
บอร์ดนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังไม่เคาะขยายเวลาขายเหล้า ชี้ตัวเลขผลกระทบยังไม่ชัดเจน มอบหมายอธีบดีกรมควบคุมโรค ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาเพิ่มเติมให้ชัดเจนขึ้น
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 มติชน รายงานว่า เมื่อเวลา 15.30 น. ที่ผ่านมา ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 ที่มี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
นพ.ชลน่านกล่าวว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ ที่เกี่ยวกับการพิจารณาขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารทั่วไป ยืนยันว่า เรื่องนี้ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ จึงมอบหมายให้อธิบดีกรมควบคุมโรคในฐานะเลขานุการคณะกรรมการ ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาเพื่อหาคำตอบที่ชัดเจน
เหตุผลที่จะต้องมีการศึกษา คือ
1.เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ 1.ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 พ.ศ. 2515 ซึ่งเสมือนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต้องปฏิบัติตาม 2.พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และ 3.พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. 2509 ของกระทรวงมหาดไทย
นอกจากนั้น ยังรวมถึงกฎกระทรวงที่ออกมารองรับประกาศคณะปฏิวัติและกฎกระทรวงต่าง ๆ ที่ออกมาเป็นประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวกับการกำหนดเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้น หากจะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ต้องดูกฎหมายเหล่านี้ เพราะมีการบังคับเอาไว้ว่า คณะกรรมการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีมติอย่างไรนั้น จะต้องมีการศึกษาความเกี่ยวพันของกฎหมายด้วย
2.ต้องศึกษามิติทางด้านเศรษฐกิจสังคมและสุขภาพ โดยคณะกรรมการ ให้ความเห็นว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นทางด้านเศรษฐกิจสังคมและสุขภาพเป็นอย่างไร อาจมีข้อมูลข้อเท็จจริงบ้างแต่ยังไม่สามารถนำข้อมูลมาตัดสินได้
เช่น ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ตัวแทนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำเสนอว่า รายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทย 1.2 ล้านล้านบาท แต่ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากเครื่องดื่มและอาหาร 2 แสนล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 6 เท่านั้นเอง แต่ยังสรุปได้ว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่อย่างไร จึงจำเป็นต้องศึกษาก่อน
ส่วนผลกระทบด้านสุขภาพที่มีการเก็บสถิติใน 5 พื้นที่ที่กำหนดให้มีการขยายเวลาเปิดสถานบริการถึงตี 4 คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต และเกาะสมุย สุราษฎร์ธานี พบว่า มีสถิติของอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นแต่ต้องไปศึกษาในรายละเอียดมากขึ้นเพื่อนำมาตัดสินว่าจะขยายหรือไม่ขยาย
“มติของคณะกรรมการชัดเจนว่า ถ้ายังไม่มีข้อสนับสนุนที่ดีพอ ทั้งกฎหมายที่ใช้บังคับใช้และผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสุขภาพ เราในฐานะคณะกรรมการที่ดูแลมิติสุขภาพ ก็ต้องพยามดูข้อมูลทุกอย่างว่ามาหักล้างมิติทางเศรษฐกิจได้หรือไม่” นพ.ชลน่านกล่าว
เมื่อถามถึงกรอบเวลาในการศึกษาของคณะกรรม นพ.ชลน่านกล่าวว่า ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการศึกษาเรื่องนี้ แต่ในเชิงปฏิบัติคือ เรื่องนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน ก็จะต้องเร่งรัดให้มีการศึกษา แต่จะไม่เร่งรัดจนกระทั่งมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจจะอยู่ในระยะเวลา 3 เดือน
ถามย้ำว่ามติที่ประชุมวันนี้หมายความว่ายังไม่ปิดประตูในการพิจารณาขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นพ.ชลน่านกล่าวว่า คำถามนี้ตอบลำบาก ประตูหรือไม่ก็อยู่ที่เหตุและผลหลังจากที่มีการศึกษาแล้ว
เมื่อถามย้ำว่าที่ประชุมได้พิจารณาถึงความคุ้มค่าและผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากแอลกอฮอล์กับรายได้ที่มาจากการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นเรื่องที่คณะกรรมการ ให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ตัวเลขที่เพิ่มขึ้น
เนื่องจากตอนนี้มีเพียงตัวเลขอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากแอลกอฮอล์ จึงต้องไปดูตัวเลขผู้ป่วยในโรคต่าง ๆ ด้วย ซึ่งหลังจากที่ได้ผลจากการศึกษามา ก็ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน เพื่อนำสู่กระบวนการตัดสินว่าคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่
เมื่อถามว่าหลังจากนี้ จะมีการเชิญภาคีเครือข่ายที่มายื่นหนังสือคัดค้านการขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาพูดคุยหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เรารับฟังพูดคุยกับทุกฝ่ายและไม่ได้ปฏิเสธข้อเสนอ ประเด็นที่ท่านสมศักดิ์ได้คุยกับทางภาคีฯ คือรับมาเพื่อพิจารณา
เมื่อถามว่าในที่ประชุมได้หารือถึงมาตรการรองรับสำหรับการขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า วาระการประชุมวันนี้เป็นไปตามที่เลขานุการคณะกรรมการ ได้บรรจุไว้ ซึ่งไม่มีเรื่องนี้
ด้านพระครูสุมณฑ์ ธรรมธาดา เจ้าอาวาสวัดคลองกระจง อ.อสวรรคโลก จ.สุโขทัย และผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดสุโขทัย ที่ได้รอฟังผลการประชุมตั้งแต่ช่วงเช้าของวันนี้ กล่าวว่า จากมติคณะกรรมการนโยบายที่ออกมานั้น กับสิ่งที่นายสมศักดิ์มารับปากกับทางเครือข่ายฯ นั้น
เป็นไปตามที่รับปาก ไม่ถึงกับเป็นการหลอกลวงเครือข่ายฯ แต่การตั้งกรรมการศึกษาก็เหมือนเป็นการประวิงเวลา ส่วนผลการศึกษาเราก็ต้องรอ ซึ่งมตินี้เครือข่ายพอใจระดับหนึ่ง แต่ต้องคอยเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะการเมืองก็ไม่แน่นอน อย่างเรื่องการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครืองดื่มแอลกฮอล์ ที่น่าเป็นห่วงอยู่เพราะมีถึง 4 ร่าง
แล้วเรื่องนี้การเมืองไม่มีฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล เขาสามารถรวมกันได้ เราจึงค่อนข้างเป็นห่วง โดยเฉพาะผลกระทบกับเด็ก และเยาวชน ยิ่งเด็กเกิดน้อยหากให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี ประเทศชาติก็เสียหาย