ไฟไหม้ชุมชนตรอกโพธิ์ เยาวราช เปิดเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ได้เท่าไร

ตรอกโพธิ์ เยาวราช หลังไฟไหม้
ภาพจาก Facebook ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

เขตสัมพันธวงศ์ สรุปเหตุการณ์ ไฟไหม้ชุมชนตรอกโพธิ์ ถนนเยาวราช พร้อมเปิดข้อมูลเงินช่วยเหลือตามระเบียบ กทม. ผู้ประสบสาธารณภัย ได้รับการช่วยเหลือเท่าไร

จากกรณีเหตุเพลิงไหม้บริเวณชุมชนตรอกโพธิ์ ถนนเยาวราช กทม. เมื่อคืนวันที่ 6 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ดับเพลิงได้พยายามควบคุมเพลิงไม่ให้ลุกลามได้ เมื่อเวลาประมาณ 23:16 น. ที่ผ่านมา

ล่าสุด สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ สรุปเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือนประชาชน ภายในชุมชนตรอกโพธิ์ พื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ เมื่อเวลา 20.41 น. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า สถานที่เกิดเหตุ ภายในชุมชนตรอกโพธิ์ ไม่มีเลขที่ ถนนทรงสวัสดิ์ แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ใช้เป็นที่พักอาศัย ลักษณะที่เกิดเหตุเป็นบ้านไม้ปลูกติดกันหลายหลังเรือน ต้นเพลิงเกิดขึ้นภายในชุมชน

เพลิงลุกไหม้เสียหายหมดทั้งชุมชน จำนวน 37 ครัวเรือน บ้านจำนวน 66 หลังคาเรือน ลุกลาม โรงแรมนิวเอ็มไพร์ เลขที่ 572 เสียหายที่ชั้น 4, 5 และชั้นที่ 6 ลุกลามร้านหูฉลามเฉลิมบุรี เลขที่ 540 เสียหายชั้นที่ 4, 5 และลุกลามภัตตาคาร ไต่เซ็ง เสียหายชั้นที่ 4, 5 พื้นที่เพลิงไหม้เสียหายโดยประมาณ 1 ไร่ 80 ตารางวา รถดับเพลิงใช้น้ำทำการดับเพลิงสงบ

ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นสาเหตุเพลิงไหม้ ไม่สามารถตรวจสอบได้เนื่องจากเพลิงลุกไหม้เสียหายทั้งหมด มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 5 ราย 1. เพศชาย 1 ราย อาการโดนไฟช็อต นำส่งโรงพยาบาลหัวเฉียว (แอดมิด) 2. เพศชาย 2 ราย อาการสําลักควัน นำส่งโรงพยาบาลกลาง (แอดมิด) 3. เพศชาย 2 ราย อาการสําลักควัน นำส่งโรงพยาบาลตากสิน และโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ รักษาอาการ (กลับบ้าน)

ขณะที่การขอรับความช่วยเหลือนั้น กรุงเทพมหานคร เปิดลงทะเบียนช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ณ กองอำนวยการร่วม เต็นท์อยู่หน้าโรงแรมไชน่าทาวน์

ADVERTISMENT

เปิดตัวเลข เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2564 ระบุการให้ความช่วยเหลือตามข้อ 6 ไว้ว่า “การให้ความช่วยเหลือ อาจจะให้เป็นเงิน วัสดุสิ่งของหรือบริการ โดยพิจารณา
ตามความเหมาะสมและจำเป็น ทั้งนี้ ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และอัตราดังต่อไปนี้”

ก. ประเภทการเงิน

ADVERTISMENT

1. ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต รายละไม่เกิน 29,700 บาท

2. ค่ารักษาพยาบาล ในกรณีเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บจากการประสบสาธารณภัยให้ความช่วยเหลือ
ตามความจำเป็น ดังนี้

  • ค่ารักษาพยาบาล เท่าที่จ่ายจริงคนละไม่เกิน 2,000 บาท
  • กรณีต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลให้ช่วยเหลือเป็นเงินค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริง คนละไม่เกิน 4,000 บาท
  • ในกรณีที่เป็นสาธารณภัยรายใหญ่หรือรุนแรงเป็นที่สะเทือนขวัญของประชาชนทั่วไปให้จ่ายเงินปลอบขวัญคนละไม่เกิน 2,300 บาท
  • กรณีเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บสาหัสหรือพิการไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติได้ และเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือเป็นผู้หารายได้เลี้ยงครอบครัว ให้ช่วยเหลือเป็นเงินค่าครองชีพคนละไม่เกิน 3,000 บาท ต่อเดือน ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี

3. ค่าที่พักอาศัยชั่วคราวหรือค่าเช่าบ้าน

หากผู้ประสบสาธารณภัยพักอาศัยในบ้านหรือที่พักอาศัยอื่นซึ่งต้องเสียค่าที่พักอาศัยชั่วคราว หรือค่าเช่าข้าน ให้ช่วยเหลือ ทั้งนี้ ครอบครัวละไม่เกิน 3,000 บาท ต่อเดือน เป็นเวลาไม่เกิน 2 เดือน นับแต่วันที่ประสบสาธารณภัย

ในกรณีหน่วยงานจัดทำหรือจัดหาที่พักอาศัยชั่วคราวเพื่อให้ผู้ประสบสาธารณภัยได้พักอาศัยได้ไม่เกิน 2 เดือนนับแต่วันที่ประสบสาธารณภัย โดยให้เบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริง

4. เงินทุนประกอบอาชีพ ครอบครัวละไม่เกิน 11,400 บาท

5. เงินทุนฝึกอาชีพ เฉพาะผู้ประสบสาธารณภัยที่ได้รับอันตราย เป็นเหตุให้ไม่สามารถประกอบอาชีพเดิมได้ ต้องได้รับการฝึกอาชีพใหม่ ในวงเงินคนละไม่เกิน 5,000 บาท

6. ค่าพาหนะในการส่งกลับภูมิลำเนาเดิม สำหรับผู้ประสบสาธารณภัยที่มีภูมิลำเนาเดิมอยู่นอกเขตกรุงเทพมหานคร แต่มาอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและมีความประสงค์จะอพยพกลับภูมิลำเนาเดิม ในวงเงินเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 1,000 บาท ต่อหนึ่งคน

7. ค่าพาหนะในการขนส่งสิ่งของเครื่องใช้ไปยังที่พักแห่งใหม่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้จ่ายได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 1,000 บาท ต่อหนึ่งครอบครัว

8. เงินสมทบจัดซื้อสัตว์เลี้ยงหรือพืชพันธุ์อื่น ๆ รวมถึงปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช ในกรณีที่ผู้ประสบสาธารณภัยมีอาชีพในการทำเกษตรกรรมหรือเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพไม่เกิน 11,400 บาท ต่อหนึ่งครอบครัว

ข. ประเภทสิ่งของ

1. วัสดุสมทบสร้างหรือช่อมแซมบ้านเรือนหรือที่อยู่อาศัย ซึ่งผู้ประสบสาธารณภัยเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองในกรณีที่เจ้าของยินยอมหรือกรณีที่ไม่สามารถจ่ายให้แก่เจ้าของได้ โดยจะให้ความช่วยเหลือ ค่าวัสดุซ่อมแซมหรือก่อสร้างที่อยู่อาศัยประจำ ซึ่งผู้ประสบภัยเป็นเจ้าของที่ได้รับความเสียหายเท่าที่จ่ายจริง หลังละไม่เกิน 49,500 บาท

2. วัสดุสมทบสร้างหรือซ่อมแซม วัด มัสยิด โบสถ์ สำนักสงฆ์หรือศาสนสถาน ที่ได้รับความเสียหายเท่าที่เสียหายจริง ทั้งนี้ไม่เกิน 49,500 บาท

3. เครื่องอุปโภคบริโภค ยารักษาโรค เครื่องครัว เครื่องมือประกอบอาชีพ และเครื่องใช้อื่น ๆ ที่จำเป็นแก่ครอบครัว

  • เครื่องอุปโภคบริโภค เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องกระป้อง มูลค่ารวมคนละไม่เกิน 500 บาท ไม่รวมบรรจุภัณฑ์
  • ยารักษาโรค เวชภัณฑ์ในการป้องกันโรค และอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องตัน มูลค่าครอบครัวละไม่เกิน 500 บาท
  • เครื่องครัว และอุปกรณ์ในการประกอบอาหาร มูลค่าครอบครัวละไม่เกิน 3,500 บาท
  • เครื่องมือประกอบอาชีพ มูลค่าครอบครัวละไม่เกิน 10,000 บาท ในกรณีที่ไม่ได้รับเงินทุนประกอบอาชีพ

เครื่องใช้อื่น ๆ ที่จำเป็นแก่ครอบครัว

  • เครื่องนุ่งห่ม คนละไม่เกิน 2 ชุด มูลค่าไม่เกิน 1,000 บาท
  • เครื่องนอน คนละ 1 ชุด มูลค่าไม่เกิน 500 บาท
  • สบู่ ผงซักฟอก ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ถังน้ำ เป็นต้น มูลค่าครอบครัวละไม่เกิน 300 บาท

4. เครื่องแบบนักเรียน หนังสือและอุปกรณ์การเรียน

  • เครื่องแบบนักเรียนคนละ 2 ชุด มูลค่าไม่เกิน 1,000 บาท
  • หนังสือและอุปกรณ์การเรียนคนละ 1 ชุด มูลค่าไม่เกิน 1,000 บาท

การให้ความช่วยเหลือประเภทสิ่งของตามข้อนี้ กรุงเทพมหานครอาจให้ความช่วยเหลือ เป็นประเภทการเงินเท่าที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดด้วยก็ได้

ค. ประเภทบริการ

1. ค่าอาหารจัดเลี้ยงวันละไม่เกิน 3 มื้อ มื้อละไม่เกิน 50 บาท ต่อคน

2. ค่าจัดสร้างหรือดัดแปลงสถานที่พักชั่วคราว ซึ่งรวมทั้งการจัดน้ำดื่มและใช้สอย ห้องน้ำ ห้องส้วม โรงครัวและสิ่งจำเป็นอื่น ๆ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ครอบครัวละไม่เกิน 4,000 บาท