ไทยเข้าสู่ฤดูฝน 2567 แล้ว สิ้นสุดฤดู กลางเดือนตุลาคมนี้

สภาพอากาศ พยากรณ์อากาศ กรุงเทพ ฝนตก พายุ
Image by Bhattabol Noosri from Pixabay

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน 2567 อย่างเป็นทางการแล้ว สิ้นสุดฤดูประมาณกลางเดือนตุลาคม ยกเว้นภาคใต้ ฝนชุกลากยาวถึงกลางเดือนมกราคม

วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศ เรื่อง การเริ่มต้นฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ. 2567 ระบุว่าประเทศไทยได้สิ้นสุดฤดูร้อนและเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 เนื่องจากบริเวณประเทศไทยตอนบน สภาพอากาศมีฝนตกชุกหนาแน่น ครอบคลุมพื้นที่มากกว่าร้อยละ 60 และต่อเนื่อง 3 วันขึ้นไป

ประกอบกับลมชั้นบนที่พัดปกคลุมประเทศไทยที่ระดับความสูงประมาณ 1.5 กิโลเมตร ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะพัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมบริเวณประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ส่วนลมชั้นบนที่ระดับความสูงประมาณ 10 กิโลเมตร ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมฝ่ายตะวันออก ซึ่งถือว่าเป็นการเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทยในปีนี้

สำหรับฤดูฝนของประเทศไทยตอนบนจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม ส่วนภาคใต้โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไปอีกจนถึงกลางเดือนมกราคม

จึงขอประกาศให้ประชาชนได้ทราบทั่วกัน

ประกาศ ณ วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายสภาพอากาศช่วงฤดูฝน ปี 2567 ระบุว่า ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปีนี้จะใกล้เคียงค่าเฉลี่ยปกติและใกล้เคียงกับปีที่แล้ว (ปีที่แล้วในช่วงฤดูฝนปริมาณฝนรวมมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติร้อยละ 1 ส่วนปริมาณฝนรวมทั้งปีน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติร้อยละ 6)

โดยในช่วงครึ่งแรกของฤดูฝน (ตั้งแต่วันเริ่มต้นถึงเดือนกรกฎาคม) ปริมาณฝนรวมส่วนใหญ่จะใกล้เคียงค่าเฉลี่ยปกติ ส่วนในช่วงครึ่งหลังฤดูฝน (เดือนสิงหาคมถึงปลายเดือนตุลาคม) ปริมาณฝนรวมส่วนใหญ่จะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณร้อยละ 5

อนึ่ง ในช่วงประมาณกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย และส่งผลให้เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งจะทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ประชาชนจึงควรใช้น้ำเพื่อประโยชน์สูงสุด

ส่วนในช่วงเดือนสิงหาคม กันยายน และตุลาคม เป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด และมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ และก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ในหลายพื้นที่