียด ได้ตามสถานพยาบาลที่ใกล้บ้านหรือสอบถามเพิ่มเติม ได้ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกหมายเลขโทรศัพท์ 0-2149-5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/dtam.moph และไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก line @DTAM

เทคนิคกระตุ้นน้ำนม

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติ กรมอนามัยจึงรณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วนมแม่ เพื่อให้ลูกได้ดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียว 6 เดือน ตามข้อแนะนำองค์การอนามัยโลก พร้อมแนะเทคนิค 3 ดูด ดังนี้

1) ดูดเร็ว ให้ลูกดูดนมทันทีหลังคลอด ภายใน 1 ชั่วโมง

2) ดูดบ่อย ให้ลูกดูดนมอย่างน้อยทุก 2-3 ชั่วโมง และ

3) ดูดถูกวิธี โดยให้ลูกดูดนมจากอกแม่อย่างถูกวิธี และในแต่ละครั้งควรให้ลูกดูดนมให้เกลี้ยงเต้า เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมของคุณแม่ให้เพิ่มขึ้นตามความต้องการของลูกน้อย

อย่างไรก็ตาม แม่ที่ให้นมลูกต้องการพลังงานมากกว่าคนปกติ ถึง 500 กิโลแคลอรี จึงควรกินอาหารหลากหลายครบทุกหมู่ ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย

สธ.ออกคำแนะนำสุขภาพคุณแม่รับวันแม่

5 เมนูเพิ่มน้ำนม

โดยอาหารที่มีส่วนช่วยเพิ่มน้ำนมให้กับแม่หลังคลอดบุตร คือ อาหารที่พบได้ในชีวิตประจำวันและกินกันโดยทั่วไปนั่นเอง ได้แก่ ผักต่าง ๆ ผลไม้ต่าง ๆ เนื้อสัตว์ ธัญพืช และผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม เพราะอุดมด้วยสารอาหาร อาทิ โฟเลต แคลเซียม ธาตุเหล็ก ทองแดง สังกะสี ที่จะช่วยฟื้นฟูสุขภาพคุณแม่หลังคลอด อีกทั้ง

ควรรับประทานอาหารที่มีผัก 5 ชนิดนี้ เป็นส่วนประกอบจะช่วยในการกระตุ้นและเพิ่มน้ำนมให้กับคุณแม่ได้เป็นอย่างดี ได้แก่

1) เมนูหัวปลี เช่น แกงเลียง ยำหัวปลี แกงไก่ใส่หัวปลี ต้มหัวปลีจิ้มกับน้ำพริก หัวปลีมีธาตุเหล็กและแคลเซียมสูง และอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอีกหลายชนิด

2) เมนูขิง เช่น ไก่ผัดพริกขิง ยำปลาทูใส่ขิง มันต้มขิง น้ำขิง ขิงมีฤทธิ์ร้อนช่วยขับลม ช่วยให้ร่างกายอบอุ่นเหมาะกับแม่หลังคลอด และช่วยย่อยอาหาร ลดความเสี่ยงของอาการท้องผูกหลังคลอดได้ และยังมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อแม่

3) เมนูใบกระเพรา ได้แก่ ผัดกระเพราหมู ไก่ ปลา แกงป่าไก่ ผัดฉ่าปลาหมึก ต้มโคลงหรือต้มส้ม ใบกระเพรามีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง มีฤทธิ์ขับลม บำรุงธาตุ เพิ่มน้ำนม

4) เมนูฟักทอง เช่น แกงเลียง ฟักทองผัดไข่ ฟักทองนึ่ง แกงบวดฟักทอง ฟักทองมีวิตามินเอสูง ช่วยบำรุงสุขภาพดวงตา ทั้งยังมีฟอสฟอรัสและเบต้าแคโรทีนที่ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงอีกด้วย

5) เมนูกุยช่าย เช่น กุยช่ายผัดตับ ขนมกุยช่าย ผัดกุยช่ายหมูสับ เพราะกุยช่ายมีฟอสฟอรัสสูง ช่วยบำรุงกระดูกให้แข็งแรง และดีต่อระบบไหลเวียนโลหิต และยังมีส่วนช่วยในการบำรุงน้ำนม

“นอกจากนี้ คุณแม่ที่ให้นมลูกควรเพิ่มปริมาณน้ำดื่มอีก 1 ลิตรจากที่ดื่มอยู่ตามปกติ เพราะน้ำเป็นหนึ่งในอาหารเพิ่มน้ำนมที่จะถูกนำไปช่วยสร้างและเพิ่มน้ำนมแม่ และควรเป็นน้ำอุ่นเท่านั้น ควรงดน้ำเย็นและบรรดาน้ำอัดลม รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เพื่อให้คุณแม่มีน้ำนมเพียงพอและเป็นน้ำนมคุณภาพของลูกน้อยอีกด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวทิ้งท้าย