
แจกเงินดิจิทัลเฟส3 กลุ่มแรก 2.7 ล้านคน ช่วงอายุ 16-20 ปี ประเดิมได้ใช้จ่ายก่อน ชี้เป็นกลุ่มที่มีความตื่นรู้ทางด้านเทคโนโลยีสูง และมีความสามารถในการใช้จ่ายในรูปแบบนี้สูงกว่ากลุ่มอื่น เผยสามารถซื้อสินค้า-ใช้จ่ายได้ทุกอย่าง ขณะที่ร้านค้าสามารถถอนเป็นเงินสดออกมาได้ ส่วนกลุ่มที่อายุเกิน 20-60 ปี ขอดูอีกทีว่าจะแบ่งอย่างไร รวมถึงกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟนด้วย
“ประชาชาติธุรกิจ” เกาะติดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการแจกเงิน 10,000 บาท หรือโครงการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเลต เฟส 3 ของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ซึ่งเป็นการแจกเงินให้กลุ่มที่มีอายุ 16-59 ปี ที่ไม่ติดเงื่อนไขการครอบครองทรัพย์สิน และมีรายได้ตามเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนด ประมาณ 15 ล้านคน คาดว่าจะใช้เม็ดเงินราว 1.5 แสนล้านบาท

ล่าสุด น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2568 ถึงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท ระยะที่สามว่า วันนี้ที่ประชุมได้มีการเสนอโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท ระยะที่สาม เพื่อเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ที่มีผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนในประเทศ
โดยกลุ่มเป้าหมายจะเป็นผู้ลงทะเบียนผ่าแอปพลิเคชั่นทางรัฐ มีอายุตั้งแต่ 16-20 ปี และจะต้องใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชั่นทางรัฐ เพื่อสแกน QR Code ณ ร้านค้าในพื้นที่เขตหรืออำเภอที่ประชาชนมีอยู่ตามทะเบียนบ้าน
“วงประชุมวันนี้จึงเป็นวงที่เรามาร่วมกันคิด เสนอโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการรับผิดชอบของหน่วยงานต่าง ๆ และอยู่ในกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และร่วมกันวางโครงสร้างในระยะยาวไปพร้อม ๆ กัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ทางด้านนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง แถลงร่วมกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ภายหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 1/2568 ที่มี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า
ที่ประชุมเห็นชอบโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต เฟส 3 โดยเรียกว่าเฟสที่ 1 เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ใช้ระบบดิจิทัลวอลเลต โดยจะจ่ายในปลายไตรมาส 2 ถึงต้นไตรมาส 3 ของปี 2568 ให้กับกลุ่มที่ลงทะเบียนไว้แล้ว มีอายุตั้งแต่ 16-20 ปี ซึ่งอยู่ในกลุ่มวัยเรียน เนื่องจากสามารถที่จะช่วยพ่อแม่ได้ สำหรับกลุ่มอายุตั้งแต่ 20-60 ปี จะขอไปดูอีกทีว่าจะต้องแบ่งอย่างไร
“โครงการดิจิทัลวอลเลตเป็น เฟส 1 มีข้อดีเยอะ ซึ่งระบบอาจจะลำบากในการสร้าง แต่ถ้าเทียบกับการให้เงินอุดหนุนอื่น ๆ ซึ่งดิจิทัลวอลเลตสามารถกำหนดการใช้จ่ายได้ ทั้งเรื่องร้านค้า พื้นที่ ทำให้การเติมเงินสู่ระบบเป็นไปตามที่เราต้องการ ทำให้เรารู้ว่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศนี้เป็นอย่างไร นำไปวางแผนอื่น ๆ ได้อีก ถือเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล” นายพิชัยกล่าว
ใช้จ่ายได้ทุกอย่าง-ร้านค้าถอนเงินสดได้
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ กล่าวเสริมว่า สำหรับการใช้จ่ายเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต ในกลุ่มอายุตั้งแต่ 16-20 ปี ครั้งนี้ รัฐบาลได้ตัดเงื่อนไขเดิมออก เช่น ตัดรายการสินค้าต้องห้าม หรือ Negative List ออกทั้งหมด เพื่อให้สามารถใช้จ่ายได้สะดวกขึ้น โดยเปิดให้ใช้จ่ายค่าเทอม ค่าน้ำ เครื่องใช้ไฟฟ้าได้ รวมทั้งยังเปิดให้ร้านค้าทุกประเภทสามารถถอนเงินสดออกมาได้อีกด้วย ไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มที่เสียภาษี ส่วนกรอบระยะในการใช้ยังคงเป็นอําเภออยู่
สำหรับไทม์ไลน์ของโครงการนั้น ขั้นตอนต่อจากนี้จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็ว ๆ นี้ ก่อนจะเริ่มต้นโครงการเร็วที่สุด คือไตรมาสที่ 2 หรือต้นไตรมาสที่ 3 ปี 2568
ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล กล่าวว่า กลุ่มอายุตั้งแต่ 16-20 ปี ที่ได้รับเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต มีจำนวนอยู่ที่ 2.7 ล้านคน โดยกลุ่มนี้มี Digital Adoption สูง หรือเป็นกลุ่มที่มีความตื่นรู้ทางด้านเทคโนโลยีสูง และความสามารถในการใช้จ่ายในรูปแบบนี้สูงกว่ากลุ่มอื่น
ส่วนกลุ่มต่อไป ยืนยันว่ารัฐบาลได้เตรียมเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้ 1.5 แสนล้านบาท ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ที่ต้องใช้จ่ายในไตรมาส 3
“เรามีช่วงที่ต้องใช้ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ เพราะว่าเป็นเรื่องของงบประมาณ เพราะฉะนั้นก็มีกระสุนเตรียมไว้เพียงพอ รัฐบาลต้องใช้เงินอย่างคุ้มค่า ทุกบาททุกสตางค์ ในทุกเวลาที่เหมาะสม” นายเผ่าภูมิกล่าว
ส่วนกลุ่มที่ไม่มีโมบาย (สมาร์ทโฟน ) นายพิชัยกล่าวว่า เราจะจัดกลุ่มนี้ในการช่วยเหลือต่อไป ทั้งนี้ คณะกรรมการอยากเน้นว่า การใช้ดิจิทัลเฟสนี้เพื่อวางรากฐานในอนาคต
กลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน รอลงทะเบียน
ก่อนหน้านี้ นายเผ่าภูมิกล่าวถึงการพิจารณากลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟนว่า ตอนนี้อยู่ในการพิจารณาเงื่อนไข ว่าจะเปิดลงทะเบียนในช่วงเวลาไหน และจะใช้เงื่อนไขอะไรวัดกลุ่มคนไม่มีสมาร์ทโฟน สำหรับกลุ่มคนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนจะเปิดให้ลงทะเบียน ประชาชนสามารถเดินทางไปลงทะเบียนผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ช่วยลงทะเบียนให้ ดังนี้
- ธนาคารออมสิน
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
- ไปรษณีย์ไทย
เช็กเงื่อนไขกลุ่มคนทั่วไป เฟส 3
คนลงทะเบียนแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ” ยืนยันตัวตน
-ประชากรที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
-สัญชาติไทย
-อายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป (ก่อนวันที่ 16 ก.ย. 2567)
-ไม่เป็นผู้มีรายได้เกิน 840,000 บาท (สำหรับปีภาษี 2566)
-ไม่เป็นผู้ที่มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันเกิน 500,000 บาท (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567)
-ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ
-ไม่เป็นผู้ที่ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ
-ไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ
ตรวจสอบสิทธิเงินดิจิทัล 10,000 บาท บนแอปทางรัฐ
1.เปิดแอปทางรัฐ เข้าสู่ระบบให้เรียบร้อย จากนั้นกดปุ่มตรวจสอบสถานะ
2.ระบบจะขออนุญาตเข้าถึงข้อมูล และขอยืนยันเบอร์โทรศัพท์มือถือ เพื่อใช้ในการยืนยันตัวตน ให้กดปุ่มยืนยันข้อมูล
3.กรอกเบอร์โทรศัพท์และกดปุ่มรับรหัสทาง SMS (OTP)
4.กรอกรหัส OTP และกดปุ่มยืนยันโทรศัพท์มือถือ
5.กดปุ่มอนุญาต ให้แอปพลิเคชั่นเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล
6.ระบบจะแสดงผลสถานะในการรับสิทธิตามโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่าอยู่ในขั้นตอนใด หากอยู่ในขั้นตอนที่ 3 คือระบบอยู่ระหว่างการตรวจสอบสิทธิ หากอยู่ในขั้นตอนที่ 4 คือไม่ได้รับสิทธิ หากอยู่ในขั้นตอนที่ 5 คือได้รับสิทธิตามโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท
“บลูบิค” ชนะระบบเพย์เมนต์
สำหรับบริษัทที่ชนะการเสนอราคา ระบบแพลตฟอร์มการชำระเงิน หรือ Payment Platform คือ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยผ่านการคัดเลือกจากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้พัฒนาแพลตฟอร์มแอปทางรัฐ ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักในการลงทะเบียนในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเลต
สำหรับบริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ได้คะแนนด้านคุณภาพมากที่สุด โดยเสนอราคาวงเงิน 90 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ค่าขนส่ง ค่าจดทะเบียน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งหมด
ตัวแทนของบริษัท บลูบิค ยืนยันว่า การพัฒนาระบบ Payment Platform จะเร่งดำเนินการได้ตามเวลาที่รัฐบาลกำหนด
ก่อนหน้านี้ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้รับงานเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม “ทางรัฐ” ซึ่งเป็นซูเปอร์แอปของภาครัฐ เพื่อรองรับการให้บริการประชาชน และการ “ลงทะเบียน” ข้อมูลประชาชนและร้านค้า ซึ่งการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชน โดย DGA เป็นผู้จัดจ้าง ส่วนการพัฒนาระบบลงทะเบียนร้านค้าผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง เป็นบริษัท เด็พธเฟิร์สท จำกัด (Depth First) เป็นผู้พัฒนา